- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ผ่าปมขบวนการ ‘เงินทอน’ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านให้ทหาร
ผ่าปมขบวนการ ‘เงินทอน’ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านให้ทหาร
"…การจัดสรรผลประโยชน์จึงต้องกระจายไปยังบุคคล 4 ฝ่าย อย่างลงตัว คือ 1) เอกชน เจ้าของโครงการจัดสรรที่ดิน 2) นายทหารที่ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ 3) ทหารระดับล่างที่เป็น ผู้ซื้อที่ดินในโครงการ 4) นายหน้าที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง 3 ฝ่ายแรก…"
ขณะนี้ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า อะไรคือต้นเหตุที่แท้จริงทำให้ จ่าสิบเอก ก่อคดีกราดยิงประชาชนสะเทือนขวัญที่สุดเท่าที่คนไทยเคยเจอมา โดยจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของ พ.อ.นฤพล มิตรจันทร์ สามีนางอนงค์ มิตรจันทร์ ผู้ตายกลุ่มแรกซึ่งเป็นคู่กรณีของ “จ่าทหาร” ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทวงถามเงิน ที่เกิดจากการซื้อขายบ้านจัดสรรซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นลูกค้าหรือเป็นผู้ซื้อ และจะต้องได้รับเงินคืนอีกจำนวน 5 หมื่นบาทหลังจากซื้อและจำนองเสร็จแล้ว ซึ่งสามีนางอนงค์เรียกว่า “เงินทอน” แต่ผู้ก่อเหตุยังไม่ได้รับเงินจำนวนนี้ จึงได้มีการนัดเจรจากันในวันเกิดเหตุ โดยมีผู้ร่วมเจรจา 4 คน คือ ผู้ก่อเหตุ, นางอนงค์, นายหน้า และ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ก่อเหตุ ผลการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ จึงทำให้ผู้ก่อเหตุไม่พอใจที่ไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ เป็นที่มาของการกราดยิงคนกลุ่มแรก ทำให้นางอนงค์ และ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนนายหน้าได้รับบาดเจ็บ และเป็นเหตุบานปลายทำให้ “เงินทอน5 หมื่นบาท” เป็นสื่อมรณะให้กับคนจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ชีวิต รวมทั้งผู้ก่อเหตุต้องจบชีวิตลง เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
จึงควรรู้ถึงขบวนการอันเป็นที่มาของ “เงินทอน”ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงเป็นนายทหารระดับสูงบางคนและนายทุนเจ้าของโครงการจัดสรร ด้วยการใช้โครงการสวัสดิการเงินกู้ของทหารเป็นเครื่องมือสำคัญ แล้วสร้างให้เกิด “เงินทอน” เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้ทหารระดับล่างติดกับดักและเข้ามาร่วมอยู่ในขบวนการ ซึ่งที่ผ่านมามักจะเป็นโครงการจัดสรรที่ดินว่างเปล่า แตกต่างจากโครงการที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์นี้ซึ่งมีการก่อสร้างบ้านด้วย แต่ก็มีเงินทอนเช่นกัน
ขบวนการเงินทอนในอดีต เริ่มจากกองทัพบกหรือกระทรวงกลาโหม กำหนดให้มีโครงการสวัสดิการเงินกู้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัยให้กับกำลังพลหรือทหารระดับต่าง ๆ ซึ่งโดยหลักการน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ทหารระดับล่างซึ่งมีเงินเดือนไม่สูงได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยสามารถกู้เงินสวัสดิการเพื่อนำไปซื้อที่ดินว่างเปล่าไว้ก่อนโดยผ่อนชำระไปเรื่อย ๆ หลังจากชำระหนี้เงินกู้สำหรับซื้อที่ดินหมดไปแล้ว จึงเริ่มกู้เงินใหม่อีกครั้งเพื่อสร้างบ้าน ก็จะทำให้ทหารระดับล่างมีบ้านเป็นของตนเองได้โดยใช้เงินกู้สวัสดิการนี้
แต่ก็ทำให้เกิดช่องโหว่ให้นายทหารระดับสูงบางกลุ่มร่วมมือกับเอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินแสวงหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน โดยใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาหรือยศตำแหน่งที่สูงกว่า ประกอบกับแรงจูงใจจาก “เงินทอน” ดึงให้ทหารระดับล่างเข้าร่วมโครงการ เป็นขั้นตอนดังนี้
1. กองทัพบกหรือกระทรวงกลาโหม กำหนดให้มีโครงการเงินกู้สวัสดิการสำหรับซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านให้กับกำลังพล โดยสามารถนำเงินกู้ไปซื้อที่ดินว่างเปล่าไว้ก่อนโดยยังไม่ต้องสร้างบ้านในทันทีก็ได้
2. เอกชนที่ร่วมมือกับนายทหารระดับสูงบางกลุ่มที่รับผิดชอบโครงการสวัสดิการเงินกู้ จัดทำโครงการจัดสรรที่ดินขึ้นมา โดยหาซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินเกษตรกรรมราคาถูก ๆ ขนาดเนื้อที่ประมาณ 10-20 ไร่ หรือมากกว่านั้น มาทำการจัดสรรโดยแบ่งแยกเอกสารสิทธิเป็นที่ดินแปลงย่อยประมาณ 50 ตารางวาต่อแปลง ซึ่งจะทำให้ได้ที่ดินแปลงย่อยนับร้อยแปลง นำไปขายให้กับทหารชั้นผู้น้อยผ่านโครงการสวัสดิการเงินกู้ของทหาร โดยที่ดินที่จัดสรรไม่ได้จัดทำสาธารณูปโภคใด ๆ ที่ผู้ซื้อจะสามารถนำที่ดินไปใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยได้ เพียงแต่อาจจะมีการไถ่กลบวัชพืชเพื่อให้เห็นเป็นแปลงที่ดินเท่านั้น
3. เอกชนผู้จัดสรรที่ดินจะประสานงานกับนายทหารที่รับผิดชอบโครงการสวัสดิการเงินกู้สำหรับซื้อที่ดิน เพื่อเกณฑ์ให้ทหารหรือกำลังพลของกองทัพกู้เงินจากโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินในโครงการที่จัดทำขึ้น
4. การที่จะทำให้กำลังพลกลุ่มเป้าหมายคือทหารระดับล่าง เข้าไปซื้อที่ดินในโครงการจัดสรรของเอกชน และยื่นขอเงินกู้สวัสดิการเพื่อใช้ซื้อที่ดิน นอกเหนือจากการใช้อำนาจของนายทหารระดับสูงแล้ว ยังต้องมีแรงจูงใจด้วยการทำให้มีเงินกู้เหลืออยู่จำนวนหนึ่งหลังชำระค่าที่ดินแล้ว เป็นเงินสดให้กับทหารที่ซื้อที่ดิน ซึ่งเรียกกันว่า “เงินทอน”
5. การที่จะทำให้มี “เงินทอน”ได้ จะต้องทำให้ทหารที่เป็นผู้ซื้อที่ดินกู้เงินสวัสดิการได้สูงกว่าราคาซื้อที่ดิน
6. การที่จะกู้เงินได้สูงกว่าราคาซื้อที่ดิน ก็จะต้องประเมินราคาที่ดินให้สูงกว่าราคาซื้อขายจริง
7. การกู้เงินเกินกว่าจำนวนเงินที่จะใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการสวัสดิการเงินกู้ดังกล่าว และการกู้เงินให้ได้เกินกว่ามูลค่าของที่ดินที่ใช้เป็นหลักประกัน ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้กู้ คือหน่วยทหารที่ดูแลโครงการเสวัสดิการเงินกู้ ย่อมทำไม่ได้
8. การจัดสรรผลประโยชน์จึงต้องกระจายไปยังบุคคล 4 ฝ่าย อย่างลงตัว คือ 1) เอกชน เจ้าของโครงการจัดสรรที่ดิน 2) นายทหารบางคนที่ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ 3) ทหารระดับล่างที่เป็น ผู้ซื้อที่ดินในโครงการ 4) นายหน้าที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง 3 ฝ่ายแรก
9. การได้รับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย เป็นดังนี้
1) เอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดิน ได้รับประโยชน์จากการซื้อที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินเกษตรกรรมราคาถูก ๆ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาหลายเท่าตัว เช่น ซื้อที่ดินเนื้อที่ 20 ไร่ ราคาไร่ละ 50,000 บาท หรือตารางวาละ 125 บาท เป็นเงินที่ใช้ซื้อที่ดิน 1,000,000 บาท นำมาแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยแปลงละ 50 ตารางวาและแบ่งเป็นถนนซอยในโครงการ จะเหลือพื้นที่ขายประมาณ 80 % ของที่ดิน 20 ไร่ คือ 16 ไร่ หรือ 6,400 ตารางวา เป็นจำนวนแปลง 128 แปลง นำไปขายให้กับทหารในราคา ตารางวาละ 3,000 บาท หรือแปลงละ 150,000 บาท ถ้าขายได้หมดทั้งโครงการจะได้รับเงิน 19,200,000 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนของที่ดินที่ซื้อมาถึง 18,200,000 บาท เอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินจึงสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายเป็นค่าอำนวยความสะดวกให้กับนายทหารที่ดูแลโครงการเงินกู้สวัสดิการได้เป็นจำนวนสูง
2) นายทหารที่ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ได้รับประโยชน์จากเอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินเป็นค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ โดยคิดตามจำนวนแปลงในโครงการ เช่น แปลงละ 50,000 บาท จำนวน 128 แปลง เป็นเงินรวม 6,400,000 บาท แต่การจ่ายเงินค่าดำเนินการไม่ใช่จ่ายทีละ 50,000 บาท ตามที่มีทหารระดับล่างตกลงซื้อที่ดินแต่ละแปลง แต่จะต้องจ่ายทั้งก้อน 6,400,000 บาท ทันทีที่ตกลงกัน โดยนายทหารที่ดูแลโครงการเมื่อรับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว มีหน้าที่จะต้องทำให้ทหารระดับล่างที่ตกลงซื้อที่ดินและยื่นขอเงินกู้สวัสดิการได้รับเงินกู้เกินกว่าราคาที่ซื้อขายจริง คือสูงกว่า 150,000 บาทต่อแปลง เช่น ถ้าต้องการให้มีเงินทอน 50,000 บาท ก็จะต้องอนุมัติเงินกู้สวัสดิการให้ได้ 200,000 บาท ซึ่งโดยปกติจะอนุมัติเงินกู้ได้ไม่เกิน 80 % ของราคาประเมินที่ดิน และไม่เกินราคาซื้อขายจริง ดังนั้นจึงต้องประเมินราคาที่ดินให้ได้ไม่ต่ำกว่า 250,000 บาท และทำสัญญาจะซื้อจะขายในราคาไม่ต่ำกว่า 250,000 บาท ซึ่งเกินกว่าราคาซื้อขายจริงไป 100,000 บาท
3) ทหารระดับล่างที่เป็นผู้ซื้อที่ดินในโครงการ หลังจากทำสัญญากู้เงินสวัสดิการจำนวน 250,000 บาทและจำนองที่ดินเป็นหลักประกันแล้ว จะได้รับเงินทอนจำนวน 50,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าต้องเป็นหนี้เงินกู้สวัสดิการ 250,000 บาท เพื่อแลกกับเงินทอนจำนวนดังกล่าว และได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 50 ตารางวา ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ซึ่งมีราคาที่แท้จริงเพียง 6,250 บาท หรือตารางวาละ 125 บาท โดยมีภาระต้องผ่อนชำระไปอีกเป็นเวลานานนับ 10 ปี
4) นายหน้า ได้รับประโยชน์จากค่านายหน้าประมาณ 3 % ของราคาซื้อขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย คือ 3 % ของ 250,000 บาท เป็นเงิน 7,500 บาทต่อแปลง โดยมีหน้าที่ประสานงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและติดตามเรื่องเพื่อให้เกิดการซื้อขาย และเงินกู้สวัสดิการได้รับการอนุมัติโดยเร็ว
นี่คือตัวอย่างของขบวนการ “ซื้อที่มีเงินทอน” ที่เกิดขึ้นในอดีต ที่สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของโครงการจัดสรร และนายทหารระดับสูงมาแล้ว ซึ่งมีขั้นตอนไม่แตกต่างกับ “เงินทอนมรณะ”ของ “จ่าคลั่ง 30 ศพ” ที่โคราช
กองทัพหรือกระทรวงกลาโหมจึงควรเข้าไปตรวจสอบย้อนหลังโครงการทั้งหมดในอดีตที่น่าจะมีเงินทอน โดยตรวจสอบทั้งในเรื่องการประเมินราคาหลักประกันและการอนุมัติเงินกู้สวัสดิการ
ไม่เพียงเฉพาะโครงการ “จ่าคลั่ง” เท่านั้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/