วินัย ดะห์ลัน : นิคมฯไม่คืบหน้า เพราะไม่ใช่ฮาลาลที่ชาวบ้านประสงค์
มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลทุกยุคอาจตั้งโจทย์ผิด จนทำให้นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แม้จะสร้างอาคารสถานที่เสียใหญ่โต
ข้อสังเกตนี้มาจาก ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย
"ทีมข่าวอิศรา" จับเข่าคุยกับ ดร.วินัย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันฮาลาลชายแดนใต้สู่เวทีฮาลาลโลก และจากประสบการณ์ตรงของเขา ทำให้ตระหนักว่าการพัฒนาที่มุ่งไปสู่รูปแบบการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยไม่สนใจวิถีชุมชน อาจเป็นการตั้งโจทย์แบบผิดๆ ของรัฐบาลในห้วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
O นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ปัตตานี รัฐบาลริเริ่มจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 43-44 ที่ อ.ปะนาเระ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ อุปสรรคคืออะไร?
แนวคิดใช้ชื่อ "ฟาฏอนี" เป็นเรือธงผลักดันฮาลาล โดยเน้นที่ชายแดนใต้เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีวัตถุดิบมหาศาลนั้น พอทำจริงแล้วทำไม่ง่าย เพราะเราขาดความเข้าใจในรากเหง้าความเป็นมาของพื้นที่ รากเหง้าของประชาชน
เวลาคุย เราคุยกันที่กรุงเทพฯ การสร้างแบรนด์ฟาฏอนีก็ดี เป็นกรอบคิดจากกรุงเทพฯ มุสลิมในพื้นที่ต้องการเหมือนเราหรือเปล่า รัฐคิดในแง่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ แต่คนในพื้นที่เขาคิดอีกแบบ มีวิถีอีกอย่างหนึ่ง
นิคมขนาดใหญ่ ผู้ลงทุนจากส่วนกลาง จากต่างประเทศ แรงงานนำมาจากภาคอื่น หรืออาจจะต่างชาติด้วยซ้ำ ฉะนั้นการจะให้คนในพื้นที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคงยาก และคงเกิดความกังวล ต้องเลี้ยงไก่ เชือดไก่เป็นแสนตัวต่อวัน โรงงานปลากระป๋อง ปลาก็ไม่ได้มาจากทะเลแถวนั้น ประชาชนในพื้นที่อาจไม่ได้ผลประโยชน์อย่างที่เราคิด
O วันเวลาผ่านมาสิบกว่าปี ต้องกลับมานั่งคิดว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร?
5 ปีก่อน ผมลงไปกับผู้อำนวยการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในขณะนั้น คุณพระนาย สุวรรณรัฐ ลงไปในพื้นที่สีแดง โจทย์คือถ้าเราเอาผลิตภัณฑ์ที่เขาทำในชีวิตจริงๆ เช่น น้ำบูดู มะพร้าวทอดกรอบ เอาออกมาขายจะขายได้ไหม ถ้าจะขายกรุงเทพฯหรือยุโรป
เราทดลองทำ 6 เดือน ใช้การพัฒนาคุณภาพ เราไปเสนองานที่ปารีส (เมืองหลวงของฝรั่งเศส) ผลิตภัณฑ์ที่เราเอามาจากชาวบ้าน พัฒนาเรื่องแพคเกจ แบรนด์ และคุณภาพผลิตภัณฑ์แล้ว ปรากฏว่าขายได้ดีกว่าของประเทศมาเลเซียเสียอีก
มาเลเซียผลิตช็อคโกแล็ตกับมันฝรั่งเยอะมาก เป็นผลิตภัณฑ์เหมือนกับที่ตะวันตกต้องการ แต่จริงๆ ตะวันตกต้องการสัมผัสสิ่งใหม่ๆ ทำจากวิถีชีวิตชาวบ้านที่เขาไม่รู้จัก มาเลเซียบอกว่าความคิดของเราน่าทึ่ง
โครงการวันนั้นตอบโจทย์ว่าสิ่งที่เราคิดมาตลอดนั้นอาจจะผิด การพัฒนาแบบตะวันตก อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาจไม่สอดคล้องกับวิถีที่คนชายแดนใต้ต้องการ และอาจจะเป็นเช่นนี้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย
ที่ผ่านมาเราเป็นประเทศโออีเอ็ม คือรับจ้างผลิตอย่างเดียว การขายศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาจเป็นคำตอบของไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศก็ได้ เพราะไทยมีจุดเด่นด้านทรัพยากรและศิลปวัฒนธรรมสูงมาก ถ้าทำตามแนวทางนี้ ชาวบ้านในพื้นที่อาจได้มากกว่าและให้การสนับสนุน ส่วนการตั้งโรงงานในพื้นที่ ชาวบ้านอาจจะถามว่าเขาได้อะไร
โรงงานที่มาเดินเครื่องจักร ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย มุ่งแต่จะเปิดตลาด แต่กระบวนการกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตล่ะเคยพูดถึงบ้างไหม คำว่า "ฮาลาล" ต้องสโคปลงไปอีก ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่เป็นฮาลาลที่ชาวบ้านประสงค์
O ทำไมไม่ผลักดันแนวคิดนี้ไปยังรัฐบาล?
ปัญหาภาคใต้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้กลบปัญหาอื่นๆ ฮาลาลกลับไปสู่แนวคิดพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อสร้างรายได้มหาศาล ทำอุตสาหกรรมให้เป็นฮาลาล แต่ไม่ได้คิดลงไปถึงฮาลาลที่เป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน
ฉะนั้นมันอาจต้องแยกเป็นคนละส่วน อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะชาวบ้านภูมิใจ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.วินัย ดะห์ลัน
อ่านประกอบ : อนาคตฮาลาลชายแดนใต้ (1) สามปัญหาที่นิคมอุตสาหกรรมหยุดชะงัก