Deep State ตอนที่ 2/4 รัฐบาลก็แค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของระบบ
"...Deep State อยู่เบื้องหลังสงคราม การก่อการร้าย กับนโยบายต่างประเทศด้านการทหาร โครงสร้างทางสังคม และทำให้เศรษฐกิจกับสังคมลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมหนัก จนเปลี่ยนจากการพึ่งพาการผลิตไปเป็นพึ่งพาภาคการเงิน ซึ่งทำให้ภาคการเงินมีอิทธิพลเหนือกว่าในการกำหนดทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องเผชิญกับการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันมาเกือบ 1 ศตวรรษ..."
นักเขียนชาวอเมริกันชื่อ Mike Lofgren เป็นผู้ทำให้คำว่า Deep State เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เขาเคยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการรัฐสภาสหรัฐฯ และทำงาน 28 ปีในฐานะ ส.ส.
งานเขียนของเขาวิจารณ์การเมืองในสหรัฐฯ โดยเฉพาะพรรครีพับลิกัน ถูกตีพิมพ์หลังจากเขาเกษียณอายุ และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
เขาเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า Deep State ในการเขียนบทความอ้างอิงถึงเครือข่ายแห่งผลประโยชน์ที่ยึดที่มั่นในรัฐบาลสหรัฐฯ และที่อื่นๆ โดยเป็นตัวจริงที่กำหนดการตัดสินใจด้านการป้องกันของอเมริกา นโยบายการค้า ฯลฯ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์หรือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนคนอเมริกัน
เขากล่าวว่า Deep State อยู่เบื้องหลังสงคราม การก่อการร้าย กับนโยบายต่างประเทศด้านการทหาร โครงสร้างทางสังคม และทำให้เศรษฐกิจกับสังคมลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมหนัก จนเปลี่ยนจากการพึ่งพาการผลิตไปเป็นพึ่งพาภาคการเงิน ซึ่งทำให้ภาคการเงินมีอิทธิพลเหนือกว่าในการกำหนดทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องเผชิญกับการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันมาเกือบ 1 ศตวรรษ
ในช่วงที่ Mike Lofgren ปฏิบัติหน้าที่ในคองเกรส เขาสังเกตได้ว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ... รีพับลิกัน หรือเดโมแครต อะไรๆ ก็ยังเดินหน้าไปได้ตามปกติอยู่ดี ไม่มีความต่าง
ในที่สุดเขาก็พบว่าเรื่องราวทางการเมืองที่ผู้คนเห็นผ่านจอทีวี เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของระบบ
เพราะการตัดสินใจในเรื่องสำคัญล้วนทำโดยพวกหมาจิ้งจอก เช่น พวกข้าราชการ นักล็อบบี้ ผู้สนับสนุนแคมเปญต่างๆ และนักธุรกิจที่สนิทสนมกับนักการเมือง
พวก Deep State นี้มีเครือข่ายโยงใยกว้างขวางมาก ทั้งพวกที่เกาะกันแนบแน่น และพวกที่เข้ามาแจมในบางเรื่อง อย่างเช่นพวกอาจารย์มหาวิทยาลัย พวก Think Tank หรือพวกนักธุรกิจที่อยากได้งานใหญ่จากรัฐ
คนพวกนี้ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติศาสนา จะถือพาสปอร์ตประเทศไหนก็ไม่ปฏิเสธ จะโหวตเลือกตั้งให้พรรคไหนก็ไม่สำคัญ จะคิดอะไรอย่างไรก็ไม่สน จะอนุรักษ์นิยมหรือสังคมนิยมก็ไม่เกี่ยง
มีความต่างกันอยู่นิดเดียวคือจะเอาเงินและอำนาจไปทำอะไร
อย่างเช่นถ้าเป็นแนวอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกัน ก็จะเอาเงินและอำนาจไปทุ่มให้กับเซคเตอร์ที่ผลิตอาวุธสงครามกับการรักษาความมั่นคง
ในขณะที่พวกเสรีนิยมหรือเดโมแครทจะทุ่มเทงบประมาณให้กับอุตสาหกรรมในเซคเตอร์ที่เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมทั้งหลาย
.
ข่าวสารต่างๆ ที่เราได้เห็นได้ยินกันมาจนทุกวันนี้จึงเป็นเพียงการต่อสู้แย่งชิงของพวกหมาป่า Deep State ที่จะหาผลลัพธ์ว่าฝ่ายไหนจะได้ “เงินของเรา” ไปมากกว่า ... เท่านั้นเอง
แน่ละ มันต้องมีการตั้งงบประมาณ แต่มันก็แค่กำหนดว่าอุตสาหกรรมฝั่งไหนจะได้งบมากกว่า โดยเป้าหมายหลักในการรักษาอำนาจและเงินยังคงอยู่ที่ Deep State รัฐบาลเงาอยู่ดี ไม่มีออกนอกวง เพียงแค่ไม่ซ้ายก็ขวา
เท่านั้นเองจริงๆ
และไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ในทุกครั้งผู้ชนะตัวจริงก็คือรัฐบาลเงาหรือเจ้า Deep State อยู่ดี
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมประธานาธิบดี บารัค โอบามา กับ ประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิ้ลยู บุช ที่มีบุคลิกต่างกันสุดๆ มีแนวคิดตรงกันข้ามที่สุด ถึงได้รักษานโยบายหลักไว้ในทิศทางเดียวกันเปี๊ยบ รวมกันเป็นระยะเวลา 16 ปี นั่นก็คือ ทำสงครามกับคนข้างนอก และให้สวัสดิการแก่คนข้างใน
.
วรวรรณ ธาราภูมิ
27 ก.ย. 2562
อ่านประกอบ :
Deep State รัฐบาลเงา ตอนที่ 1/4 หมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Youtube The Zero Hour with RJ Eskow