เปิดคำชี้แจง "ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์" กรณีข้อกล่าวหา เสียดสี "คสช."
"จากการตรวจสอบของกองบรรณาธิการไปยังผู้เขียนบทความและเนื้อหาทั้งหมดพบว่า เป็นการรายงานตามข้อเท็จจริง เนื่องเพราะในระหว่างที่เขียนบทความนี้มีข้อมูลแพร่สะพัดตามสื่อต่างๆ ทุกสาขาเกี่ยวกับเรื่องผู้ที่จะได้รับคัดเลือกมาเป็น สนช. ซึ่งรายงานตรงกันว่า มีข้าราชการทหารได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น สนช.เป็นจำนวนมาก..."
วันที่ 2 สิงหาคม 2557 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ เปิดเผยคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ต่อกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีประกาศคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดย คสช.ระบุว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 ตี พิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. จากนั้น คสช.ส่งหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการให้กับนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล นายกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หนังสือที่ คสช (สลธ) 1.10/55 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ลงนามโดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อร้องเรียนมายังสภาการหนังสือพิมพ์ให้สอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ โดยข้อกล่าวหาของ คสช.มี 3 ประเด็น คือ 1.กรณีคำพาดหัวข่าว “คสช.พ่อทุกสถาบัน 2.กรณีเรื่อง “น้องตาล” ในคอลัมน์สมการการเมือง 3.กรณีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คำชี้แจงจาก ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ใน 3 ประเด็นดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ใน ฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ลงนามในประกาศคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดย คสช.ระบุว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. โดยในชั้นนี้เห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ยังสั่งให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นเป็นสมาชิก ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช.ทราบโดยเร็วนั้น
ขณะนี้ กองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ได้รับทราบรายละเอียดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามหนังสือที่ คสช (สลธ) 1.10/55 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายละเอียดพบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีประเด็นที่ติดใจในเนื้อหาของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ 3 ประเด็นด้วยกัน ซึ่ง ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ขอแก้ข้อร้องเรียนในแต่ละข้อกล่าวหาต่อสภาการ หนังสือพิมพ์แห่งชาติตามกระบวนการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ผ่านไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1
คณะรักษาความสงบแห่งชาติกล่าวหาว่า บนหน้าปกหนังสือ และในหน้า 4 ซึ่งมีข้อความว่า “ธรรมนูญ “บิ๊กตู่” คสช.พ่อทุกสถาบัน” ซึ่งเป็นข้อความที่เสียดสี และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติอยู่เหนือ สถาบันเบื้องสูง
คำชี้แจง
กองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ขอชี้แจงว่า เนื้อหาสาระของข่าวเชิงวิเคราะห์ที่พาดหัวว่า “ธรรมนูญบิ๊กตู่ คสช.พ่อทุกสถาบัน” เป็นการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งให้อำนาจกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นอย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 19 วรรค 3 ที่ให้อำนาจ คสช.ปลดนายกรัฐมนตรีได้ หรือมาตรา 42 ที่ให้อำนาจ คสช.ปลดคณะรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกัน
กระนั้นก็ดี มาตราที่ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ให้ความสำคัญและสนใจมากที่สุดก็คือ มาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างกว้างขวางคือมีอำนาจเหนือทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม รวมทั้งสื่อมวลชนในทุกแขนงตามมามากมาย
อย่างไรก็ตาม ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ขอปฏิเสธว่า มิได้มีจิตเจตนาที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่เหนือสถาบันเบื้องสูงแต่ประการใด เนื่องจากมิได้มีเนื้อความส่วนใดที่เอ่ยถึงสถาบันเบื้องสูงเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งใน “กราฟิก” ที่ได้นำเสนอประกอบก็ได้แสดงให้เห็นโครงสร้างขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ อย่างชัดเจน ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สังคมเข้าใจผิดไปว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง
ที่สำคัญคือ คำว่า พ่อทุกสถาบันนั้นเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักเรียนอาชีวะมาหลาย สิบปี โดยสามารถพบเห็นข้อความได้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น บนกำแพง ผนังห้องน้ำ เป็นต้น และไม่เคยมีใครเคยนึก ประหวัดไปถึงสถาบันเบื้องสูงดังที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าใจเลยแม้แต่น้อย
ขณะเดียวกัน ในการทำหน้าที่ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์และสื่อในเครือต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันเบื้องสูงมา อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำกรณีดังกล่าวไปพาดพิงสถาบันเบื้องสูง
นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งของเนื้อหาก็ยังสนับสนุนการใช้มาตรา 44 เสียด้วยซ้ำไป ดังที่เขียนเอาไว้ว่า “กระนั้นก็ดี การที่รัฐธรรมนูญฉบับบิ๊กตู่เขียนเอาไว้เช่นนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ดี ใครจะบอกว่ามีอำนาจล้นฟ้า มีอำนาจเหนือทุกสถาบัน หรือที่มีการหยอกล้อกันว่า คสช.พ่อทุกสถาบัน ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะในเมื่อ คสช.ทำรัฐประหารก็ย่อมหมายความว่า คสช.ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อยู่แล้ว และยิ่งเมื่อเขียนย้ำเอาไว้ถึงอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดใน รัฐธรรมนูญ ก็ย่อมเป็นหลักรับประกันได้ว่า คสช.พร้อมรับผิดชอบทุกสิ่งภายใต้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม”
ขณะเดียวกันเพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างสมดุลและรอบด้าน กองบรรณาธิการก็ยังได้นำคำชี้แจงถึงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย และดร.วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อธิบายเกี่ยวกับมาตรา 44 เอาไว้อีกด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าว กองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์จึงมีความสงสัยในคำเตือนและการกล่าวโทษของคณะรักษา ความสงบแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง เนื่องเพราะในความเป็นจริงแล้วถ้อยคำในลักษณะเดียวกันนี้ก็ได้มีการใช้ใน สื่อมวลชนฉบับอื่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือคอลัมน์ “เส้นใต้บรรทัด” ของ “จิตกร บุษบา” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้าที่พาดหัวเอาไว้ว่า “ม.44 = หัวหน้า คสช. พ่อทุกสถาบัน?”
คำถามก็คือ คำสั่งเตือนของ คสช.ตั้งอยู่บนตรรกะเช่นใด และทำไมถึงเลือกเตือนเฉพาะ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์เพียงฉบับเดียว
ข้อ 2
เป็นข้อกล่าวหาในคอลัมน์ “สมการการเมือง” ซึ่งตีพิมพ์ในหน้าที่ 16 โดยเนื้อหาที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าเป็นการเสียดสีและมีข้อความอันเป็นเท็จก็คือ ข้อความที่ว่า “ส่วนคนที่ได้รับอำนาจตรงในการเลือกสรรเครื่องสุขภัณฑ์นั้น ไม่ใช่ “บิ๊ก คสช.” อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นทายาทของ “บิ๊ก คสช.” รายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “น้องตาล” ฟังผิวเผินชื่อ “ตาล” คล้ายกับชื่อ “ตู่” ที่มี ต.เต่า เหมือนกัน จนนึกไปว่า “น้องตาล” เป็นลูก “บิ๊กตู่” แต่หากลองคลิกเข้าไปใน “อาจารย์กูเกิล” แล้วคงจะถึงบางอ้อว่า “บิ๊กตู่” มีลูก 2 คน เป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน และไม่ได้ชื่อใกล้เคียงกับ “ตาล” เลย แต่ “น้องตาล” กลับเป็นชื่อทายาทของ “บิ๊ก คสช.” ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้ “ลูกตาล” ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนวยความสะดวกใน “ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า” อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น “บิ๊ก คสช.” ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ “บิ๊กตู่” อย่างที่คาดเดากัน แต่มี “ตาอยู่” ที่ “บิ๊กตู่” วางใจให้มาสานงานต่อ ก็เป็นได้ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช.นั่นแล”
คำชี้แจง
เนื้อหาในบทความดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่ามีข้อความอันเป็นเท็จนั้น ต้องบอกว่า เป็นกระแสข่าวที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในทำเนียบรัฐบาล มิได้เขียนขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย รวมทั้งเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบการเขียน
นอกจากนั้น การนำเสนอข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น โดยผู้เขียนได้ใช้คำว่า หรือไม่ ใช้คำว่า อาจ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่ข้อสรุป เป็นการตั้งคำถามว่าถึงความเป็นไปได้และความน่าจะเป็น เพราะสุดท้ายอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ก็ได้ และการคาดการณ์ก็ไม่ใช่การใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
ขณะเดียวกัน ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ก็มั่นใจว่า การนำเสนอข้อมูลเรื่อง “น้องตาล” ซึ่งเป็นบุตรของบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาดูแลและจัดการ เรื่องสุขภัณฑ์ในทำเนียบรัฐบาลและตึกไทยคู่ฟ้า ไม่ได้เป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียหรือทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องเสียหายแต่อย่างใด
และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านมีวิจารณญาณเพียงพอในการตัดสินใจ
ข้อ 3
เป็นข้อกล่าวหาใน “คอลัมน์ป้อมพระสุเมรุ” ที่ตีพิมพ์ในหน้าที่ 18-19 โดยข้อความที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าเป็นเท็จก็คือข้อความในหน้า 18 ที่เขียนเอาไว้ว่า “การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก”
คำชี้แจง
ในประเด็นนี้ จากการตรวจสอบของกองบรรณาธิการไปยังผู้เขียนบทความและเนื้อหาทั้งหมดพบว่า เป็นการรายงานตามข้อเท็จจริง เนื่องเพราะในระหว่างที่เขียนบทความนี้มีข้อมูลแพร่สะพัดตามสื่อต่างๆ ทุกสาขาเกี่ยวกับเรื่องผู้ที่จะได้รับคัดเลือกมาเป็น สนช. ซึ่งรายงานตรงกันว่า มีข้าราชการทหารได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น สนช.เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ที่รับเลือกจากสาขาอื่นๆ เช่น นักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการประจำ อดีตข้าราชการประจำ คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า เป็นการจัดสรรตำแหน่งให้กับบุคคลที่ทำงานให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ บุคคลที่ใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวก็มิใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถกระทำได้ แต่สื่อมวลชนก็มีสิทธิที่จะติติงและท้วงติงโดยสุจริตใจได้เพื่อผลประโยชน์ ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากนั้น ในกรณีเดียวกันนี้ มิได้มีเพียงแค่ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ที่วิพากษ์วิจารณ์ หากแต่สื่อมวลชนฉบับอื่นๆ ก็ตั้งข้อสังเกตไปในทำนองเดียวกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติตามจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพที่จะต้องมีการตรวจ สอบการทำงานขององค์กร ตลอดรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์” ฉบับวันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557 ที่พาดหัวตัวใหญ่เอาไว้ว่า “เหล่าทัพแบ่งเค้ก สนช. ประจินเผย “ทอ.” ได้โควตา 20 คน/รัฐสภาแต่งห้องรอ” ซึ่งก็ระบุชัดเจนว่าการแต่งตั้ง สนช.มีการแบ่งเค้กและใช้ระบบโควตาในการจัดสรรตำแหน่ง
เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับวันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557 ที่พาดหัวเอาไว้ว่า “ทอ.20 ที่นั่ง สนช.” พร้อมโปรยข่าวเอาไว้ด้วยว่า “ประจิน” เผยทัพฟ้าได้โควตา สนช.20 ที่นั่ง
นอกจากนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ยังได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ชัดเจน ซึ่งหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับลงข้อความเอาไว้ตรงกัน กล่าวคือเมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณี สนช.จำนวน 220 จะมีการแบ่งโควตากันอย่างไรว่า “ในส่วนเหล่าทัพอื่น ผมไม่ทราบ แต่ในส่วนกองทัพอากาศได้โควตา 20 คนและได้ส่งรายชื่อไปแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาจากหัวหน้า คสช.แล้ว 10 คน ส่วนชุดที่สองอีก 10 คนจะได้หรือไม่ยังไม่ทราบ ....แต่ละเหล่าทัพจะได้โควตาเท่าไหร่นั้นผมไม่ทราบ …ส่วนโควตาคนนอกนั้น หัวหน้า คสช.เป็นผู้ดูแล”
ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์จึงมิได้เป็นการนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ และมิได้มีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์มีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ขอน้อมรับคำตักเตือนและคำท้วงติงของคณะรักษาความสงบ แห่งชาติด้วยความยินดี
กระนั้นก็ดี เมื่อได้พิจารณาจากคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 108/2557 จะเห็นได้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีบทสรุปชี้นำเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดย มีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ซึ่งจะส่งผลให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอันเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 ต้องประสบกับความยุ่งยากและลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 103/2557 เพื่อแก้ไขประกาศฉบับที่ 97/2557 โดยให้อำนาจสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นผู้ตรวจสอบและดำเนินการพิจารณา ด้วยตัวเอง
ดังจะเห็นได้จากการที่ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ออกมาเรียกร้อง ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งประเด็นข้อกล่าวหาให้ชัดเจน ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์ปกติ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีกระบวนการตรวจสอบการทำงานของสมาชิกหากพบการ กระทำผิดอยู่แล้ว
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาที่ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์นำเสนอไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมสื่อ หากแต่เป็นเรื่องที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีทัศนคติต่อ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ซึ่งอยู่นอกเหนือกระบวนการตรวจสอบปกติ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์จึงไม่ต้องการให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต้องมา แบกรับแรงกดดันจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการทำหน้าที่ที่นอกเหนือจากกรอบ การทำงานที่มีอยู่เดิม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในการคงไว้ซึ่งการเป็นองค์กร ที่ต้องการความเป็นอิสระ
ดังนั้น ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์จึงตัดสินใจที่จะหยุดการพิมพ์เพื่อยุติปัญหาทั้งมวล
อย่างไรก็ดี ด้วยพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม หลังจากหยุดตีพิมพ์เป็นเวลา 1 เดือน ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์จะกลับมาทำหน้าที่สื่อที่ตรวจสอบองค์กรผู้มีอำนาจ ทุกองค์กรเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอีกครั้ง