โซเชียลมีเดียหลังเลือกตั้ง : ตั้งสติก่อนเสพสื่อ
สื่อสังคมออนไลน์จึงไม่ต่างจากเชื้อโรคชนิดใหม่ที่ฝังตัวอยู่ในสังคม และพร้อมที่จะฉีกสังคมออกเป็นชิ้นๆได้อย่างง่ายดาย หากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ขาดภูมิคุ้มกันจากการใช้เทคโนโลยี ขาดความยับยั้งชั่งใจต่อการเสพสื่อ ขาดการใช้สติในการตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่ได้กลั่นกรอง
ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งของประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าว ภาพ บทความและ ข้อความ เกี่ยวกับการเมืองที่สื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งพฤติกรรมการเสพข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เอาเป็นเอาตายของคนไทย ผนวกกับข้อความที่แสดงความเห็นต่อพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบซึ่งมีตั้งแต่ เชียร์กันจนเกินขอบเขต ตลก เสียดสี แต่งเติม โต้ตอบกันด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ จนกระทั่งเข้าข่ายหยาบคายนั้น คือ ตัวเร่งทำให้คนจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
คนจำนวนไม่น้อย ปิดประตูรับฟังความเห็นด้านอื่นอย่างถาวร ในขณะที่คนจำนวนมากอยู่ในภาวะเครียดทางการเมือง และหลายคนเลือกที่จะหยุดเสพข่าวการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์
อินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่เต็มไปด้วยข่าวสารการเมืองจึง กลายเป็นเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติของกรรมมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะทำให้เกิด ความชอบ ความไม่ชอบ เบื่อหน่าย จนเกินเลยไปถึงเกลียดชังฝ่ายที่เห็นต่างกับตัวเอง แล้ว ยังสามารถสร้างกระแสความนิยมทางการเมืองและทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดแก่สังคมอีกด้วย
การใช้สื่อสังคมออนไลน์หลังจากการเลือกตั้งโดยทั่วไปมักพบปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดอย่างน้อยที่สุดสามปรากฏการณ์ด้วยกันคือ
1. การเผยแพร่ข่าวการเมืองทุกรูปแบบที่มากจนผิดปกติของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งการเสพข่าวที่มากเกินไปของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งที่มาจากจากแหล่งข่าวที่สามารถอ้างอิงได้และข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์ด้วยกันเอง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกิดอาการเครียด
หลายคนนั่งไม่ติดเมื่อเห็นฝ่ายการเมืองหรือนักการเมืองที่ตัวเองชอบเพลี่ยงพล้ำหรือไม่เป็นไปตามใจที่อยากให้เป็น
คนจำนวนหนึ่งรับไม่ได้กับข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ความเห็นทางการเมืองที่ไม่เข้าข้างตัวเองจนต้องออกไปจากลุ่มหรือบางคนถูกขับออกจากกลุ่มเพราะเผยแพร่ความเห็นที่คนในกลุ่มไม่ชอบหรือไม่ถูกใจ
2. ความรู้สึกและอารมณ์ คือ สิ่งที่มักจะถูกแสดงออกบนสื่อสังคมออนไลน์เสมอหลังทราบผลการเลือกตั้ง สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นเสมือนสื่อที่ใช้ระบายอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้สื่อให้ผู้คนได้รับรู้ในวงกว้าง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในบางประเทศจึงมักใช้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ในการวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกของผู้คนหลังจากการเลือกตั้ง
ความรู้สึกของผู้คนที่แสดงออกบนสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลังเลือกตั้ง มักถูกจะแบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ ความรู้สึกเป็นกลาง ความรู้สึกด้านลบ และความรู้สึกด้านบวก
จากข้อมูลการวิเคราะห์อารมณ์ของคนอเมริกันในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในปี 2016 หลังประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ผ่าน Facebook และ Tweeter จำนวน 16 ล้านข้อความพบว่า ประชาชนอเมริกันแสดงออกถึงความรู้สึกเป็นกลางมากที่สุดและแสดงความรู้สึกด้านลบมากกว่าความรู้สึกด้านบวก
ส่วนความรู้สึกของคนไทยหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมายังไม่พบข้อมูลการวิเคราะห์ในลักษณะดังกล่าว แต่จากข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆรวมทั้งข้อมูลที่สื่อหลักนำมาขยายความ เชื่อได้ว่า ความรู้สึกในทางลบของคนไทยหลังทราบผลการเลือกตั้งน่าจะมีมากกว่าความรู้สึกในทางบวก ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะมาจากกองเชียร์ฝ่ายใดก็ตาม
สำหรับอารมณ์ของประชาชนหลังจากทราบผลการเลือกตั้งนั้น นักวิเคราะห์ข้อมูลมักแบ่งอารมณ์ของคนออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ความเบิกบานใจ ความเศร้า ความน่ารังเกียจ ความโกรธ ความประหลาดใจ และความกลัว
จากการวิเคราะห์ข้อมูลหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปี 2016 พบว่า อารมณ์ด้านลบ ซึ่งได้แก่ ความน่ารังเกียจ ความเศร้า ความกลัว ซึ่งเป็นอารมณ์ในทางลบมีสูงกว่าอารมณ์ในด้านความเบิกบาน ส่วนอารมณ์โกรธและประหลาดใจนั้นมีตัวเลขต่ำกว่าอารมณ์อื่นๆ อย่างไรก็ตามยังไม่พบข้อมูลการวิเคราะห์อารมณ์ของคนไทยหลังการเลือกตั้งเช่นกัน แต่จากข้อมูลเท่าที่พบตามสื่อสังคมออนไลน์หลายประเภทในหลายๆกลุ่มของคนไทย เชื่อได้ว่า อารมณ์ที่แสดงออกของคนไทยไม่น่าจะแตกต่างจากอารมณ์ของคนอเมริกันมากนัก
3. สิ่งที่มักปรากฏชัดบนสื่อสังคมออนไลน์ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งคือ ปฏิกิริยาห้องเสียงสะท้อน (Echo chamber effect) ซึ่ง เกิดจากการนำข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ไปเผยแพร่ซ้ำขยายความต่อ ในกลุ่มของตนเอง ปิดประตูการรับฟังความเห็นต่าง จนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อฝังใจในกลุ่มจนยากที่จะหาเหตุผลใดๆมาลบล้างความเชื่อนั้นได้
ปฏิกิริยาห้องเสียงสะท้อนบนสื่อสังคมออนไลน์สามารถนำไปสู่ความพึงพอใจพรรคการเมือง การแบ่งขั้วทางการเมืองและความเชื่ออย่างสุดโต่งทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่ยาก
การเสพสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงเลือกตั้งจึงเป็นความอ่อนไหวของสังคม เพราะข้อความต่างๆที่เผยแพร่ออกไปนั้น มีทั้งความจริง ความเท็จ และอาจเป็นข้อมูลที่ถูกปรุงแต่งโดยคนที่เราไม่รู้จักเพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่ง
สื่อสังคมออนไลน์จึงไม่ต่างจากเชื้อโรคชนิดใหม่ที่ฝังตัวอยู่ในสังคม และพร้อมที่จะฉีกสังคมออกเป็นชิ้นๆได้อย่างง่ายดาย หากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ขาดภูมิคุ้มกันจากการใช้เทคโนโลยี ขาดความยับยั้งชั่งใจต่อการเสพสื่อ ขาดการใช้สติในการตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่ได้กลั่นกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วาทะกรรมทางการเมืองที่ เผ็ดร้อน ถากถาง หรือแม้แต่บิดเบือน จากฝ่ายการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง อาจซ้ำเติมความอ่อนไหวต่อผู้เสพสื่อสังคมออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
อารมณ์พลุ่งพล่านของคนบางกลุ่มที่เกิดจากการเสพสื่อสังคมออนไลน์มากจนเกินไปนั้น ไม่มีใครช่วยทำให้สงบลงได้นอกจากตัวของผู้เสพสื่อเอง เราอาจต้องอดทนต่อความเห็นต่าง หากประสงค์จะอยู่ในโลกสังคมออนไลน์ต่อไป
เราอาจต้องขอตัวอย่างสุภาพออกจากกลุ่มสังคมออนไลน์ในช่วงสั้นๆ เพื่อลดความเครียดทางการเมือง เราอาจต้องใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆเพื่อให้การเสพข่าวสารทางการเมืองน้อยลงหรือแม้แต่ต้องปิดสวิทซ์ตัวเองจากสื่อสังคมออนไลน์ชั่วคราว เพื่อเลือกที่จะอยู่กับโลกแห่งความจริง มากกว่าการหมกมุ่นกับการเสพข่าวสารการเมืองอยู่แทบทุกนาทีจนถูกครอบงำโดยสื่อสังคมออนไลน์และนำไปสู่ภาวะเครียดทางการเมืองโดยไม่รู้ตัว
ภาพประกอบ https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&biw=963&bih=485&tbm=isch&sa=1&ei=fHmdXMuUAcndvAT6_4egBg&q=thailand+political+stress+after+election&oq=thailand+political+stress+after+election&gs_l=img.3...15766.18826..19788...0.0..0.91.648.9......0....1..gws-wiz-img.Yxecxxk1ehA#imgrc=XMlXJDcKtaGIRM: