“ฮั้วประมูล” ร้ายและลึกกว่าคิด
"...เราคงพูดไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า “การฮั้วเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ” เพราะการกัดกินกันเองในหมู่พ่อค้าได้ก่อรูปเป็นตัวตนขึ้นอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว ดังนั้น หากปล่อยไปเช่นนี้แม้เจ้าหน้าที่ไม่โกง บ้านเมืองก็ยังถูกเอาเปรียบจากกติกาอุบาทว์นี้อยู่ดี..."
ด้วยกติกาใต้ดิน วันนี้การประมูลโครงการก่อสร้างในต่างจังหวัด เทศบาลและ อบต. คนที่ได้ทำงานอาจไม่ใช่คนเก่งที่ชนะการประมูลเพราะเสนอราคาให้หลวงต่ำสุด แต่อาจเป็นใครบางคนที่เจ้านายสั่งให้เขาได้งานเพราะถึงคิวหรือเป็นโควต้า อาจเป็นผู้รับเหมาที่เขียนโครงการนั้นขึ้นมาให้หน่วยงาน อาจเป็นผู้รับเหมาที่วิ่งเต้นเอางบประมาณโครงการนั้นมาลงพื้นที่ อาจเป็นผู้รับเหมาที่สามารถเคลียร์ “เจ้า” สำเร็จ (เจ้าหน้าที่ - กรณีที่ดินราชพัสดุ) หรืออาจเป็นคนที่ชนะจากการฮั้วประมูล ก็ได้ทั้งสิ้น
ใครที่ฝ่าฝืนกติกานี้แล้วได้งานไป ถ้าโชคไม่ดี ไม่มีเส้นสาย ใจไม่ใหญ่หรือดูแลเจ้าหน้าที่ไม่ทั่วถึง ก็อาจโดนแก้เผ็ดจนเจ็บตัวไปในที่สุด แถมยังอาจถูกตัดโอกาสทำมาหากินกับหน่วยงานนั้นและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป
“วันนี้วิธีตั้งราคาฮั้วเปลี่ยนไปมาก จากที่เคยคิดเปอร์เซ็นต์ตามวงเงินประมูลแล้วเอาไปแบ่งให้คนจัดฮั้วและคนที่มาร่วมฮั้ว เดี๋ยวนี้ต้องจ่ายค่าฮั้วให้คนที่มาซื้อซองประมูลรายละ 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีสิบรายรวมกันก็สิบเปอร์เซ็นต์ เรียกว่าไม่มีใครต้องกลับบ้านมือเปล่า” ผู้รับเหมากล่าว
“จำนวนบริษัทที่มาซื้อซองเพื่อกินฮั้วก็เอาแน่ไม่ได้ หากงานไหนมีมากเกินรับได้ก็ต้องปล่อยให้ฮั้วแตก เพราะเคยเจองานเดียวแต่มีคนมาซื้อซองกินฮั้วมากถึงร้อยกว่ารายก็มีมาแล้ว อาชีพกินฮั้วมันเฟื่องฟูถึงขนาดบริษัทขาใหญ่รายหนึ่งตั้งบริษัทลูกขึ้นมาโดยตั้งเป้าวิ่งกินฮั้วให้ได้ 20 ล้านบาทในปีเดียว” ผู้รับเหมาอีกรายเล่าเพิ่มเติม
ข้อมูลนี้บอกให้รู้ว่า วันนี้ “การจัดฮั้ว” และ “วิ่งหากินกับการฮั้ว” ได้กลายเป็นอาชีพที่สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำแล้ว
สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร...
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ซับซ้อนและเป็นความลับอะไรเลย ถามว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเหล่านั้นรู้ไหมว่ามีการฮั้วเกิดขึ้น คำตอบคือ เชื่อว่ารู้แน่นอนแต่ก็ทำนิ่งเสีย เพราะบางคนมีส่วนได้เสียโดยตรง ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเดือดร้อน
คำถามคือ เป็นไปได้อย่างไรในเมื่อกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างเข้มงวดมาก แถมยังต้องทำ อี-อ๊อกชันด้วย คำตอบคือ เขาตกลงกันเรียบร้อยก่อนการประมูลแล้ว มันมีอิทธิพลคุ้มครองถ้าไม่มีใครปากโป้งโอกาสถูกจับดำเนินคดีฐานฮั้วประมูลก็เป็นไปได้น้อยมาก และถ้าไม่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ป.ป.ช. ก็ทำอะไรไม่ได้ ระบบการตรวจสอบของรัฐขาดศักยภาพทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศและเป็นอย่างนี้มาช้านานแล้ว แต่ที่สำคัญคือประชาชนยังเกรงกลัวและไม่มีข้อมูลมากพอที่จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้
เราคงพูดไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า “การฮั้วเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ” เพราะการกัดกินกันเองในหมู่พ่อค้าได้ก่อรูปเป็นตัวตนขึ้นอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว ดังนั้น หากปล่อยไปเช่นนี้แม้เจ้าหน้าที่ไม่โกง บ้านเมืองก็ยังถูกเอาเปรียบจากกติกาอุบาทว์นี้อยู่ดี
ควรแก้ไขอย่างไร...
1. เปิดเผยทุกขั้นตอนของโครงการให้โปร่งใส ปกป้องประชาชนที่เข้ามาตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ
2. สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์ ‘ACT Ai’ และ ‘ภาษีไปไหน’ ให้สื่อมวลชนและประชาชนตรวจสอบและเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลและเส้นทางการเงินได้อย่างเสรี
3. ให้ความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ มากกว่าการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการค้าของใครก็ตามที่สมัครใจเข้ามาค้าขายหรือแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐ
4. เข้มงวดการปฏิบัติตาม ‘มาตรการป้องกันและปราบปราบปรามคอร์รัปชันในระบบราชการ’ ซึ่งเป็นมติ ครม.เมื่อ 27/3/61 ที่กำหนดให้ หัวหน้าหน่วยงานต้องหาทางป้องกันอย่างเต็มที่และต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการทำผิดขึ้น