คำต่อคำ อธิบดีกรมการบินพลเรือน แจงเงื่อนปมจัดซื้อรถดับเพลิงพันล้าน
"..เราห้ามเขาไม่ให้ไปประกอบการร่วมกันได้หรือเปล่า เพราะว่า ณ ขณะที่คณะกรรมการเขาดำเนินการสอบราคา เขาก็คงจะต้องดูว่าผู้เสนอราคาแต่ละราย เขามีหุ้นส่วนหรือกรรมการเดียวกันหรือเปล่าเท่านั้น แต่ถ้าจะให้ตรวจสอบว่าเขาไปเปิดบริษัทร่วมกันหรือไม่ ก็เป็นการทำเกินระเบียบฯ...แล้วการที่เขาไปเปิดบริษัทร่วมกันนั่นคือความสัมพันธ์เชิงลึกหรือเปล่า..."
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่าเครือข่ายบริษัทเอกชนคือบริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ ที่กรรมการของทั้ง 3 บริษัท ล้วนมีความเกี่ยวพันกัน คว้างานหลายโครงการจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมวงเงินมากกว่า 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัท เชสฯ ยังเป็นผู้ชนะประกวดราคาในหลายโครงการของกรมการบินพลเรือน ( บพ.) กระทรวงคมนาคม รวมวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ ปรากฏรายชื่อเป็นผู้ร่วมเสนอราคาในหลายโครงการ ( อ่านประกอบ : บ.เชสฯยึดเรียบรถดับเพลิงกรมการบินฯ 44 คัน 1,047 ล.-2 บ.เครือข่ายเป็น“คู่แข่ง” )
ขณะที่ จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศราพบว่ากรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ร่วมหุ้นกับกรรมการบริษัทวีม่าฯ ก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน นอกจากนี้กรรมการของบริษัทวีม่า ยังทำธุรกิจร่วมกับกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด ประกอบธุรกิจทำบัญชีโดยมีที่ตั้งเดียวกับ บ.วีม่าฯ
ความสัมพันธ์เชิงลึกที่ทั้ง 3 บริษัทมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน มีนัยสำคัญต่อการได้งานจากกรมการบินพลเรือนหรือไม่, ในฐานะอธิกรมการบินพลเรือนจะดำเนินการตรวจสอบกระบวนการได้งานและเสนอราคาของเครือข่ายเอกชนกลุ่มนี้หรือไม่ คือคำถามสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังสอบถามถึงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใบพัด รุ่น Skyhawk 172S จาก บริษัท ไมเนอร์ แอร์คราฟ โฮลดิ้ง จำกัด วงเงิน 17,660,408 บาท ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บ.ไมเนอร์ แอร์คราฟฯ คือ บริษัท อเล็กซ่า เอ็นเตอร์ไพร้ซ์ จำกัด สัญชาติหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น จำนวน 100,940 หุ้น (49%)
เหล่านี้ คือคำตอบจากอธิบดีกรมการบินพลเรือน
@ เครือข่ายเอกชนกลุ่มเดียวกับที่คว้างานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นวงเงินมากกว่า 7 พันล้านบาท เป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้งานจากกรมการบินพลเรือน ( บพ.) อีกกว่าพันล้านบาท ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้หรือไม่ ?
สมชาย : เมื่อได้รับหนังสือจากสำนักข่าว ผมก็ได้ให้เจ้าหน้าที่เขาตรวจสอบเรื่องและทำรายงานข้อเท็จจริงขึ้นมา เบื้องต้นก็ทราบว่าในรอบปี 5 ปี นั้น ปรากฏว่ามีทั้งหมด 6 โครงการ เป็นเงิน 941 ล้านบาทเศษ
ปี 2554 มีรถดับเพลิงขนาดกลาง 4 คัน บริษัทเชสฯ เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงินประมาณ 81 ล้านสี่แสนบาท
ปี 55 มีการซื้อรถดับเพลิงอากาศยาน 16 คัน บริษัทเชสฯ เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 411.1 ล้านบาทเศษ
ปี 56 มีการซื้อรถดับเพลิง 7 คัน บริษัทเชสฯ ก็เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 180 ล้านบาทเศษ
ปี 57 มีการซื้อรถกู้ภัยอากาศยาน 1 คัน บริษัทเชสฯ ก็เป็นผู้ชนะประมูล ในวงเงิน 8 ล้านบาทเศษ
ปี 57 อีกเช่นกัน มีการซื้อรถบรรทุกน้ำ 9 คัน เชสฯ เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 96.9 ล.บาทเศษ
และปี 57 ที่ผ่านมาอีก ก็มีการซื้อรถดับเพลิง 6 คัน เชสฯ ชนะ 154.1 ล้านบาทเศษ
นี่คือ 6 สัญญา ในรอบ 5 ปี รวม 941 ล้านบาท ที่บริษัทเชสฯ เป็นผู้ชนะการประมูล นี่ก็เป็นข้อเท็จจริง
@ จากการตรวจสอบของเราพบว่า บริษัทที่เสนอราคาคือ บริษัท วีม่าฯ และบริษัทดีแอลเอ็ม โซลูชั่นส์ และบริษัทเชส ฯ ที่ชนะประมูล มีความสัมพันธ์กัน เป็นเครืออข่ายกัน เนื่องจากกรรมการบริษัทไปเปิด บริษัทร่วมกัน ในฐานะอธิบดี จะตรวจสอบหรือดำเนินการอย่างไรในกรณีนี้หรือไม่ ?
สมชาย : เท่าที่ได้รับรายงาน ทราบว่าในแต่ละครั้งจะมีผู้เสนอราคา 3 ราย คือในการจัดซื้อในปี 54 ผู้เสนอราคามี บริษัทเชส มี ส.ศิริแสง และบริษัท มารีน่าไทยฯ
ในปี 55 ผู้เสนอราคามีบริษัทเชสฯ, บริษัท ช.ทวี และบริษัท วีม่าฯ
ปี 56 มี บริษัทเชสฯ, บริษัทขอนแก่น ช.ทวี และบริษัทวีม่าฯ
ปี 57 มี บริษัทเชสฯ บริษัทดีแอล เอ็ม โซลูชั่นส์และ บริษัทวีม่าฯ
การจัดซื้ออีกครั้งในปี 57 มี บริษัทเชสฯ บริษัทดีแอลเอ็ม โซลูชั่นส์ และ บริษัทมารีน่า
และการจัดซื้อครั้งที่ 3 ในปี 57 ผู้เสนอราคามี บริษัทเชสฯ บริษัทมารีน่า ไทย เอ็กซ์ ปอร์ต และบริษัทมารีน่าไทยแลนด์
เจ้าหน้าที่เขารายงานว่า ในขั้นตอนการตรวจสอบ มีการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และหนังสือบริคณห์สนธิ และเท่าที่ดู ไม่มีรายชื่อที่จะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากคณะกรรมการและผู้ตรวจสอบเขารายงานว่า ตามระเบียบสำนักนายกฯ ต้องดูว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีรายชื่อไขว้กันรือเปล่า เขาดูรายชื่อทั้งหมดแล้ว เขาก็แจ้งว่า เขาตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือรายชื่อไขว้กันตามระเบียบ
@ : แม้ตรวจตามระเบียบฯ แล้ว ไม่พบว่ากรรมการถือหุ้นไขว้ แต่เมื่อสำนักข่าวอิศราตรวจสอบเชิงลึกแล้วพบว่ากรรมการบริษัท ดีแอลเอ็ม โซลูชั่นส์, วีม่า, และเชสฯ ไปร่วมกันก่อตั้งบริษัทอื่นๆ อาทิ เปิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และเปิดบริษัทบัญชี เหล่านี้ถือได้ว่า เป็นข้อเท็จจริงว่าบริษัททั้งสามแห่งมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ?
สมชาย : ความสัมพันธ์กันในรูปแบบไหนล่ะ ถ้าเราห้ามเขา ไม่ให้ไปประกอบการร่วมกันได้หรือเปล่า เพราะว่า ณ ขณะที่คณะกรรมการเขาดำเนินการสอบราคา เขาก็คงจะต้องดูว่าผู้เสนอราคาแต่ละราย เขามีหุ้นส่วน หรือกรรมการเดียวกันหรือเปล่าเท่านั้น แต่ถ้าจะให้เขาตรวจสอบว่า เขาไปเปิดบริษัทร่วมกันหรือไม่ ก็เป็นการทำเกินระเบียบฯ กว่าที่คณะกรรมการตรวจสอบจะทำได้ แล้วการที่เขาไปเปิดบริษัทร่วมกันนั่นคือความสัมพันธ์เชิงลึกหรือเปล่า
@ : แล้วถือเป็นความสัมพันธ์เชิงลึกหรือไม่ ?
สมชาย : ด้วยข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้นคงจะไปชี้ไม่ได้ เพราะไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เขาก็มีเสรีภาพในการที่จะเข้าร่วมประกอบการอะไรกันก็ได้ ดังนั้น ถ้าเขาไปประกออบการร่วมกันแล้วเราจะมองว่านี่แหละเป็นความสัมพันธ์เชิงลึก ในการมาร่วมกันเสนอราคา มันก็อาจจะยังไม่ใช่หลักฐาน ที่จะดำเนินการอย่างนั้น มันก็น่าจะมีอะไร ที่ชัดเจนกว่านั้น เพราะตามรายงาน เขาก็แจ้งว่า ในปี 54-57 เขาก็ตรวจสอบดูแล้ว ซึ่งระยะเวลาในการพิจารณาคุณสมบัติผู้เสนอราคามันมีระยะเวลาที่ไม่มากมายเท่าไหร่นัก ในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน คณะกรรมการเขาก็ทำได้เพียงตรวจสอบบริคณห์สนธิ เมื่อตรวจสอบ แล้วคณะกรรมการเขาก็ไม่มีเวลาไปลงลึกอีก
เพราะฉะนั้น มันอาจจะต้องมีกระบวนการหรือวิธีการอื่น ที่จะแสดงให้เห็นว่า 3-4 บริษัทที่จะเข้าไปร่วมเสนอราคานี้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจน ว่าห้ามผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท ไปเปิดบริษัทร่วมกัน มันต้องมีเกณฑ์ออกมาให้ชัด
@ : จริงอยู่ แม้ระเบียบไม่กำหนดถึงกรณีเปิดบริษัทร่วมกัน แต่ในทางพฤตินัย เครือข่ายเอกชนกลุ่มนี้อาจส่อว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ ?
สมชาย : จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันยังไง เนื่องจากลำพังการที่กรรมการหรือผู้ถือหุ้น การที่เขาไปเปิดธุรกิจร่วมกัน เป็นกรรมการบริษัท คือเนื่องจากธุรกิจทุกวันนี้ ก็อาจมีกรณีที่เป็นแฟรนไชส์ หรือตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัท ( ยกตัวอย่าง บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ) ไปเปิดบริษัทร่วมกันกับคนอื่น ถือว่าคนนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือเปล่า คือนี่มันไม่ใช่หลักฐานเดียว มันต้องมีหลักฐานอื่น ที่แสดงให้เห็นชัดกว่านั้นที่จะมาบอกได้ว่าเขามีหุ้นไขว้กัน ตามระเบียบสำนักนายกฯ
@ กรณีคำสั่ง คสช.ที่ให้ดำเนินการตรวจสอบแม้เพียงส่อว่าอาจมีการทุจริต เช่นนั้นแล้ว ข้อเท็จจริงที่เราพบว่าบริษัทบัญชีและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่กรรมการบริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจร่วมกัน เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่อาจส่อว่าร่วมกันเสนอราคาหรือไม่ ทางพฤตินัย ถือว่าส่อฮั้วหรือเอื้อประโยชน์ในการเสนอราคาหรือไม่ คิดว่าควรจะมีการตั้งกฎเกณฑ์ให้ชัดในประเด็นนี้หรือไม่ ?
สมชาย : เราคงทำหน่วยเดียวไม่ได้ เป็นเรื่องของระบบ เดิมทีเรื่องการตรวจสอบ ผลประโยชน์ หรือการถือหุ้นไขว้กัน หน่วยงานราชการเคยมีการคุยว่าจะปรับอย่างไร มันก็แล้วแต่มุมมอง ในที่สุด ต่อมา ก็มีการระบุว่าต้องเช็คว่าผู้เข้าเสนอราคา ต้องไม่มีการไขว้กัน ก็กลายเป็นเกณฑ์ขึ้นมาแบบนี้ ที่เราทำก็ตรวจสอบในระดับหนึ่ง แต่ถ้าถึงขั้นต้องห้ามบริษัทเหล่านี้ไปตั้งบริษัทที่ทำร่วมกัน ถ้าทำถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าจะกำหนดแบบนี้ มันก็คงต้องเป็นระเบียบขึ้นมาเลย และถ้าเป็นระเบียบแบบนั้นแล้ว ก็ต้องให้บริษัทผู้เสนอราคาเขาทำบันทึกแสดงตนเองมาด้วย ว่าเขาได้ไปร่วมทุนกับใครบ้าง เพื่อตั้งบริษัทอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะเอาอันนั้นมาตรวจและได้รู้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะหน่วยราชการทุกหน่วย ไม่มีเวลาไปเช็คอะไรแบบนั้น คือ ต้องมีระเบียบ กลาง ว่าผู้เสนอราคาทุกราย ต้องแสดงอะไรบ้าง
เมื่อแสดงแล้ว ผลแบบนี้ถือว่าทับซ้อน ถ้าเป็นแบบนั้นเราตรวจได้ทันที ไม่ใช่ ปล่อยมาจนถึงขนาดนี้ ซึ่งถ้ามาบอกว่าแบบนี้ไม่ได้ ก็ต้องทำให้เป็นเกณฑ์กลางและให้เขาแสดงตนเอง ระบุว่าการแนบหลักฐานการยื่นเสนอราคา ต้องมีมากกว่านี้ ต้องกำหนดระเบียบขึ้นมาใหม่ แต่ตอนนี้ ถ้าไปบอกว่า เจ้าหน้าที่ละเว้นไม่ตรวจสอบ ก็คงไม่ได้ พราะเวลามันมีแค่ไม่กี่วันเอง ที่จะตรวจสอบว่าบริษัทเหล่านี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาก็ตรวจสอบลึกเท่าที่ทำได้
การตรวจสอบของเราก็มีคณะกรรมการพิจารณา คณะกรรมการประกวดราคาจะต้องเป็นคนรับเอกสาร ตรวจคุณสมบัติ ซึ่งการตรวจสอบจะต้องมีการตรวจสอบเชิงบริหาร ว่าไขว้กันตามระเบียบกำหนด ระเบียบกำหนดไว้อย่างไร เขาก็ตรวจไปตามนั้น ตามที่เขารายงานให้ผมทราบ เขาก็ตรวจสอบอย่างดี คือตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงบริหาร กรรมการและการถือหุ้นไขว้กัน ซึ่งเขารายงานว่าไม่ปรากฏว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ คณะกรรมการตรวจสอบแต่ละชุดเขาก็อาจจะไม่ใช่ชุดเดียวกัน
@ การที่ บ.เชสฯ และบริษัทเครือข่ายคือวีม่าและดีแอลเอ็ม ได้งานจาก หน่วยงานรัฐ อาทิ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มากกว่า 7,000 ล้าน และจากกรมการบินพลเรือนอีกกว่า 1,000 ล้าน รวมทั้งสองหน่วยงานแล้วเป็นวงเงินเกือบหมื่นล้านบาท ถือเป็นการผูกขาดไหม ?
สมชาย : ผูกขาดหรือไม่ คงแล้วแต่ว่าจะมองมุมไหนคือถ้าดูตามนี้น่าจะเป็นเรื่องของรถดับเพลิง ซึ่งรถก็ต้องดูว่าเป็นรถเฉพาะไหม เช่น รถดับเพลิงอากาศยาน ผู้ที่มีความชำนาญก็ต่างกัน คนที่เขามีความชำนาญมาแล้ว เช่น ผู้ที่ได้งานโครงการใหญ่ๆ ในประเทศไทย เขาก็มีโอกาสจะเสนอราคาได้อีก แล้วเขาหยุดงานไม่ได้ ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ บริภัณฑ์ ก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ซึ่งเท่าที่ทราบกรณีรถดับเพลิง ก็ไม่ใช่ว่าจะไปซื้อที่ไหนก็ได้ แล้วก็อาจจะเป็นลักษณะอย่างนั้นก็ได้ ที่ทำให้เขาได้งานแบบนั้น ซึ่งในแง่หนึ่ง มันก็มีได้ในส่วนที่นักข่าวมองเป็นข้อสังเกตที่เชสฯ ได้งาน แต่ในแง่หนึ่งก็อาจเพราะว่าเขามีความชำนาญ
@ นอกจากความสัมพันธ์ของกรรมการบริษัทเชสฯ บริษัทวีม่าและดีแอลเอ็มฯ แล้ว ยังพบว่าในการจัดซื้อของ บพ.มีโครงการที่ บริษัทมารีน่าฯ ร่วมประกวดราคากับ บ.เชส ด้วย ขณะที่ในการจัดซื้อของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีถึง 17 โครงการที่ บ.มารีน่าฯ ร่วมเสนอราคา แต่ไม่ชนะเลยสักรายการเดียว อาจมองได้ว่า บ.มารีน่า เป็นคู่เทียบของ บ.เชสฯ หรือไม่ และการจัดซื้อของกรมการบินพลเรือน ในโครงการที่ บ.มารีน่าฯ ร่วมเสนอราคา และบ.เชสฯ ชนะการประมูล บพ.มีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้หรือไม่ ?
สมชาย : เขามาเสนอราคา เราก็คงจะไปห้ามเขาไม่ให้เสนออราคาไม่ได้ ซึ่งกรณีอย่างนี้ มันไม่ใช่การผิดระเบียบ นอกจากเราจะมีข้อเท็จจริงที่มากกว่านี้ ว่าบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสนออราคา
@ : บริษัทที่ร่วมเสนอราคา มีความสัมพันธ์เชิงลึกกับบริษัทที่ชนะการประกวดราคา มีนัยสำคัญต่อการได้งาน จากกรมการบินพลเรือนหรือไม่ ?
สมชาย : บริษัทเหล่านี้ คือถ้าดูตามข้อมูลที่ได้รับรายงานมา ก็แน่นอนว่าทั้ง 6 สัญญา นี้ บริษัทเชส เป็นผู้ชนะประมูล รวมทั้ง บริษัทอื่นๆ ที่เข้ามาเสนอราคาในชื่อที่ผมเรียนไปข้างต้น เหล่านี้ เป็นข้อเท็จจริง ก็ต้องดูว่าทำไมถึงเป็นคนเหล่านี้ ก็มองได้หลายด้าน ในด้านหนึ่งก็แน่นอนอาจมองได้อย่างที่นักข่าวมอง ว่าเขาร่วมกันเพื่อจะให้ได้งาน อีกด้านหนึ่งก็คือคนเหล่านี้เขามีความรู้ความชำนาญในเรื่องรถดับเพลิงอากาศยานอยู่แล้ว การได้งานก็อาจจะเป็นเพราะการที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนี้ ก็มองได้หลายทาง
@ สตง. เริ่มตรวจสอบบางสัญญาที่เครือข่ายเอกชนคือ บ.เชสฯ-วีม่าฯ-ดีแอลเอ็มฯ ร่วมเสนอราคาและได้งานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในส่วนของกรมการบินพลเรือน สตง. เข้ามาตรวจสอบหรือมีข้อสังเกตใดบ้างหรือไม่ ?
สมชาย : ยังไม่มีนะ
@ ขอสอบถามกรณี กรมการบินพลเรือนทำสัญญาจัดซื้อเครื่องบินแบบใบพัด รุ่น Skyhawk 172S จาก บริษัท ไมเนอร์ แอร์คราฟ โฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.57 ?
สมชาย : เท่าที่ทราบ เขาตั้งงบไว้แล้ว ซื้อมาแทนเครื่องเก่า ใช้ฝึกเจ้าหน้าที่ ใช้ค้นหา เท่าที่จำได้นะ
@ ตอนประกวดราคา มี 3 ราย ผู้ที่ชนะการประกวดราคา คือ ไมเนอร์ แอร์ คราฟท์ฯ ส่งมอบ 23 มิ.ย.59 ?
สมชาย : ปี 59 เลยหรือ
@ ปกติแล้ว ระยะเวลาส่งมอบไกลขนาดนั้นไหม ?
สมชาย : การจัดซื้อเครื่องบินนั้น ขั้นตอนการผลิตต้องใช้เวลา แต่จำไม่ได้ว่าทำไม ต้องปี59
@ : ทราบหรือไม่ ว่า บ.ไมเนอร์ แอร์คราฟ์ฯ มีบริษัทอเล็กซ่า เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นบริษัทสัญชาติบริติชเวอร์จิ้น ?
สมชาย : ไม่รู้สิว่าคณะกรรมการตรวจสอบ เขาตรวจสอบผู้ประกวดราคาอย่างไร แต่เขาต้อง ตรวจสอบว่ารายชื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไม่มีการไขว้กัน เมื่อเขารายงานมาก็ผมจำได้ว่าเรื่องนี้ผมเป็นคนอนุมัติเอง แต่เท่าที่จำได้ เหมือนเขามาพูดว่ามีรายเดียวแล้วเกิดปัญหา แต่ไม่รู้สัญญานี้หรือเปล่า แต่จำได้ว่ามีเรื่องหนึ่งเขาบอกว่า มีผู้เสนอราคารายเดียว แต่ไม่อยากยกเลิกเพราะ ส่วนกรณีนี้ ไม่แน่ใจว่าถ้าหากผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติจะถือเป็นบริษัทต่างชาติหรือเปล่า
@ : บ.อเล็กซ่าฯ ถือหุ้น 49 %
สมชาย : หมายความว่าอีก 51% เป็นไทยหรือ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่าผู้ถือหุ้นเป็นไทย แต่ก็ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการมาแล้ว และอันที่จริงระเบียบเราไม่มีกำหนดว่าต้องเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติอะไร เพียงแต่ไม่ว่าสัญชาติใดเขาต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย
...
นี่คือคำตอบในหลายประเด็นร้อนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของกรมการบินพลเรือน รวมวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท!
อ่านประกอบ :
อธิบดี บพ.แจงปม บ.กลุ่มเดียวกวาดรถดับเพลิง 941 ล.ตรวจตามระเบียบ-ไม่ดูเชิงลึก
“พล.อ.ประยุทธ์”ตอบคำถาม กรณีเอกชนกลุ่มเดียวผูกจัดซื้อรถดับเพลิงหมื่นล.
บ.เชสฯยึดเรียบรถดับเพลิงกรมการบินฯ 44 คัน 1,047 ล.-2 บ.เครือข่ายเป็น“คู่แข่ง”
กรมการบินฯซื้อเครื่องบินสกายฮอว์ค 17.6 ล.'หุ้นใหญ่'บ.คู่ค้าอยู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น
ข้อมูลใหม่!บ.เชสฯยึดเรียบ“รถดับเพลิง”ปภ.อีก 18 โครงการ 1,400 ล.-ยอดพุ่ง 7 พันล.
ไขสัมพันธ์ลึก 3 บ.กลุ่มเดียวรวบจัดซื้อรถยนต์กู้ภัย-บรรทุกน้ำ ปภ. 1.5 พันล.
“รถดับเพลิง”ลาม“กองทัพ”จัดซื้อ 69 ล้าน บริษัทเดียวกับ ปภ.-“หน้าเดิม”คู่เทียบ
ภาพประกอบจาก : www.tnnthailand.com, www.google.co.th