ประท้วงโลกร้อน : เมื่อเด็กสอนผู้ใหญ่
การประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกครั้งนี้จะสามารถหาข้อยุติในทางบวก เพื่อให้เยาวชนของทุกประเทศมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความหวัง เป็นโลกในอนาคตที่พวกเขาควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกเอง
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา เยาวชนทั่วโลก 153 ประเทศ ต่างวางปากกา เดินออกจากห้องเรียนมาประท้วงตามท้องถนนและสถานที่ต่างๆ เพื่อกดดันให้รัฐบาลและภาคธุรกิจ ดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลกอย่างจริงจัง
การประท้วงดังกล่าวอยู่ในช่วงการประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก โดยมีผู้นำของโลกประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมและหนึ่งในวาระการประชุมครั้งนี้ได้แก่ การประชุมสุดยอดด้านปฏิบัติการภูมิอากาศ (Climate Action Summit 2019) ซึ่งจะรวมวาระของการประชุมสุดยอด เยาวชนกับภูมิอากาศ (Youth Climate Summit) ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้นำภาคประชาชนทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกอยู่ในการประชุมนี้ด้วย
แกนนำในการประท้วงในครั้งนี้คือ สาวน้อยอายุเพียง 16 ปี ชาวสวีเดนชื่อ เกรียตา ธุนเบิร์ก ( Greta Thunberg) ซึ่งเธอมีบทบาทในการรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกร่วมกับเยาวชนต่างๆทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
เด็กเหล่านี้มองเห็นอนาคตของโลกที่พวกเขาจะต้องอยู่อาศัยในอีกหลายสิบปีข้างหน้าว่า จะไม่สวยสดงดงามและปลอดภัยอีกต่อไป เพราะปัญหาสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่ผู้ใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้สร้างภาระไว้ให้แก่พวกเขา จากการทำลายทรัพยากรของโลกอย่างยับเยินเพื่อนำมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกำลังสร้างปัญหาให้กับโลกอย่างช้าๆ โดยที่ไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก เพราะเห็นว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจและความสะดวกสบายเป็นเรื่องสำคัญกว่า เยาวชนเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องสิทธิของพวกเขาที่จะอาศัยอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขดังเช่นบรรพบุรุษในอดีตก่อนที่จะมีการทำลายทรัพยากรโลกด้วยอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลกที่มนุษย์ได้เผชิญตลอดมา นับตั้งแต่ ฝนแล้ง น้ำท่วม พายุเฮอริเคน โลกร้อน ขยะล้นโลก ฯลฯ ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกนั้นจึงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อีกต่อไป เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญญาที่มนุษย์สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่กลายเป็นปัญหาซับซ้อนที่คนทั้งโลกต้องร่วมกันแก้ไข เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยต่อคุกคามต่อความคงอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก (Existential Threat) ซึ่งไม่ว่าคนรวยหรือคนจนและไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลกก็ตามจะได้รับผละกระทบกันทั่วหน้า
การประท้วงในครั้งนี้น่าจะเป็นการประท้วงด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะมีการจัดการประท้วงถึง 153 ประเทศพร้อมกันแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นในโลกนี้ถึง 2,500 กิจกรรมด้วยกัน โดยเริ่มประท้วงในวันที่ 20 กันยายนและวันที่ 27 กันยายน 2562
ทำไมต้องประท้วงโลกร้อน ?
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆจากผลพวงของการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยที่พัฒนาขึ้นโดยไม่ใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นภาระที่โลกนี้ต้องรองรับและมักลืมไปว่า โลกมีการควบคุมตัวเองตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการควบคุมอุณหภูมิในห้องด้วยเครื่องปรับอากาศและการควบคุมตัวเองของโลกนั้นมีขีดจำกัด เมื่อใดก็ตามที่กลไกการควบคุมโดยธรรมชาติของโลกถูกบิดเบือนไปด้วยน้ำมือมนุษย์ โลกก็อาจเข้าสู่ภาวะวิบัติ ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับน้ำมือมนุษย์อีกเช่นกัน
ปัญหาภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช้ปัญหาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่คนทั้งโลกต้องรับรู้และร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว พร้อมทั้งสร้างความตระหนักว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกคือความจริงที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ ที่สำคัญคือต้องหยุดความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโลก เช่น
- โลกนี้มีทรัพยากรที่ไม่มีวันใช้หมด
- โลกนี้สามารถซึมซับมลพิษต่างๆได้อย่างไม่จำกัด
- โลกนี้ยังมีความหลากหลายของธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลาย
- มนุษย์สามารถทดแทนธรรมชาติที่เกิดขึ้นในโลกด้วยเทคโนโลยีได้
- ธรรมชาติและสังคมสามารถบริหารจัดการได้ด้วยวิธีที่ง่ายๆ
ความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งตระหนักว่าปัญหาการทำลายธรรมชาติจากผลพวงการผลิตทางอุตสาหกรรมของมนุษย์จะต้องได้รับการแก้ไข แต่ดูเหมือนว่าคนอีกจำนวนไม่น้อยเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้วหยิบยกพูดมากันและมักเพิกเฉยเมื่อมีการนำปัญหานี้มากล่าวถึงและหากมีใครหยิบยกมาพูดก็อาจถูกเหน็บแนมว่าเป็นพวกโลกสวยบ้างหรือพวกไม่มีอะไรจะทำบ้างหรือแม้แต่การดูแคลนต่อการประท้วงก็ยังมี
การลุกขึ้นมาประท้วงของเด็กทั่วโลกหลายครั้งที่ผ่านมารวมทั้งการประท้วงในครั้งนี้ทำให้วาระเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกลายเป็นวาระของโลกที่คนอีกจำนวนหนึ่งหันมาใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลากรในภาคเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศของโลกมีการตอบสนองต่อการเรียกร้องดังกล่าวอยู่พอสมควร
ดังนั้นการประท้วงในครั้งนี้จึงมีทั้งพนักงานนับพันจากบริษัท Amazon Twitter Google Microsoft Facebook Square และบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายแห่งเข้าร่วมในการประท้วงคราวนี้ด้วย เฉพาะบริษัท Amazon เพียงบริษัทเดียวมีพนักงานมากกว่า 1,700 คน เข้าร่วมขบวนประท้วง และดูเหมือนว่าบริษัท Amazon คือบริษัทเทคโนโลยีแห่งแรกที่พนักงานลุกขึ้นรณรงค์เพื่อให้บริษัทของตัวเองให้ความสำคัญต่อสภาวะแวดล้อมและใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นที่บริษัทมอบให้ กดดันให้บริษัท Amazon เปิดเผยรายงานว่า บริษัทมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกอย่างไร แม้ว่าการเรียกร้องพนักงานจะไม่ได้ผล แต่เจ้าของบริษัทก็มีท่าทีที่ดีโดยมีแผนตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยมาจากสินค้า(Carbon footprint) ของบริษัทที่ชัดเจนขึ้น นับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่พนักงานสามารถกดดันนายจ้างให้ปฏิบัติในสิ่งที่สังคมโลกเรียกร้องได้ในระดับหนึ่ง
การเรียกร้องของ เกรียตา ธุนเบิร์ก และเพื่อนๆ เยาวชนของเธอทั่วโลกต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก รวมทั้งเรียกร้องให้พวกผู้ใหญ่ออกมาจากพื้นที่แห่งความสุขสบายและมายืนเคียงข้างพวกเธอเพื่อเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกในครั้งนี้ จึงเป็นการเรียกร้องที่ทำให้ผู้ใหญ่ต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของโลกที่ผ่านมา ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า กำลังนำโลกนี้ไปสู่โลกที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน
การออกมาประท้วงของเด็กจะไม่ได้ผล หากผู้ใหญ่ทั้งหลายที่อยู่ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมละเลยต่อความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและเป็นที่คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกครั้งนี้จะสามารถหาข้อยุติในทางบวก เพื่อให้เยาวชนของทุกประเทศมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความหวังซึ่งเป็นโลกในอนาคตที่พวกเขาควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกเอง
ภาพประกอบ https://www.wired.com/story/tech-workers-global-climate-change-strike/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/