ตัดตอนคดี "จดหมายน้อย"ฝาก ตร. เลขาฯศาล ปค.ยอมตายเดี่ยว?
"..ถ้าผลการสอบสวนสุดท้ายออกมา ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิด ย่อมส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจในการบริหารศาลปกครองและอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ การต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้จึงเป็นไปอย่างดุเดือด.."
เป็นเวลาประมาณ 2 เดือนแล้ว หลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี "จดหมายน้อย"ฝากนายตำรวจให้เป็นผู้กำกับการของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ยังไม่มีการแจ้งความคืบหน้าใดๆต่อสาธารณะทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลปกครองอย่างรุนแรง
ผู้ถูกกล่าวหากรณีดังกล่าวมีอยู่สอง 2 รายด้วยกันคือ
1.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ซึ่งเป็นผู้ทำบันทึกส่วนตัวหรือ "จดหมายน้อย"ถึงพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เพื่อขอให้สนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รองผกก.ป. สน.หัวหมาก เป็นผู้กำกับการ(พ.ต.ท.ชูธเรศได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้กำกับการสังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ(สปพ.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ประมาณปลายเดือนมกราคม หลังได้รับจดหมายน้อย) โดยอ้างว่า นายตำรวจคนดังกล่าวเป็นเพื่อนสนิทหลายชายนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และได้ช่วยดูแลการปฏิบัติภารกิจของประธานศาลปกครองสูงสุดในหลายโอกาส
นายดิเรกฤทธิ์ยังให้สัมภาษณ์"สำนักข่าวอิศรา"ยืนยันว่า ก่อนดำเนินการได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรับทราบด้วย
หลังจากปรากฏเป็นข่าว นายหัสวุฒิได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง มีนายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานและให้นายดิเรกฤทธิ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่บางอย่างซึ่งเป็นงานหลักของสำนักเลขาธิการศาลปกครอง
ถ้าผลการสอบสวนเสร็จสิ้น ต้องรายงานผลการสอบสวนต่อประธานศาลปกครองสูงสุด ถ้าเห็นว่า มีความผิด ต้องส่งให้คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง(ก.ขป.)ซึ่งมีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัย
2.นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ซึ่งนายดิเรกฤทธิ์ อ้างถึงใน "จดหมายน้อย"ถึง รอง ผบ.ตร.ว่า การฝากฝัง พ.ต.อ. ชูธเรศ เป็นความ "ประสงค์"ของท่านประธานศาลปกครองสูงสุดและยังอ้างด้วยว่า การดำเนินการในเรื่องต่างๆได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดทราบ
กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ตุ้ลการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ 77 คนล่ารายชื่อส่งถึงคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมสอบสวนนายหัสวุฒิซึ่ง ก.ศป.ได้เปิดประชุมเป็นวาระพิเศษเมื่อวันที่14 พฤษภาคม มีมติแต่งตั้งนายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายนพพล เฮงเจริญ และนายวราวุธ ศิริยุทธวัฒนา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการสอบ
ถ้าผลสอบสวนเสร็จสิ้น เห็นว่า มีความผิด ต้องส่งเรื่องให้ ก.ศป.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเช่นเดียวกัน
การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ 2 ชุดในกรณีเดียวกัน อาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ ถ้าทั้งสองชุดมีความเห็นขัดแย้งกันโดยเฉพาะประเด็นประธานศาลปกครองสูงสุดรู้เห็นและสนับสนุนให้นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ทำจดหมายน้อยถึง ผบ.ตร.และรอง ผบ.ตร.หรือๆไม่
มีกระแสข่าวยืนยันว่า นายดิเรกฤทธิ์ และ พ.ต.อ.ชูธเรศ ได้รับเชิญมาให้ปากคำแก่คณะกรรมการทั้งสองชุด โดยนายดิเรกฤทธิ์ อ้างว่า การทำจดหมายน้อย เป็นการกระทำของตนเองเพียงลำพัง ไม่เกี่ยวกับนายหัสวุฒิ ทั้งๆที่จดหมายน้อยที่ทำถึง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ มีข้อความชัดเจนวาา "ท่านประธานฯประสงค์ที่จะสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ...."
นอกจากนั้นยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราระบุว่า การดำเนินการได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดทราบแล้ว
การให้การดังกล่าวของนายดิเรกฤทธิ์ขัดต่อพยานเอกสารและคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอย่างชัดเจนโดยให้นายนดิเรกฤทธิ์อ้างว่า สำนักข่าวอิศราเขียนข่าวขึ้นเอง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่สอบสวนนายหัสวุฒิซึ่งแต่งตั้งโดย ก.ศป. จึงขอเชิญผู้สื่อข่าวไปให้ปากคำ ซึ่งผู้สื่อข่าวยืนยันว่า นายดิเรกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ในการดำเนินการเรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดทราบแล้วจริง
จากกรณีดังกล่าวมีน่าข้อน่าสังเกต ดังนี้
หนึ่ง การที่ นายดิเรกฤทธิ์อ้างว่า ทำจดหมายน้อยด้วยตัวเอง ไม่เกี่ยวกับประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นการ"ตัดตอน"ยอมตายคนเดียว เพราะเท่ากับนายดิเรกฤทธิ์แอบอ้างผู้บังคับบัญชาสูงสุดในการแสดงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นซึ่งอาจถึงขึ้นผิดวินัยร้ายแรง ถูกปลดออกหรือไล่ออก
สอง การที่นายดิเรกฤทธิ์อ้างว่า ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ในการดำเนินการได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดทราบแล้ว แต่กลับไม่มีการทำหนังสือชี้แจงหรือแก้ข่าวเหมือนทุกๆครั้งที่สื่อมวลชนลงข่าวผิดหรือคลาดเคลื่อนทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมาก มีผลกระทบต่อตำแหน่งและภาพลักษณ์ของนายหัสวุฒิ
สาม ถ้านายดิเรกฤทธิ์ให้การต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชุดที่ตนเองเป็นผู้ถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกัน คณะกรรมการชุดนี้มีการตรวจสอบคำให้การของนายดิเรกฤทธิ์โดยเชิญสื่อมวลชนมาให้ปากคำหรือไม่
สี่ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในศาลปกครองว่า การที่นายดิเรกฤทธิ์ยอมตายเดี่ยว เพราะยังมีความหวังว่า นายหัสวุฒิอาจยังจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้เพราะนายหัสวุฒิยังมีฐานะเป็นประธาน ก.ขป.ซึ่งเป็นองค์กรที่พิจารณาลงโทษตนเองด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัย อย่างน้อยอาจผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ต้องถูกลงโทษถึงขึ้นปลดออกหรือไล่ออก
แน่นอนว่า ถ้าผลการสอบสวนสุดท้ายออกมา ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิด ย่อมส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจในการบริหารศาลปกครองและอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ การต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้จึงเป็นไปอย่างดุเดือด
การที่ผลการสอบสวนจะออกมาไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู?นอยู่บรรดาตุลาการจะยึดมั่นในความซื่อสัตย์ยุติธรรม ยอมหัก ไม่ยอมงอเช่นเดียวกับ "ยอดตุลาการราชวงศ์ซ่ง"หรือไม่