ธีรยุทธ บุญมี:ปฏิรูปการเมืองไทย มองจากประสบการณ์ชีวิต
"ถ้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง"
1. คสช. มองปัญหาประเทศไทยอย่างไร?
คสช. เก่งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางทหาร คือ เลือกวางตัวตามแนวกฎหมายว่าโดยการไว้วางใจในการปกป้องคุ้มครอง (fiduciary หรือ trusteeship) คือการต้องปกป้องคุ้มครองตามสถานะ หน้าที่ และประเพณี ตามแบบที่สหประชาชาติใช้เป็นเหตุผลเวลาเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งภายในบางประเทศไม่ให้เกิดเป็นสงครามการเมือง การปะทะนองเลือดยืดเยื้อ
ในแง่นี้ถือว่า คสช. ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มั่นใจว่า คสช. วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น มองปัญหาว่าภารกิจใหญ่จริง ๆ ของคนไทยทั้งประเทศ และเส้นทางจริง ๆ ที่ประเทศควรก้าวเดินเป็นอย่างไร ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่
ที่ผ่านมากระบวนทัศน์ความคิดของ คสช. ดูจะต่างไปจากนักวิชาการการเมือง ปัญญาชนอย่างมาก ผมจึงไม่แน่ใจว่าเมื่อให้ road map ดำเนินไปสิ้นสุด คสช. หมดภารกิจ แต่ปัญหาวิกฤติประเทศไทยจะคลี่คลายตัวไปหรือไม่
การถือเอาการสร้างความปรองดองเป็นภารกิจหลัก ซึ่งถูกต้อง จำเป็น มีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์การทหาร เพราะทำให้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่สำหรับการปฏิรูปการเมืองแม้จะมีคนกลุ่มสำคัญ ๆ หลากหลายเรียกร้อง แต่ก็ไม่ถูกมองเป็นภารกิจหลักของ คสช.
นักวิชาการและผู้ห่วงใยการเมืองไทยอีกจำนวนมากจึงมองว่า นั่นเป็นการมองการเมืองในกรอบรัฐ-ชาตินิยมของทหาร คือ เอาความเข้มแข็ง ความสามัคคีของคนในชาติเป็นศูนย์กลาง ทว่าในศาสตร์ทางการเมืองหรือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ การรอมชอม ประนีประนอม แบ่งปันผลประโยชน์ (juste-milieu หรือ politics of the middle way) การสนทนาต่อรอง (dialogue and negotiation) เพื่อเกิดความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่การประนีประนอมจอมปลอมระหว่างถูก-ผิด หรือความชั่ว-ดี
ความสามัคคีปรองดองเป็นภาวะปกติของคนในสังคมเดียวกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเป็นปัญหาในระดับร้ายแรงแล้วก็สะท้อนว่า ระบบ กระบวนการ และกลไกต่างๆ ในประเทศผิดพลาดอย่างแรง จนเป็นต้นตอให้เกิดภาวะวิกฤติต่อเนื่องยาวนานมากอย่างไม่มีคนคาดคิดมาก่อน
สาเหตุหลักไม่ได้มาจากการไม่รักสามัคคีกัน แต่เกิดจากคนจำนวนมากมองการใช้อำนาจไม่ชอบและการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ เป็นปัจจัยทำลายทำร้ายประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการก้าวต่อไปของประเทศไทย
2. ทบทวนภาพโดยกว้างประเทศไทย
ประวัติศาสตร์โลกแนวใหม่บอกว่า ทั้งโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันมาประมาณ 500 ปีแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นในที่หนึ่ง เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตย การปฏิวัติเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอังกฤษ ฝรั่งเศส ทุกประเทศทั่วโลกก็ต้องปฏิวัติหรือปฏิรูปตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราแบ่งประเทศที่ต้องพัฒนาตัวให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก ปรากฏเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา คือประเทศในยุโรปและอเมริกา
กลุ่มสอง ปรากฏราว 150-100 ปีที่ผ่านมา คือ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ไทย กลุ่ม
กลุ่มสุดท้าย คือประเทศอาณานิคมทั่วโลก ปฏิรูปเมื่อราว 50 ปี ที่ผ่านมา
การปฏิรูปให้เป็นสมัยใหม่ ให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือทุนนิยม และเป็น “ประชาธิปไตย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งโลกกดดันซึ่งกันและกัน
สำหรับประเทศไทยมีการปฏิรูปที่สัมฤทธิผลเพียง 2 ครั้ง และก็เป็นเพียงการปฏิรูปเฉพาะด้าน ครั้งแรกคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปฏิรูปแนวทางการปกครองและวิถีชีวิตทางมารยาทประเพณีของคนไทย (เช่น เลิกทาส ไม่หมอบคลาน แต่งตัวสมัยใหม่)
ที่สำเร็จครั้งที่ 2 คือการปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉุดไทยจากประเทศเกษตรกรรมให้เป็นประเทศกึ่งเกษตรกรรม กึ่งอุตสาหกรรม กึ่งบริการในปัจจุบัน
ประเทศที่ประสบความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัย เช่น
(1) การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้สถาบันกษัตริย์ ขุนนาง และกลุ่มทุน ประนีประนอมให้เกิดระบบรัฐสภาขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป
(2) บางประเทศต้องผ่านเจตนารมณ์ (political will) ที่มุ่งมั่น เช่น ฝรั่งเศสต้องผ่านการปฏิวัติ สหรัฐอเมริกาต้องผ่านสงครามอิสรภาพ ญี่ปุ่นอาศัยอดีตซามูไร สิงคโปร์อาศัยลีกวนยู เป็นต้น
(3) ต้องการกรอบความคิดการพัฒนาที่ถูกกาละ ถูกยุคสมัย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี
(4) ผู้นำการปฏิรูปต้องมีอำนาจบารมีที่จะนำพาความคิดการปฏิรูปไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีรัชกาลที่ 5 และ จอมพลสฤษดิ์ ทั้งยังใช้คนได้ถูกต้อง เช่น จอมพลสฤษดิ์ใช้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ พจน์ สารสิน ถนัด คอมันตร์ เกษม จาติกวณิช ฯ
การที่ประเทศปฏิรูปทีละด้าน คนละช่วงเวลา ไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยแท้จริงเหมือนประเทศตะวันตก ทำให้โครงสร้างอำนาจของประเทศไทยไม่เคยมีภาวะสมดุล การตรวจสอบถ่วงดุลทางอำนาจจึงเป็นเพียงทฤษฎีไม่เป็นผลจริงจัง ทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสูญเสียอำนาจกับฝ่ายได้อำนาจ เช่น การปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์ อำนาจตกอยู่กับเจ้านายจนเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น
ต่อมาในปี 2475 กลุ่มเจ้านายสูญเสียอำนาจ กลุ่มข้าราชการทหาร พลเรือน ได้อำนาจและผลประโยชน์ จนสถาปนาเผด็จการทหารขึ้นได้ ต่อมาการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยสฤษดิ์และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดกลุ่มได้อำนาจ ผลประโยชน์ และการควบคุมทรัพยากรกลุ่มใหม่เกิดขึ้น คือ กลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทุน โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน โลกเสรีทางการเงิน ทำให้เกิดวิสาหกิจของรัฐและเศรษฐกิจภาคสาธารณะ เช่น การติดต่อสื่อสาร การบริการต่างๆ มากมาย นักการเมืองและกลุ่มทุนก็ยิ่งมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สภาพโดยรวมที่เรากำลังเห็นคือ การแบ่งคนไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือพวก super haves คือพวกอภิทุน อภิเศรษฐี อภิรวย กับพวก have nots คือพวกชาวบ้านที่เป็นพวกอภิจนหรือจนซ้ำซาก
ส่วนข้าราชการเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการเลื่อนสถานะจาก “เจ้านายคน” ในอดีต มาเป็น “ลูกจ้างของรัฐ” หรือ “ผู้รับใช้” นายทุนและนักการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแผ่ขยายของคอร์รัปชั่นจะเกิดมากขึ้น เพราะข้าราชการผู้น้อยรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับชนชั้นที่ร่ำรวยกว่ากลายเป็นชนชั้นคนจนได้
เราอาจมองเห็นภาพปัญหาของประเทศชัดเจนขึ้น ถ้าเลือกมองดัชนีชี้วัดความเสื่อมว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร เช่น การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ระบาดเข้าไปในสถาบันระดับอุดมศึกษา สหกรณ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับวัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง และโยงใยไปถึงองค์กรระดับสูงของสถาบันศาสนา หรือดูปัญหาในด้านการศึกษา ในช่วง พ.ศ.2500 มีเฉพาะเรียนกวดวิชาเข้าเตรียมทหาร (ซึ่งเป็นวิชาชีพพิเศษ) แต่ในปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชา การเก็งข้อสอบ ขายชีต ผูกขาดตำรา ในเกือบทุกสถาบันการศึกษา ในทุกสาขาวิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาโทไปจนถึง ป.1 และเข้าอนุบาล
ที่น่าห่อเหี่ยวกว่านั้นคือการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ การเขียน paper (โดยอาจารย์ก็มี) ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ลงไปจนถึงขั้นมัธยมปลาย มัธยมต้น จนปัจจุบันไปถึงชั้นประถมศึกษา
ที่น่าหดหู่กว่านั้นคือการคัดลอกวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีและโท เพื่อหลอกลวงหรือสมคบกับครูอาจารย์เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา
หรือถ้าจะดูภาพความซับซ้อนของการพัฒนาบางด้าน เช่น การขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ก็ลองนึกถึงภาพรถ BRT ซึ่งจัดช่องทางพิเศษให้วิ่งอย่างหรูหรา รถปรับอากาศอย่างดีหลากยี่ห้อ ถึงรถธรรมดา (รถร้อนที่เก่าแก่บุโรทั่ง) รถโดยสารฟรี รถร่วมบริการ รถเมล์เล็กหลากบริษัท หลากคุณภาพการบริการ หลากระเบียบวินัยในการขับขี่
ไปจนถึงรถตุ๊กตุ๊กซึ่งยอมรับผู้โดยสารเฉพาะ “ชาวต่างชาติ” รถกะป๊อ รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ตามถนนหรือในซอย รวมถึงการคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ทุกขั้นตอนของระบบ เช่น การขอใบอนุญาตการต่อทะเบียนรถ การฉีกตั๋ว ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายจัดซื้ออะไหล่ ฝ่ายซ่อม ฝ่ายจำหน่ายเศษซากรถ
ยิ่งถ้านับรวมส่วนที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การซ่อมถนน ทางเท้า ท่อน้ำ สายโทรศัพท์ รถซาเล้ง รถเข็น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย วณิพก ขอทาน คนไร้บ้าน ที่แย่งชิงพื้นที่สาธารณะ ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก
3. ความเห็นต่างในเรื่องการปฏิรูปประเทศ
แม้จะมีตัวอย่างความเสื่อมทรามที่พัฒนาขึ้นมากมาย แต่ก็ยังจะมีความต่างในการมองการปฏิรูปการเมืองไทยเป็น 2 ส่วนคือ
1. ประเทศไทยอยู่กันอย่างนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว จะไม่มีวันเสื่อมทรุดจนเจอปัญหาที่คลี่คลายไม่ได้ ปัญหาหมักหมมร้ายแรงต่างๆ ที่ผู้ต้องการปฏิรูปการเมืองไทยนั้น เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกยกมาต่อเติมเสริมแต่งจนเกิดเป็นกระแสทำให้เกิดการชุมนุม วุ่นวาย ความไม่รู้รักสามัคคีขึ้น?
แนวคิดเช่นนี้ศัพท์วิชาการเรียกว่า แนวคิด Romantic คือ การหวัง คาดฝันไปเองว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเชื่อว่าทำได้ขอให้ลองนำเสนอแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมออกมา?
2. ปัญหาในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่เกินไป มากเกินไป ซับซ้อนเกินกว่าจะหาวิธีแก้ไขได้ คงต้องใช้วิธีเช่นที่ผ่านมา คือทดลองแก้ไขกันไปเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือก็ต้องปรับตัวอยู่กับมันไป หรือถือคติว่าถ้านักการเมืองคอร์รัปชั่นแล้วมีผลงานก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็คำนับกราบไหว้นักการเมือง ข้าราชการที่โกงกิน ให้เป็นประธานงานบวช งานแต่ง งานศพ อยู่เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว?
ผมเองอาจเป็นพวกโรแมนติก ยังมีความหวังกับโลก จึงเชื่อมาโดยตลอดว่าเราน่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยเราได้ โดยเขียนบทความไว้หลายชิ้น ตั้งแต่ปี 2540
ประเด็นสำคัญที่ผมเสนอไว้คือ พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนจะสอดคล้องกับค่านิยมหรือความเชื่อของเขา และถัดมา ค่านิยม ความเชื่อของเขาก็จะต้องสอดคล้องกับโครงสร้างของสังคม เช่น สังคมที่โครงสร้างอำนาจเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน จะให้ชาวบ้านที่ไร้อำนาจมีความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออกว่าตัวเองเสมอภาคเท่าเทียมกับคนรวยหรือเจ้าใหญ่นายโต ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
การสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยจริงๆ จึงต้องปฏิรูปทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าว่าแต่ทหารซึ่งวิชาชีพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แม้แต่เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหาร เมื่อเจอสภาพความจริงแล้วก็จะเกิดความท้อถอยเป็นส่วนใหญ่
4. ข้อคิดในการเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง
1. ผมคิดว่าการปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปได้ แต่ก็คล้ายกับการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศพ้นจากสภาพด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนา ซึ่งไม่ใช่การใช้เงินทุน แรงกาย แรงใจลงไปในทุกๆ เรื่อง แต่ต้องเลือกลงทุนอุตสาหกรรมบางด้านที่เป็นจุดแข็งของประเทศ จนเศรษฐกิจดี Take off ได้ การปฏิรูปการเมืองก็เช่นกัน ต้องเลือกทำเฉพาะบางจุดก่อนเท่านั้น
2. ประเทศไทยใช้ความพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2540 และ 2550 แต่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกิดผลดีบางอย่าง เกิดผลเสียบางอย่าง ความพยายามในครั้งที่ 3 นี้ก็คงอยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน
การจะสร้างประชาธิปไตยที่พอใช้ได้ในเมืองไทย ต้องอยู่ที่การเปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรมการเมืองคนไทย จากอุปถัมภ์มาเป็นแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะเกิดได้ทางเดียวคือให้ประชาชนเป็นผู้ปฏิบัติในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ รักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วยตนเอง
กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องเสริมการมีอำนาจเข้าถึงข่าวสารอย่างง่าย มีโอกาส พื้นที่ อำนาจในการตรวจสอบ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นหรือบทบาทกองทัพเองต้องแข็งแรงพอจะประคับประคอง ดูแลความปลอดภัย ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. ช่วงปัจจุบันเริ่มมีความไม่นิ่งทางอารมณ์ ความเชื่อมั่นในตัวบุคคล ความคิด แนวทางแก้ปัญหา ทั้งในคณะทำงานของรัฐเอง และในหมู่สื่อมวลชน ประชาชนบางส่วน ทั้งนี้เพราะพันธกิจชอบธรรม (mandate) ที่กองทัพได้รับคือการคลี่คลายความสงบภายใน แต่ไม่ได้เป็นอัตโนมัติว่ากองทัพจะต้องทำหน้าที่รัฐบาลด้วย การเป็นรัฐบาลเป็นภารกิจที่คณะนายทหารรับเข้ามาเอง ถ้าทำได้ดีก็เป็นโบนัสที่คนชื่นชม แต่ถ้าล้มเหลวก็เป็นเงื่อนไขที่จะถูกวิจารณ์โจมตีได้ง่าย
4. ในสังคมประชาธิปไตยการที่จะนิยามประเทศว่าอยู่ในสถานการณ์พิเศษจนต้องใช้กลไกพิเศษ อำนาจพิเศษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องลงทุนลงแรงมข้อเท็จจริงประจักษ์ชัด คนจึงจะยอมรับ (เช่นกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ กรณี 9/11 ที่มีคนตายหลายพันคน จน Bush, Blair และอีกหลายประเทศนำภารกิจพิเศษและมาตรการพิเศษมาใช้)
ถ้าสังเกตจะพบว่าเมื่อเริ่มต้นที่ คสช. เข้ามารักษาความสงบ มีการจัดการอำนาจมาเฟียนอกระบบ การคอร์รัปชั่นของนักการเมือง และจัดระเบียบธุรกิจสีเทาต่างๆ มีเสียงชื่นชมและกดเสียงวิจารณ์ลงไปโดยอัตโนมัติ
ถ้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง
นายกฯ ได้กำหนดชัดเจนถึงช่วงเวลาเลือกตั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และถ้าตอกย้ำไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการสืบทอดอำนาจไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใด ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ยิ่งนิ่งลง
นายกฯ ควรเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนต้องเป็นผู้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง ข้าราชการ ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะไม่มีทางที่ทหารจะแสดงบทบาทในสถานการณ์พิเศษได้บ่อยครั้ง
ถ้าช่วงเวลาที่เหลืออยู่นายกฯ ทุ่มเทแรงกายแรงใจออกไปพบประชาชนทุกภาค สนับสนุนเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนออกมาตรวจสอบควบคุมดูแลระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย ร้านค้าซูเปอร์สโตร์ การก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นของตน เพื่อเป็นการฝึกฝนวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาล
“สถานการณ์พิเศษ” ไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คนไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่า และใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริงๆ .