บทวิพากษ์คำพิพากษาคดีไร่ส้ม-อสมท
บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ฟ้อง บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 เรียกให้ชำระเงินประมาณ 253 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 215 ล้านบาท โดยเงินต้นดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1.คืนค่าส่วนลดทางการค้า (ค่านายหน้า) ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าโฆษณาส่วนเกินเวลาที่บริษัทไร่ส้มคืนให้แก่ อสมท จำนวน 138 ล้านบาท (กรณีที่ อสมท กล่าวหาเจ้าหน้าที่ อสมท ทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ไร่ส้ม)ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นเงินจำนวน 49 ล้านเศษ
2.ชำระค่าโฆษณาที่ อสมท ใช้เวลาเกินส่วนแบ่งเวลาตามข้อตกลงกับบริษัทไร่ส้มเป็นเงิน 166 ล้านบาทเศษ
3.ดอกเบี้ยของทั้งสองส่วนจำนวน 37.8 ล้านบาทเศษ
อย่างไรก็ตามศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้แก่ อสมท จ่ายเงินให้แก่ บริษัทไร่ส้ม ดังนี้
1.ชำระค่าส่วนลดทาง การค้าในอัตราร้อยละ 30 จากยอดเงิน 138 ล้านบาทซึ่งเป็นค่าโฆษณาเกินเวลาที่ อสมท.ได้จากบริษัทไร่ส้ม จำนวน 49 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย 6.48 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงิน 55.5 ล้านบาท
2.ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินที่ อสมท ใช้เวลาเกินส่วนแบ่งตามข้อตกลง เป็นเงิน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 8,255 บาท รวมเป็นเงิน 253,255 บาท จากที่เรียกไปทั้งหมดกว่า 166 ล้านบาท
รวมเป็นเงินที่ที่ศาลปกครองพิพากษาให้ อสมท จ่ายเป็นเงิน 55.777 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จสิ้นโดยให้ชำระเสร็จสิ้นภายใน 90 วันนับแต่คดีถึงที่สุด
หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป
บทวิพากษ์-ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำพิพากษา
หนึ่ง คดีดังกล่าว นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 และตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นให้ อสมท ชำระเงินค่าส่วนลดทางการตลาดให้แก่ บริษัทไร่ส้ม จำนวนหนึ่ง ซึ่ง ตามปกติแล้วในคดีอื่นๆ หลังจากนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกแล้ว องค์คณะที่พิจารณาคดีมักจะมีคำพิพากษาออกมาในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก เพราะขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้สิ้นสุดแล้ว
แต่ในคดีนี้องค์คณะได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 กันยายน 2556 หรือตัดสินหลังจากวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นเวลานานกว่า 10 เดือน
สอง ในคำพิพากษาคดีนี้มี มีการอ้างอิงสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธานซึ่งฝ่ายบริหารของ อสมท ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว แต่ไม่มีการอ้างอิงสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมกรรป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่อาจมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและแตกต่างไปจากสำนวนของคณะ กรรมการชุด พล.ต.อ.ประทิน เพราะขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครองได้สิ้นสุดลงก่อนที่คณะ กรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า เจ้าหน้าที่ อสมท ทุจริตต่อหน้าที่ โดยมีบริษัทไร่ส้ม และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
สาม คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือไม่
ศาลปกครองนิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง เพราะ อสมท เป็นบริษัท จำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหนึ่งเนื่องจากกระทรวง การคลังและธนาคารออมสินถือหุ้นเกินร้อยละ50 ซึ่งมีการแปรสภาพตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง
นอกจากนั้นสัญญาระหว่าง อสมท กับบริษัทไร่ส้ม เป็นสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทไร่ส้มเข้า ร่วมจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารมวลชนและดำเนินธุรกิจอัน เกี่ยวกับกิจการสื่อสารมวลชนที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกันกับ อสมท โดยตรง
เมื่อ อสมท ได้รับมอบอำนาจทางปกครอง สัญญาดังกล่าวจึงมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง สัญญาระหว่าง อสมท กับบริษัทไร่ส้ม จึงเป็นสัญญาทางปกครอง จึงอยุ่ในอำนาจของศาลปกครอง
จากคำวินิจฉัยดังกล่าวผู้เขียนมีความเห็นว่า อสมท แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทุนตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แต่เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่มิใช่หน่วยงานทางปกครอง เพราะมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 3 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542-ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง)
จริงอยู่ อสมท อาจจะมีการดำเนินกิจการบางประเภทที่ต้องใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง เช่น การให้สัมปทานดำเนินกิจการโทรทัศน์แก่บริษัทบางกอกเอ็นเทอร์เทนเมนท์(สถานีโทรทัศน์สีช่อง 3):ซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างชัดเจน
สำหรับสัญญาการร่วมผลิตรายการคุย คุ้ย ข่าวซึ่งมีข้อตกลงในเรื่องรายได้ส่วนแบ่งโฆษณานั้น แม้จะมีการแพร่ภาพออกอากาศ แต่ลักษณะของสัญญาเป็นสัญญาในเชิงธุรกิจที่ทำกันทั่วไปในการประกอบกิจการ โทรทัศน์ระหว่างเจ้าของสถานีกับผู้ผลิตรายย่อย
มิเช่นนั้นแล้วสัญญาร่วมผลิตรายการระหว่างผู้ผลิตรายการรายย่อยกับผู้ได้ รับสัมปทานในการประกอบกิจการโทรทัศน์ เช่น สถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 สถานีโทรทัศน์สีช่อง 7(บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์)ก็ต้องเป็นสัญญาทางปกครองเพราะเนื้อหาในสัญญาเป็น การจัดทำบริการสาธารณะเดียวกับสัญญาระหว่าง อสมท กับบริษัทไร่ส้ม
ขณะเดียวกัน สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญา ทางปกครองเสมอไปขึ้นอยู่กับเนื้อหาและรูปแบบของสัญญาด้วย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ร้านค้าเช่าขายอาหาร หรือทำสัญญาจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้เพราะมิได้เป็นการจัดทำบริการสาธารณะหรือใช้ อำนาจในทางปกครองของหน่วยงานทางปกครอง
เมื่อ อสมท เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนเหมือนบริษัททั่วไป มิใช่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเป็นการเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาเ จึงไม่ใช่หน่วยงานในทางปกครองประกอบกับเนื้อหาสัญญาเป็นลักษณะการดำเนิน ธุรกิจทั่วไปในการประกอบกิจการโทรทัศน์ นอกจากนั้นข้อพิพาทระหว่างสองฝ่ายยังมิใช่เรื่องการแพร่ภาพหรือออกอากาศ รายการ แต่เป็นข้อพิพาทในการแบ่งผลประโยชน์ค่าโฆษณา จึงไม่น่าจะเป็นจะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงไม่น่าที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด
สี คำพิพากษาคดีดังกล่าว เสียงไม่เอกฉันท์
องค์คณะในการพิจารณคดีศาลปกครองชั้นตนมีด้วยกัน 3 คน ปรากฏว่า ตุลการเจ้าของสำนวนเป็นเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า ควรยกฟ้อง
(คลิก อ่านรายละเอียดคำพิพากษา)
ห้า ปัญหาการใช้ตรรกะในการวินิจฉัยความสุจริตของบริษัทไร่ส้ม
ในคำพิพากษาของศาลปกครองให้ อสมท คืนค่าส่วนลดทางการค้า (ค่านายหน้า)ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าโฆษณาส่วนเกินเวลาให้แก่ บริษัท ไร่ส้ม( จากยอดเงินจำนวน 138 ล้านบาท) พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 55.5 ล้านบาทของต้นเงินจำนวน 49 ล้านเศษนั้น(คำพิพากษาหน้า 28-29 ย่อหน้าที่ 2และ 3) ได้วินิจฉัยว่า มิได้เกิดจากเกิดจากการทุจริตของนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด เจ้าหน้าที่ อสมท โดยระบุว่า ข้อเท็จจริงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า ผู้ฟ้องคดี(บริษัทไร่ส้ม)จ่ายเงินให้แก่นางพิชชาภาเพื่อลงคิวโฆษณาเกินส่วน แบ่งเวลาโดยไม่ต้องซื้อโฆษณาส่วนเกินเวลากับผู้ถูกฟ้องคดีตามข้ออ้างของผู้ ถูกฟ้องคดี(อสมท) แต่เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการตรวจสอบ
ส่วนกรณีการที่บริษัทไร่ส้มได้มีโฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาไปเป็นจำนวน มากกว่าร้อยล้านบาท เมื่อเวลาผ่านไปปีเศษตั้งแต่เมษายน 2548- กรกฎาคม 2549 ยังไม่มีการเรียกเก็บเงินจาก อสมท ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติทางการค้าอย่างมาก บริษัทไร่ส้มกลับไม่มีการสอบถามหรือแสดงความจำนงเพื่อชำระเงินค่าโฆษณาส่วน เกินให้แก่ อสมท แต่อย่างใด จนกระทั่ง อสมท ตรวจสอบเรียกให้บริษัทไร่ส้มชำระเงินในส่วนดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2549 ศาลเห็นเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดี(บริษัทไร่ส้ม)จะมีพฤติการณ์อันชวนสงสัย
แต่กรณีดังกล่าวเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและ ระบบงานของผู้ถูกฟ้องคดีเองที่ไม่มีการควบคุมตรวจสอบและเรียกเก็บจากผู้ฟ้อง คดีภายในกำหนดเวลาตามระเบียบปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดี
“การที่ผู้ฟ้องคดีเฉยเสียไม่แสดงความจำนงชำระเงินค่าโฆษณาส่วน เกินก็เป็นการกระทำเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจที่มุ่งแสวงประโยชน์และหวังผลกำไร สูงสุดปกติทั่วไป”คำพิพากษาระบุ
จากคำวินิจฉัยดังกล่าวอาจสร้างบรรทัดฐานทำให้สังคมเข้าใจว่า การที่บริษัทไร่ส้มไม่ยอมคืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินกว่า 138 ล้านบาทให้แก่ อสมท เป็นเวลาปีเศษ ทั้งๆที่ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเองหรือในส่วนที่ตนเองพึงมีพึงได้โดยชอบธรรม จนต้องมีการทวงถามนั้นเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจที่มุ่งแสวงหาประโยชน์และ มุ่งแสวงหากำไร
ทั้งๆที่การทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะกับคู่ค้าและผู้บริโภคที่เรียกว่า บรรษัทภิบาล เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องชอบธรรมของสังคม
หรือแม้แต่บุคคลธรรมเยี่ยงวิญญูชน เมื่อได้รับทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตนเองหรือไม่ใช่ส่วนที่ตนพึงมีพึงได้โดย ชอบธรรม ก็ต้องคืนให้แก่เจ้าของโดยเร็ว มิพักต้องให้มีการทวงถาม
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไปซื้อสินค้า แล้วพ่อค้าแม่ค้าทอนเงินเกิน หากผู้ซื้อมีความซื่อสัตย์สุจริต มิได้มีเจตนาจะเอา “เงินส่วนเกิน” ไปเป็นของตนก็ต้องรีบคืนเงินส่วนเกินดังกล่าวให้พ่อค้าแม่ค้าโดยไม่ต้องให้ ใครมาทวงถาม
การใช้เหตุผลที่ว่า “การที่ผู้ฟ้องคดีเฉยเสียไม่แสดงความจำนง ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินก็เป็นการกระทำเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจที่มุ่งแสวง ประโยชน์และหวังผลกำไรสูงสุดปกติทั่วไป”เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัด ฐานที่ไม่ถูกต้องให้แก่สังคมเข้าใจว่า การประกอบธุรกิจ ไม่จำต้องอาศัยความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้าเพราะการมุ่งแสวงหากำไรแต่ถ่ายเดียว
หก การใช้ตรระกที่ขัดแย้งกันเองในเรื่องการประกอบธุรกิจ
หลังจากวินิจฉัยว่า การที่บริษัทไร่ส้ม ไม่ยอมคืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกิน จนต้องมีการทวงถามว่า เป็น”เป็นการกระทำเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจที่มุ่งแสวงประโยชน์และหวังผลกำไรสูงสุดปกติทั่วไป”แล้ว
ในย่อหน้าถัดมาในคำพิพากษา ศาลปกครองวินิจฉัยว่า การที่บริษัทไร่ส้มชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาทั้งหมดรวมทั้งเงินส่วนลดใน อัตราร้อยละ 30(46 ล้านบาทเศษ)ให้ อสมททั้งหมด(จำนวน 138 ล้านบาทเศษ)นั้น เห็นว่า
“โดยที่ผู้ฟ้องคดีประกอบอาชีพสื่อมวลชนเป็นบุคคลสาธารณะและเป็น ที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญ หากมีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรทุจริตหรือการอาศัยวิชาชีพสื่อมวลชนไปแสวงหา ประโยชน์โดยมิชอบย่อมมีผลกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนและสังคม และย่อมกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ฟ้องคดีอย่างรุนแรงถึงขนาดไม่อาจ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
“ดังนั้นเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีให้ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินเวลา ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องรีบนำเงินไปชำระเพื่อป้องกันข้อครหาและมิให้เกิดความคลางแคลงใจหรือข้อสงสัยต่อสาธารณชนและสังคม จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การทีผู้ฟ้องคดีจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือ เป็นการพ้นวิสัยหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม มาตรา 407 มาตรา 410 และมาตรา 411 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง)
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว เห็นชัดว่า จากตรรกะในการให้เหตุผลข้างต้นขัดแย้งกับการให้เหตุผลกรณีที่บริษัทไร่ส้ม เก็บเงินค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138 ล้านไว้หนึ่งปีเศษและจ่ายคืนเมื่อมีการทวงว่า “การที่ผู้ฟ้องคดีเฉย เสียไม่แสดงความจำนงชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินก็เป็นการกระทำเยี่ยงผู้ประกอบ ธุรกิจที่มุ่งแสวงประโยชน์และหวังผลกำไรสูงสุดปกติทั่วไป
คำถามง่ายๆก็คือ ถ้าไม่มีการทวงถามเงินค่าโฆษณาส่วนเกินจาก อสมท บรษัทไร่ส้มก็ดี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดาก็ดีซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพสื่อมวลชน จะไม่คืนเงินให้แก่ อสมท ใช่หรือไม่
การที่ผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพสื่อสารมวลชนไม่ยอมคืนเงิน ทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตนเองหรือไม่ หรือไม่ใช่ส่วนที่ตนพึงมีพึงได้ และเฉยเสียนานเป็นเวลาปีเศษ ต้องรอให้มีการทวงถามก่อน ไม่กระทบต่อความความน่าเชื่อถือหรือความไว้วางใจของประชาชนหรือสังคมดอกหรือ
ที่สำคัญถ้าไม่มีการทวงถาม บริษัทไร่ส้มหรือนายสรยุทธจะยอมคืนเงินก้อนนี้หรือไม่ เพราะในคำวินิจฉัยของศาลก็ระบุชัดว่า เจ้าหน้าที่ อสมท ที่เกี่ยวข้องและระบบการตรวจสอบมีความบกพร่อง ดังนั้นจึงมีโออาสสูงที่จะตรวจไม่พบว่า มีการโฆษนาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้ม
การถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตนเองโดยมิชอบในลักษณะดังกล่าว เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่?
บทวิพากษ์และข้อสังเกตครั้งนี้มิได้มีเจตนาที่ให้กระทบต่อความน่าเชื่อ ถือของศาลปกครอง แต่เห็นว่า การให้เหตุผลในคำพิพากษาเป็นสิ่งสำคัญที่ในการวางรากฐานคดีปกครองซึ่งมีส่วน ในการวางบรรทัดฐานที่ดีงาม ถูกต้องชอบธรรมแก่สังคมส่วนรวม ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่สถาบันศาลปกครองมากขึ้น
หมายเหตุ-คำอธิบายเพิ่มเติม
“หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ ดำเนินกิจการทางปกครอง
มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือน หนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่
มาตรา 410 บุคคลใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความ สุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์
มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอัน ดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่