เมกะโปรเจคเขาโกงอย่างไร (1)
"...โดยมากเป็นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ก็เป็นที่หมายตาของคนละโมบที่จ้องกอบโกย โดยมักมีพฤติกรรมฉ้อฉลคล้ายกัน แต่รายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ การแข่งขันและสถานการณ์การเมือง โดยเครือข่ายคนโกงจะพยายามเข้าแทรกแซงในทุกขั้นตอนหลักๆ..."
โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น
“จัดซื้อจัดจ้าง – การร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน – หารายได้จากทรัพยากรของรัฐ เช่น สัมปทาน”
โดยมากเป็นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ก็เป็นที่หมายตาของคนละโมบที่จ้องกอบโกย โดยมักมีพฤติกรรมฉ้อฉลคล้ายกัน แต่รายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ การแข่งขันและสถานการณ์การเมือง โดยเครือข่ายคนโกงจะพยายามเข้าแทรกแซงในทุกขั้นตอนหลักๆ
1. เขียนโครงการ เพื่อให้เกิดการลงทุนหรือทำโครงการและให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ
2. เขียนทีโออาร์ เช่น ล็อคสเปคสินค้า ทำให้ผู้แข่งขันบางรายได้เปรียบ ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมด้วยการปิดบังข้อมูลบางอย่างหรือกำหนดเงื่อนไขการเปิดซองและพิจารณาคุณสมบัติผู้ร่วมประมูล กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ลดการแข่งขัน
3. ขั้นตอนประมูล
3.1 ฮั้วประมูล ในลักษณะที่เป็นการกำหนดตัวผู้ชนะประมูล เพื่อให้ได้ราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อรัฐ เพื่อแบ่งเค้กหรือจัดสรรงานกรณีที่มีงานของรัฐที่ต้องมีการประมูลอยู่จำนวนมาก
3.2 เขียนสัญญา (Main Contract) เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะสามารถสอดแทรกรายละเอียดหรือเงื่อนไขต่างไปจากทีโออาร์ เปิดช่องให้มีการแก้ไขสัญญาในอนาคต ซ่อนปมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทำกำไร หรือเอาเปรียบรัฐมากขึ้นจนอาจเสียค่าโง่ก็ได้
4. บริหารสัญญา ระหว่างดำเนินการตามสัญญาหรือระหว่างการก่อสร้าง เช่น เปลี่ยนแบบ เพิ่ม-ลดงาน ผลักภาระงานให้เป็นของรัฐ ขยายเวลาดำเนินงาน การยอมรับงานคุณภาพต่ำกว่าที่ควรเป็น หากเป็นโครงการประเภท Turn Key หรือ Design and Built ยิ่งมีความเสี่ยงสูง
5. บริหารสัญญาตลอดอายุสัมปทาน/โครงการ เช่น สร้างเงื่อนไขเพื่อขยายอายุสัมปทาน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขผลประโยชน์ ตีความสัญญาใหม่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเช่น กรณีกรรมสิทธิ์เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กรณีแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ