เจาะใจ 'ซีอีโอ' ทุ่งคาฮาเบอร์:“ไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมต้องปิดเหมืองถาวร”
“ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เคารพกฎหมายจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งข้อเสนอของชาวบ้านนั้นหนักมากเกินไป ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด เหตุใดต้องให้ปิดเหมืองถาวร”
“ชาวบ้านต้องการให้บริษัทปฏิบัติตามมติประชาคม 6 หมู่บ้าน โดยเรียกร้องให้ปิดเหมืองแร่และเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่า ซึ่งทางธุรกิจเป็นไปไม่ได้ เพราะบริษัทฯ ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์”
น้ำเสียงยืนยันจากผู้บริหารระดับบิ๊ก ‘รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์’ กรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด บอกเล่ากับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสาเหตุไม่ยอมลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ’ อ.วังสะพุง จ.เลย ตามมติประชาคม 6 หมู่บ้าน
“ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เคารพกฎหมายจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งข้อเสนอของชาวบ้านนั้นหนักมากเกินไป ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด เหตุใดต้องให้ปิดเหมืองถาวร”
รศ.ดร.วิชัย กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน หากยอมลงนามเพื่อยุติการทำเหมืองแร่ ผู้ถือหุ้นหลายคนอาจฟ้องร้องได้ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กระทรวงการคลัง ด้วยทองคำจัดเป็นสินค้าความมั่นคง ทำให้รัฐต้องเข้ามาร่วมลงทุน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างนี้ไม่ได้ รัฐจะเกิดความเสียหาย
เมื่อยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ฝ่ายทหารจึงลงพื้นที่มาบริหารจัดการให้เกิดความปรองดองทั้งสองฝ่าย และมีคำสั่งให้ปิดกิจการเหมืองแร่ชั่วคราวเพื่อลดการปะทะ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชาวบ้านกีดกันเส้นทางเข้าออกขนถ่ายเเร่ บริษัทฯ จึงเกิดความเสียหายและยื่นฟ้องต่อศาลในเวลาต่อมา
เมื่อถามว่ามีโอกาสถอนฟ้องชาวบ้านหรือไม่ ผู้บริหารทุ่งคาฮาเบอร์ ระบุว่า ไม่ถอนฟ้องแน่นอน เพราะเมื่อ 5 ปีก่อน เคยเกิดกรณีเช่นนี้แล้ว บริษัทฯ ยอมถอนฟ้อง แต่สุดท้ายชาวบ้านก็เร่งรัดให้ปิดเหมืองอีกครั้งหนึ่ง บริษัทฯ จึงเห็นว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะไม่ไหวได้
“ชาวบ้านปิดถนนพร้อมบังคับให้บริษัทฯ ปิดเหมืองถาวรและถอนฟ้อง ทั้งที่ประกอบอาชีพอย่างสุจริต ดังนั้นเหตุใดจึงต้องถอนฟ้อง สิ่งนี้จึงทำให้ปัญหาไม่จบ”
รศ.ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นการแย่งชิงพื้นที่ผลประโยชน์นำไปทำเกษตรกรรม เพราะป่า อ.วังสะพุง เหลือพื้นที่ไข่แดง คือ เขตเหมืองแร่ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านบุกรุกปลูกยางพารามาตลอด จึงพยายามเร่งรัดให้มีการปิดเหมืองและฟื้นฟู เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อสุดท้ายจะมีการจัดสรรเพื่อเกษตรกรรมต่อไป
“ฝ่ายนายทุนทำเหมือง ชาวบ้านปลูกยางพารา จึงทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ สิ่งนี้คือหัวใจของปัญหาที่เกิดขึ้น ฉะนั้นหากจะแก้ไขเสนอให้ ส.ป.ก.จัดแบ่งพื้นที่โดยรอบเขตเหมืองแร่ 1 หมื่นไร่ เพื่อจัดสรรให้ชาวบ้านครัวเรือนละ 25 ไร่” ผู้บริหารทุ่งคาฮาเบอร์ กล่าว และว่าขอทำอีก 2 เหมือง คือ แปลงภูเหล็ก และแปลงนาโป่ง ระยะเวลา 12 ปี เพื่อหวังคืนต้นทุน ทั้งที่บริษัทฯ มีสิทธิดำเนินการอีกกว่า 100 แปลง แต่ขอเพียง 2 แปลงเท่านั้นจะปิดเหมืองและฟื้นฟูทันที
รศ.ดร.วิชัย ยังกล่าวถึงขั้นตอนการฟื้นฟูจะใช้ระยะเวลา 3-4 ปี ด้วยการนำดินมาถมและปลูกต้นไม้ เพื่อป้องกันการชะล้าง ซึ่งบริษัทฯ จะไม่คืนโดยที่ไม่มีการฟื้นฟูเด็ดขาด เพราะกฎหมายได้ระบุไว้ เพียงแต่หลุมที่มีขนาดใหญ่อาจไม่ต้องถมทั้งหมด ซึ่งภาพที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อขนาดนี้เป็นไปในลักษณะกระบวนการฟื้นฟูยังไม่จบ
ผู้บริหารทุ่งคาฮาเบอร์ ระบุอีกว่า กรณีอ้างการประกอบกิจการก่อให้เกิดสารอันตรายกระทบชาวบ้านเป็นตัวหลอกเท่านั้น หากแต่ปัญหาแท้จริงฟันธงเลยว่าเป็นการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจว่าชาวบ้านต่างมีความฝันอยากได้ที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง แม้จะไม่มีเอกสารสิทธิการถือครองก็ตาม เพื่อความมั่นคงในชีวิต แต่กระบวนการเหล่านี้เป็นสิทธิของบริษัทฯ
“การเจรจาหาข้อยุติที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านเลย เพราะถูกปิดกลั้นตลอด อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน จึงจะแก้ไขสำเร็จ โดยใช้หลักการด้านรัฐศาสตร์ มิเช่นนั้นปัญหาก็จะไม่จบ เพราะบริษัทฯ ยังยืนยันจะยึดกฎหมายเป็นเกณฑ์” รศ.ดร.วิชัย ทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงยืนยันจากปากผู้บริหารทุ่งคาฮาเบอร์ที่อยากชี้เเจงต่อสังคมในอีกมิติหนึ่ง .
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:'คนรักษ์บ้านเกิด' ยันเซ็นเอ็มโอยูแก้ปมเหมืองทองตามมติ 6 หมู่บ้าน
เจรจาไร้ข้อสรุป 'คนรักษ์บ้านเกิด' จี้บ.ทุ่งคำฯ ปิดเหมือง-ถอนฟ้องชาวบ้าน
‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ ยื่นจม.เปิดผนึก ‘บิ๊กตู่’ ค้านเซ็นเอ็มโอยูแก้ปมหมืองทองคำ
‘ทุ่งคาฮาเบอร์’ ยันไม่ถอนฟ้อง-ปิดเหมืองถาวร ขอโอกาสขุดคืนทุนอีก 2 เหมือง