จม.จาก"หม่อมอุ๋ย"ถึงยิ่งลักษณ์ เปิดทางคนกลาง-จี้ยุติบทบาท ก่อนปท.เสียหาย
จดหมายเปิดผนึก
6 กุมภาพันธ์ 2557
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ตามที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ทำหน้าที่รักษาการบริหารประเทศมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ปรากฏว่าในช่วงของการเป็นรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลของ ฯพณฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สำคัญๆ ให้ลุล่วงไปได้มาโดยตลอด
ประการแรก รัฐบาลของ ฯพณฯ ไม่สามารถจ่ายเงินในการรับจำนำข้าวให้แก่ชาวนาได้ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ประกาศเป็นนโยบายไว้ ปล่อยให้ชาวนาจำนวนมากที่นำข้าวมาจำนำต้องรอรับเงินเป็นเวลานานจนเกิดความทุกข์ร้อนกันทั่วไป ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของ ฯพณฯ ไม่สามารถจัดหาเงินมาให้ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ใช้ในการรับจำนำข้าวตามที่ได้วางแผนไว้
กล่าวคือ รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้กำหนดวงเงินที่จะใช้ในการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2556/57 ไว้จำนวน 270,000 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะให้ ธกส. ออกพันธบัตรกู้เงินโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันในวงเงิน 140,000 ล้านบาท และกำหนดที่จะขายข้าวที่ได้จากการรับจำนำข้าวในปีก่อนเพื่อนำเงินมาคืนให้ ธกส. อีก 130,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการนี้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ที่ประกาศแผนออกมาจนถึงวันที่ยุบสภา กระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการให้ ธกส. ออกพันธบัตรกู้เงินจำนวน 140,000 ล้านบาทตามที่กำหนดไว้เลย
ส่วนการขายข้าวเพื่อส่งเงินคืนให้ ธกส. นั้นในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เงินส่ง ธกส.เพียง 40,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่า 130,000 ล้านบาทที่ตั้งใจไว้มาก ความล่าช้าของกระทรวงการคลังในการจัดการให้ ธกส. ออกพันธบัตร และการที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีความสามารถเพียงพอในการขายข้าวนี้เอง มีผลให้ ธกส. ขาดเงินสำหรับใช้รับจำนำข้าว เป็นความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เกิดจากความบกพร่องของรัฐบาลของ ฯพณฯ เองโดยแท้
ประการที่สอง เมื่อกลางเดือนตุลาคมรัฐบาลของ ฯพณฯ โดยกระทรวงพลังงานประกาศให้มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค โดยเชิญชวนให้เอกชนลงทุนติดตั้ง Solar Cell บนหลังคาบ้าน หรือ หลังคาอาคารธุรกิจ ซึ่งปรากฏว่ามีเอกชนจำนวนมากกว่า 1,000 หลังคาเรือน และบริษัทธุรกิจมากกว่า 200 แห่งตกลงเข้าร่วมโครงการ จนได้ทำสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฯ เรียบร้อยแล้ว
บัดนี้เอกชนได้ลงทุนติดตั้ง Solar Cell บนหลังคาเสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่และพร้อมที่จะเชื่อมต่อเพื่อขายไฟฟ้าเข้าเครือข่ายของการไฟฟ้าฯ แต่ปรากฏว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารบ้านเรือนต่างๆ เข้าข่ายว่าเป็นการประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตโรงงานที่เรียกว่า รง.4 เสียก่อนจึงจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายได้ เห็นได้ชัดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมิได้สนใจที่จะให้ความร่วมมือแก่กระทรวงพลังงานเลยทั้งๆ ที่อยู่ในรัฐบาลของ ฯพณฯ ด้วยกัน ความขัดแย้งดังกล่าวนี้น่าจะแก้ไขให้หมดไปได้โดยไม่ยาก แต่รัฐบาลของ ฯพณฯ ก็ไม่สามารถขจัดปัญหาให้หมดไปได้ เป็นความล้มเหลวอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาลของ ฯพณฯ แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลย
ประการที่สาม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ฯพณฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า พร้อมที่จะออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนของสาขาอาชีพต่างๆ เข้าร่วมกันเป็นสภาปฏิรูปประเทศไทย ด้วยความตั้งใจที่จะสนองตอบ
ความต้องการของกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้มีสภาประชาชนเพื่อทำการปฏิรูปประเทศ แต่ปรากฏว่า องค์กรเอกชนต่างๆ ทุกองค์กรไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากไม่เชื่อว่า รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ต่างก็กลัวว่า รัฐบาลจะมีวาระซ่อนเร้น กลุ่มผู้ประท้วงก็ปฏิเสธความหวังดีของรัฐบาลทันที ด้วยไม่ไว้ใจว่ารัฐบาลจะทำอย่างจริงใจ เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนหมู่มากและองค์กรเอกชนต่างๆ ไม่มีความเชื่อถือและศรัทธาในตัว ฯพณฯ และในรัฐบาลของ ฯพณฯ เลย
ทุกคนยังต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ แต่มีข้อแม้ว่า กระบวนการจัดตั้งสภาปฏิรูปและการเลือกสรรตัวแทนจะต้องเริ่มจากคนกลางที่ประชาชนเชื่อถือ ซึ่งจะต้องไม่ใช่รัฐบาลของ ฯพณฯ การที่ ฯพณฯ และรัฐบาลของ ฯพณฯ ไม่ได้รบความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนหมู่มากเช่นนี้ เป็นผลจากการกระทำของ ฯพณฯ และรัฐบาลของ ฯพณฯ เองที่ไม่ได้บริหารประเทศชาติอย่างดีพอ ละเลยที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติ รวมทั้งละเลยที่จะกำจัดและป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นแล้วและมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ โครงการจำนำข้าว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของชาติเป็นจำนวนสูงมาก เมื่อคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเหลือกตามนโยบายของรัฐซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น สรุปผลการปิดบัญชีเสนอต่อ ฯพณฯ ว่าโครงการดังกล่าวมีผลขาดทุนมากกว่าแสนล้านบาท และเมื่อผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนอีกหลายคนได้ช่วยให้ข้อมูลและประมาณการเพิ่มเติมจนครบถ้วนว่า ยอดขาดทุนในที่สุดเมื่อขายข้าวหมดจะเพิ่มเป็นหลายแสนล้าน พร้อมกับชี้ให้เห็นช่องโหว่ของโครงการที่เปิดโอกาสให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในจำนวนสูงมากเช่นกัน
ปรากฏว่า แทนที่ ฯพณฯ และรัฐบาลของ ฯพณฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับไปพินิจพิจารณา และหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้รู้แน่ชัดในเรื่องขนาดของความเสียหายที่เกิดขึ้นและในเรื่องการฉ้อราษฏร์บังหลวงที่โจษขานกันทั่วไป รัฐบาลของ ฯพณฯ กลับปลดบุคคลที่ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยความเสียหายจำนวนสูงดังกล่าว ออกจากภาระหน้าที่เพื่อให้เรื่องเงียบไป
นอกจากนี้รัฐบาลของ ฯพณฯ ท่านยังออกมาโต้แย้งด้วยการให้ข้อมูลที่บิดเบือนแก่ประชาชน ไม่ยอมทบทวนโครงการเพื่อหาวิธีใหม่ที่จะช่วยเหลือชาวนาโดยไม่เกิดความเสียหายมากเกินไปดังที่เกิดขึ้นแล้ว แต่กลับดึงดันใช้วิธีการรับจำนำแบบเดิมในฤดูกาลถัดไป โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายทางการเงินอันใหญ่หลวงที่จะตามมา และไม่สนใจว่า โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากเพียงใด เป็นการบริหารประเทศในลักษณะที่ลุแก่อำนาจอย่างยิ่ง ไม่สนใจฟังเสียงทักท้วงของผู้ใดเลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนหมู่มาก และองค์กรเอกชนที่สำคัญหมดความเชื่อถือและศรัทธาในตัว ฯพณฯ และในรัฐบาลของ ฯพณฯ
การขาดความเชื่อถือและศรัทธาในรัฐบาลของ ฯพณฯ มีผลให้รัฐบาลของ ฯพณฯ ไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ดังเป็นที่ปรากฏแล้วว่าประชาชนจำนวนมากสงสัยว่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกๆ โครงการที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ริเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำหรือโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งประเทศมูลค่า 2,000,000 ล้านบาท การขาดความเชื่อถือและศรัทธาในรัฐบาลของ ฯพณฯ นี้เองเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้โครงการต่างๆ ที่รองรับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยาก ไม่ว่ารัฐบาลของ ฯพณฯ จะชี้แจงอย่างไรประชาชนหมู่มากก็ยังเชื่อว่าจะมีการฉ้อราษฏร์บังหลวงในโครงการเหล่านี้
รัฐบาลที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายของตนเองให้ลุล่วงไปได้ เช่น ในกรณีนโยบายรับจำนำข้าวและนโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลที่ประชาชนหมู่มากและองค์กรเอกชนขาดความศรัทธาไม่เชื่อถือว่า มีความจริงใจและไม่ยอมร่วมมือในการริเริ่มของรัฐบาลแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สนองตอบการเรียกร้องของประชาชนหมู่มากก็ตาม รัฐบาลที่ไม่สนใจในเรื่องที่กำลังเกิดความเสียหายทางการเงินของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ปฏิเสธที่จะค้นหาความจริงในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง และดำเนินนโยบายที่เสียหายนั้นต่อไปโดยไม่นำพาต่อความรู้สึกของประชาชน ทำให้ประชาชนหมดศรัทธา ตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกๆ โครงการที่รัฐบาลริเริ่ม และแสดงให้เห็นชัดด้วยการประท้วงอย่างโจ่งแจ้งว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลนั้นบริหารประเทศอีกต่อไป ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว ไม่อยู่ในสถานะที่จะบริหารประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปได้อีกแล้ว ถ้าจำเป็นต้องรักษาการเพื่อรอให้เลือกตั้งเสร็จสมบูรณ์จนสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ก็คงจะไม่มีผลเสียต่อประเทศชาติมากนัก
แต่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยเป็นอย่างมาก กลุ่มผู้ประท้วงขัดขวางได้สำเร็จหลายช่องทางเริ่มตั้งแต่ขัดขวางหลายช่องทางเริ่มตั้งแต่ขัดขวางการรับสมัครรับเลือกตั้ง การเก็บกักบัตรเลือกตั้ง จนถึงการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งจึงได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มากพอที่จะเปิดประชุม และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศได้จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเพิ่มเติมสำหรับส่วนที่ขาดอยู่
จากลักษณะของการประท้วงที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเพิ่มเติมคงจะยืดเยื้อไปอีกนานด้วยเหตุผลสองประการ
ประการแรก ประชาชนที่ออกมาประท้วงจำนวนมากได้แสดงเจตนารมณ์แล้วว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลจากพรรคการเมืองที่ ฯพณฯ สังกัดอยู่กลับเข้ามาบริหารประเทศอีก ย่อมจะตามขัดขวางการเลือกตั้งในลักษณะเดิมหรือในรูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ
ประการที่สอง การเลือกตั้งเพิ่มเติมที่จะมีขึ้นสำหรับเขตและหน่วยเลือกตั้งที่ยังขาดอยู่ ซึ่งรวมถึง 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถรับสมัครได้ตั้งแต่แรกนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองสั่งให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะ เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้การเลือกตั้งทุกเขตต้องกระทำพร้อมกัน เพื่อให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ยกเว้นในกรณีสุดวิสัย เช่น ในกรณีที่หน่วยเลือกตั้งถูกปิดล้อม เป็นต้น หากการเลือกตั้งถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะทั้งหมด ก็ต้องเริ่มกันใหม่ซึ่งจะใช้เวลานานอีกเพียงใดไม่มีผู้ใดคาดเดาได้
ในสถานการณ์ที่เหตุการณ์จะยืดเยื้อจนไม่มีกำหนดแน่ชัดเช่นนี้ หากรัฐบาลของ ฯพณฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวแล้ว เลือกที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป การประท้วงก็น่าจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่จะให้ ฯพณฯ และรัฐบาลของ ฯพณฯ บริหารประเทศต่อไปอีก สถานการณ์เช่นนี้หากปล่อยไว้นานไป รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศรุนแรงขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวจะซบเซาลงไปอีก การลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ได้เพราะประชาชนไม่ไว้ใจว่าจะไม่มีการโกงกิน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอกชนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศจะตกต่ำลงจนถึงขั้นที่หยุดลงทุนเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเป็นอย่างมากจนอาจไม่ขยายตัวเลย อัตราการว่างงานที่เริ่มสูงขึ้นจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก และที่สำคัญประชาชนจะรู้สึกสิ้นหวัง จนอาจเกิดความรุนแรงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมาแล้วได้
แต่ถ้า ฯพณฯ และรัฐบาลของฯพณฯ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งสามารถทำได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เมื่อไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีช่องทางที่จะให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อไปได้ ผู้ประท้วงก็จะหยุดประท้วงทันที กิจการต่างๆ ในบ้านเมืองจะดำเนินได้ตามปกติทั้งงานของราชการและธุรกิจเอกชน รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มจะสามารถเดินหน้าโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้ทันที รัฐบาลใหม่ที่มีคนกลางซึ่งประชาชนยอมรับย่อมสามารถดึงดูดตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันหาทางปฏิรูปประเทศอย่างได้ผล เมื่อเหตุการณ์คืนสู่ความสงบแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทก็จะดำเนินได้ตามปกติ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับคืนมาและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น
ผู้บริหารประเทศที่ดีเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะต้องตัดสินใจเพื่อประเทศชาติ ผมหวังว่าจดหมายเปิดผนึกของผมฉบับนี้จะช่วยให้ ฯพณฯ ตัดสินใจเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ประเทศชาติได้เสียที
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)