ดร.วิรไท ชี้ 4 ความท้าทาย -อุปสรรคฉุดรั้งศก.ไทย
"เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก ไม่จำเป็นต้องมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก คงดีกว่าถ้าเกษตรกรไทยสามารถเพิ่มคุณภาพจนสร้างความแตกต่างของผลิตผลทางการเกษตรจำหน่ายได้ราคาสูง มีกำไรและเงินออม โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบฯ จำนวนมากเข้าพยุงราคาสินค้าเกษตรในทุกฤดูกาลเพาะปลูก หรือคงดีกว่าถ้าเราดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงมีอำนาจซื้อสูงเข้ามาในประเทศได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวในระยะยาว"
วันที่ 5 มีนาคม 2562 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ ถนนราชดำริ
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง"
ดร.วิรไท กล่าววถึงโลกกำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมมากจากหลายปัจจัยและคาดเดาได้ยากขึ้น ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเช่นกัน ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ไปเราจะเลือกตั้งกันอีกครั้ง หลายท่านอาจคิดว่าผมจะมาพูดเรื่องเศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญกว่า คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว
"เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ท้าทายยิ่ง"
ดร.วิรไท กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใน 3 ส่วนด้วยกัน เริ่มจากมองการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตามด้วยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวสู่โลกยุคใหม่ และจบลงด้วยโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่ต้องร่วมกันหาคำตอบและร่วมกันแก้ไข เพื่อที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกใหม่ได้อย่างเท่าทัน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก รายได้ต่อหัวเพิ่มจากประมาณ 140,000 บาทต่อปีในปี 2551 โตขึ้นร้อยละ 50 มาอยู่ที่ 220,000 บาทต่อปีในปี 2560 โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ โครงสร้างการส่งออกของเราพัฒนาไปพอสมควร จากที่เราเคยส่งออกเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 ปีที่แล้วเราส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นมาก ในส่วนของภาคเกษตร เราส่งออกสินค้าเกษตรพื้นฐานในสัดส่วนที่น้อยลง และหันมาส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ภาคการท่องเที่ยวเติบโตสูงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงแค่ 15 ล้านคนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาเป็น 38 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า แน่นอนว่าเศรษฐกิจภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดีได้ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศของเราเติบโตดีขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ก็นับว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านต่างประเทศ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มาก ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมที่ทำสัญญาซื้อไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีที่แล้วเกินดุลถึง 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่าร้อยละ 7 ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันถึง 5 ปี
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรามีกันชนรองรับความผันผวนจากนอกประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้น
สำหรับเสถียรภาพในประเทศก็ต้องนับว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ เศรษฐกิจไทยไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่วนเสถียรภาพด้านการคลังก็ยังอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องก็ตาม สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังต่ำกว่าหลายประเทศ
นอกจากนี้ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงินก็อยู่ในเกณฑ์ดี ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูง มีสัดส่วนเงินสำรองสำหรับดูแลหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น การบริหารความเสี่ยงและการบริหารสภาพคล่องดีขึ้นมาก เชื่อได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยได้ ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในหลายมิติ เศรษฐกิจไทยจึงสามารถรับมือและฟื้นตัวจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองก็ตาม เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
สัญญาณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการปรับตัวดีนั้น แต่มีสัญญาณหลายอย่างที่เราต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องศักยภาพของระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อรายได้ คุณภาพชีวิตและความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว
ถ้าเรามองย้อนกลับไปไกลกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเคยโตได้เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 4.8 ต่อปี ในช่วง 2542-2551 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงร้อยละ 3.8 ต่อปี และต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะข้อจำกัดจากโครงสร้างประชากร การจ้างงานของไทยเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ต่อปี ในช่วง 10 ปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 แต่หลังจากนั้นกลับหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.1 ต่อปี จำนวนคนไทยในวัยแรงงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 2555 และกำลังลดลงทุกปี
"หากเรายังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันระบุปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ให้ชัดเจนและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง"
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่ดี จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 มิติสำคัญ คือ
มิติแรก เศรษฐกิจจะต้องมีผลิตภาพ (Productivity) ดี และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
มิติที่สอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะต้องกระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนในวงกว้าง (Inclusivity)
และมิติที่สาม เศรษฐกิจจะต้องมีภูมิต้านทาน (Immunity) ที่ดี ไม่มีจุดเปราะบางที่จะสร้างปัญหาหรือนำไปสู่วิกฤตได้ในอนาคต
"ผมจะขอพูดถึงความท้าทายหลักๆ เกี่ยวกับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในสามมิตินี้"
ดร.วิรไท กล่าวขยายความถึงความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติแรก คือ ด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะกำหนดศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ
ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เราพบว่าผลิตภาพที่ทรงตัวนี้เกิดจากสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 4 เรื่องหลักๆ
ประการแรก แรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้น (Labor allocation) แรงงานถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำที่สุด การผลิตภาคเกษตรกรรมยังขาดการพัฒนาผลิตภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในวงกว้าง นโยบายภาครัฐที่ผ่านมามักจะเข้าไปช่วยเหลือโดยเน้นการดูแลราคาสินค้าเกษตร การประกันรายได้ การให้เงินอุดหนุน หรือการพักหนี้เกษตรกร
นโยบายลักษณะนี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในเศรษฐกิจชนบทได้ดีในระยะสั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาผลิตภาพของภาคเกษตรในระยะยาว และกลับส่งผลข้างเคียงโดยฉุดรั้งแรงงานให้ทำการเกษตรแบบเดิมๆ มากกว่าที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพหรือย้ายไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่า
ประการที่สอง แรงงานไทยมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Labor mismatch)
จากที่ ธปท. เดินสายพบปะกับภาคธุรกิจมากกว่า 800 รายต่อปี เราพบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคลำดับต้นๆ ของการดำเนินธุรกิจ และแน่นอนว่าการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจต่างชาติในการตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย สาเหตุหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากระบบการศึกษาไทยที่ไม่สามารถผลิตแรงงานออกมาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้ แรงงานที่จบการศึกษาออกมามักจะทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมา
นอกจากนี้ แรงงานไทยยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างจริงจังตลอดช่วงชีวิตของการทำงาน แรงงานจำนวนมากยังทำงานแบบเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ แม้ว่าจะผ่านการทำงานมาหลายปี
สอดคล้องกับงานศึกษาของ ธปท. ที่พบว่าโครงสร้างอาชีพของคนไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
ประการที่สาม การลงทุนของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เราเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ระดับการลงทุนที่แท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมซึ่งสำคัญมากสำหรับการช่วยเพิ่มผลิตภาพกลับลดลงมากในช่วงหลัง
นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ส่วนแบ่งเงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศ (Net FDI) จากเงินลงทุนทั้งโลกลดลง เมื่อเทียบระหว่างช่วงทศวรรษก่อนและหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 ยิ่งกว่านั้น งานวิจัยยังพบว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสื่อมลงไป ซึ่งไม่ได้สร้างผลิตภาพให้เพิ่มขึ้นมากนัก
ประการที่สี่ ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจากกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่มีจำนวนมากและล้าสมัย กฎระเบียบข้อบังคับเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
งานวิจัยของ TDRI ชี้ว่า ทุกวันนี้เรามีกฎหมายและกฎระเบียบรวมแล้วกว่า 100,000 ฉบับ มีกฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับบริบทของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันและโลกในอนาคต โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing economy) และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
"กฎเกณฑ์บางเรื่องซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันเองเนื่องจากถูกกำหนดจากหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจร้านค้าปลีก อาจจะต้องขออนุญาตหน่วยงานราชการมากถึง 8 หน่วยงาน"
ในปีที่ผ่านมาไทยได้รับการจัดอันดับจาก World Economic Forum (WEF) ว่ามีคะแนนด้านภาระทางกฎระเบียบที่แย่ลงจากเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งอันดับของเราด้านนี้ตกลงมาอยู่ที่ 58 ของโลก ตามหลังหลายประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และลาว
ดร.วิรไท กล่าวอีกว่า ความท้าทายทั้งสี่ประการข้างต้น ทั้งด้านแรงงาน การลงทุน และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งพัฒนาการด้านผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเรามองไปในอนาคต คนไทยในวัยทำงานจะมีจำนวนลดลง ในขณะที่แต่ละคนต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น ทางเดียวที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้คือต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพในทุกภาคของระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น และสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้น
ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สอง คือความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
"เรามีปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึงต่อเนื่องมานาน ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มีสินทรัพย์สูง โดยเฉพาะเจ้าของทุนขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถที่จะทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างภาษี โครงสร้างการใช้จ่ายภาครัฐ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่ฝังตัว อยู่ในทุกระดับ ในภาคธุรกิจ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจอย่างรุนแรง เราพบว่าธุรกิจ SMEs ในภาคการค้าและพาณิชยกรรมในต่างจังหวัด มีสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสภาวะทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันที่ได้เปรียบกว่ามากจากทั้งเรื่องอำนาจต่อรอง ระบบโลจิสติกส์ ตราสินค้า และต้นทุนทางการเงิน
ปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นสำหรับ SMEs ที่ตั้งอยู่ในเมืองรองเนื่องจากตลาดเมืองรองมีขนาดเล็กกว่าเมืองใหญ่ และในช่วงหลัง บริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศได้รุกเข้าไปขยายธุรกิจในเมืองรองมากขึ้น"
งานศึกษาของ ธปท. พบว่า SMEs ในเมืองรอง ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่รุนแรงมากกว่า SMEs ในเมืองใหญ่มาก เพราะนอกจากขนาดของตลาดจะจำกัดแล้ว ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัด อีกหลายด้าน ตั้งแต่ คุณภาพแรงงาน ต้นทุนค่าขนส่ง ไปจนถึงบริการสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจไทย ยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายภาคเศรษฐกิจเราพบว่า ผลิตภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรถึง 9 เท่า ในภาคอุตสาหกรรมด้วยกันเองก็มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นเดียวกัน
งานศึกษาของ ธปท. พบว่า ผลิตภาพของโรงงานระดับหัวแถวหรือ percentile ที่ 100 จะสูงกว่าโรงงานในระดับ percentile ที่ 75 ถึง 2 เท่า และสูงกว่า percentile ที่ 50 ถึง 7 เท่า ความแตกต่างด้านผลิตภาพนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำไรและโอกาสในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ส่งผลให้ค่าตอบแทนของลูกจ้างในบริษัทที่อยู่หัวแถวสูงกว่ากับบริษัทอื่นมากด้วย
นอกจากความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจแล้ว ความเหลื่อมล้ำของภาคครัวเรือนก็เป็นปัญหารุนแรงของสังคมไทย ในปีที่แล้ว WEF จัดอันดับให้ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมากที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 97 จาก 106 ประเทศ ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินนี้ได้ส่งผลไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
งานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบว่า ครัวเรือนไทยที่มีฐานะดีสามารถส่งลูกหลานเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงได้มากกว่าครัวเรือนยากจนมากถึง 3 เท่า และนักเรียนในเมืองใหญ่มีโอกาสสอบได้คะแนนสูงกว่านักเรียนในเมืองรอง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ทำให้เยาวชนจากครัวเรือนยากจนขาดโอกาสสำคัญที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองและครอบครัว และจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลเสียต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย
คนส่วนใหญ่แก่ก่อนรวย
ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สาม คือภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทย
แม้ว่าภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจัดว่าค่อนข้างดี แต่ในระดับครัวเรือนนั้นถือว่า ยังเปราะบางมากจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนของเรามีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 77.8 ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับเรา ถ้าดูรายละเอียดจะพบว่าเรามีสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูงด้วย และยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นจนถึงวัยใกล้เกษียณ ครัวเรือนไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนมากขึ้นเพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย
โดยผลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนตั้งแต่หลายปีก่อน พบว่าคนไทยราว 3 ใน 4 ไม่สามารถออมเงินได้ในระดับที่ตั้งใจไว้สำหรับการเกษียณอายุ และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนการออมอย่างเป็นรูปธรรมหรือกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางแผนการออม ถ้าครัวเรือนไทยไม่สามารถพึ่งพาการออมของตัวเองได้แล้ว ท้ายที่สุดจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของภาครัฐ และบั่นทอนภูมิต้านทานด้านการคลังต่อไป
นอกจากภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ภาครัฐยังจะมีภาระด้านประกันสังคม รายจ่ายประจำที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการขยายบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานราชการอีกมาก มีภาระเงินอุดหนุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมไปถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้นๆ ประมาณการฐานะการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณ 12 ปี จึงจะเริ่มมีงบประมาณสมดุลได้
ภูมิต้านทานด้านการคลังต่ำ
"เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะว่าวันนี้ต้องถือว่าระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับศักยภาพแล้ว แต่ฐานะการคลังของเรายังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล"
ภูมิต้านทานด้านการคลังของเราอาจจะต่ำกว่าที่หลายคนคิดมาก การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดขนาดของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้ว ภูมิต้านทานด้านการคลังที่เราหวังว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย จะกลายมาเป็นตัวปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต
ความท้าทายเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ผมได้กล่าวไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภาพ การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และภูมิต้านทาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเชื่อว่าทุกท่านเคยได้ยินปัญหาเหล่านี้กันมาแล้วทั้งสิ้น แต่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้อย่างจริงจังและรอบด้านเป็นความท้าทายสำคัญที่เราไม่ค่อยพูดถึงกันมากเท่าไหร่ ซึ่งผมคิดว่าเราจะต้องร่วมกันมองให้ไกลและคิดร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อยใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่
เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและต่อการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ เมื่อหลายปีก่อน นาย Gordon Moore ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท intel กล่าวไว้ว่า “ทุกๆ 18 เดือน คอมพิวเตอร์จะประมวลผลได้เร็วขึ้น 2 เท่า” คำพูดดังกล่าวยังเป็นจริงอยู่ แม้ว่าคอมพิวเตอร์ในวันนี้จะมีความสามารถในการประมวลผลดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลายเท่าตัวแล้วก็ตาม โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่เราใช้อยู่ก็มีความสามารถประมวลผลเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเมื่อ 5 ปีก่อน ในโลกยุคใหม่ บริษัท Tech firm ได้กลายเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (market capitalization) สูงอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ Tech firm ไม่ได้ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเข้าไปให้บริการอีกหลายประเภททั้งบริการทางการเงิน
บริการด้านการท่องเที่ยว การศึกษา ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจประเภทต่างๆ บางลงมาก เทคโนโลยียังได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้หลายคนรับข่าวสารจากสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ต่างๆ เป็นหลัก การสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น e-commerce หรือ social commerce เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้านอาหารหลายแห่งขายอาหารผ่าน delivery platform เป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เร่งให้กระแสโลกาภิวัตน์รุนแรงขึ้น เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเลือนรางลง ทุกคนบนโลกสามารถเข้ามาสู่สนามการแข่งขันบน e-commerce platform ที่ไร้พรมแดน ในโลกยุคใหม่นี้การแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพสินค้าจะรุนแรงและหลีกเลี่ยงได้ยากขึ้น ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้เล่นจากทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองให้สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก
ประการที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate change) จากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น เราต้องเผชิญกับ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น ในช่วง 30 ปีที่แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญ่มักเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งในรอบ 10 ปี แต่ปัจจุบันกลับเกิดถี่มากขึ้นถึง 7 ครั้งในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นแทบทุกปี เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเกษตรที่ต้องเผชิญกับความเสียหายของผลผลิตถี่ขึ้น นอกจากนี้ อุณหภูมิของโลกที่ปรับสูงขึ้นเร็วได้ส่งผลให้เกิดโรคพืชและสัตว์ชนิดใหม่ๆ และจะกระทบต่อผลิตภาพของภาคเกษตรในระยะอันใกล้ หากไม่เตรียมตัวไว้อย่างเท่าทัน ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกษตรกร ซึ่งเดิมมีฐานะทางเศรษฐกิจเปราะบางอยู่แล้ว อ่อนไหวมากขึ้นและมีภูมิต้านทานต่ำลง
ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ประชาคมโลกตื่นตัวและสนใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นในปัจจุบัน สังเกตได้จากมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานด้านการเกษตร มาตรฐานด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น ลดการใช้พลาสติก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการจะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตและรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงเพิ่มทางเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตลาดมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก
ประการที่สามคือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสการต่อต้านโครงสร้างเชิงสถาบัน (Institution) ที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเชิงสถาบันระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ วันนี้เราเห็นความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ หรือล่าสุดระหว่างอินเดียและปากีสถาน หรือแม้กระทั่งการประท้วงทางการเมืองในฝรั่งเศสและ Brexit ที่สะท้อนการต่อต้านโครงสร้างเชิงสถาบันแบบเดิม
ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะปะทุเป็นปัญหารุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดเงินตลาดทุนโลกและราคาพลังงาน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์เหล่านี้สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลาและไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้อย่างวางใจ
วิธีเดียวที่จะทำให้รายได้คนไทยเพิ่มสูงขึ้น
ความท้าทายเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยและการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ภายใต้การแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตได้ด้วยแรงส่งแบบเดิมๆ ของโลกยุคเก่าที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะถูกบั่นทอนได้อย่างรุนแรงถ้าเราไม่ร่วมกันปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยให้เตรียมรับกับโลกยุคใหม่ได้อย่างเท่าทัน การที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพอย่างจริงจัง การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รายได้ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในโลกใหม่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และจะทิ้งผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือขาดความรู้ทางเทคโนโลยีไว้ข้างหลัง (Digital divide)
ผมคิดว่าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 เรื่องต่อไปนี้
การเตรียมพร้อมเรื่องแรก คือเราจะต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ SMEs การขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและผลิตภาพจะต่างจากการขับเคลื่อนด้วยปริมาณ ที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเพิ่มปริมาณเพราะคิดว่า ทำได้อย่างรวดเร็วและสามารถแสดงเป็นผลงานได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่อาจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้มากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
"เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก หรือไม่จำเป็นต้องมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก แต่คงดีกว่าถ้าเกษตรกรไทยสามารถเพิ่มคุณภาพจนสร้างความแตกต่างของผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง มีกำไรและเงินออมที่เกิดจากการทำงานด้วยตนเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเข้าพยุงราคาสินค้าเกษตรในทุกฤดูกาลเพาะปลูก หรือคงดีกว่าถ้าเราสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีอำนาจซื้อสูงเข้ามาในประเทศได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างผลเสียให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาว"
"การขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและผลิตภาพนี้ต้องการการทำงานในระดับจุลภาคอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ความเข้าใจปัญหา และข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ ต้องการความเพียร ความอดทน และการเสียสละผลประโยชน์ในช่วงสั้นๆ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ และต้องการการแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบนมาเสริมการขับเคลื่อนนโยบายที่เน้นจากบนลงล่าง
เราต้องตระหนักว่าถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพและผลิตภาพอย่างเพียงพอแล้ว เราจะใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากไปสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องแก้ไขจะถูกปล่อยทิ้งไว้
ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เราอาจจะไม่สามารเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์ ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว"
ทักษะงานโลกเก่าทยอยหมดความสำคัญ
การเตรียมพร้อมเรื่องที่สอง คือเราต้องเร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย 38 ล้านคนที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คนไทยกำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันจากประเทศอื่นที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมากกว่าเรามากทักษะงานของโลกเก่าที่แรงงานไทยคุ้นเคยจะทยอยหมดความสำคัญลงเรื่อยๆ
บริษัท McKinsey ได้ประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีแรงงานทั่วโลกราวร้อยละ 14 ที่จะถูกเทคโนโลยีดิจิทัลระบบ automation และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่ สัดส่วนนี้จะสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่แรงงานมีคุณภาพต่ำ และมีลักษณะงานซ้ำๆ ในกระบวนการผลิต ปัญหาทักษะแรงงานไทยที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้างจะทวีความรุนแรงและเห็นชัดมากขึ้นในโลกยุคใหม่ และยังส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่ต้องการแรงงานฝีมือที่เพิ่มขึ้นมาก
ที่ผ่านมา สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผมเห็นด้วยว่าการปฏิรูปการศึกษาเพื่อผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นความจำเป็นประการหนึ่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว โจทย์ที่อาจจะสำคัญกว่าคือเราจะยกระดับคุณภาพของแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน 38 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 60 ของประชากรไทยได้อย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น หลายประเทศได้วางแผนพัฒนาทักษะสำหรับโลกยุคใหม่ให้กับแรงงานของตนอย่างจริงจัง
เรื่องการยกระดับคุณภาพของแรงงานนี้เราไม่ค่อยพูดถึงกันมากเท่าไหร่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และตัวแรงงานเอง เนื่องจากโลกข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่สำคัญประการหนึ่ง คือทักษะของการเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ง่ายแต่จำเป็นยิ่งสำหรับคนไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
การเตรียมพร้อมเรื่องที่สาม คือเราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร จะทำอย่างไรที่จะให้ทรัพยากรย้ายออกจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าได้เหมือนในช่วง 20-30 ปีก่อน งานวิจัยของ ธปท. พบว่าในอดีตการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเฉพาะจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีบทบาทในการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น นอกเหนือจากภาคเกษตรแล้ว แรงงานในภาครัฐก็เป็นโจทย์ใหญ่เช่นกัน
"วันนี้บุคลากรภาครัฐมีมากกว่า 2 ล้านคนและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากจะทำให้งบประมาณด้านบุคลากรของรัฐบาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีสัดส่วนงบประมาณด้านบุคลากรสูงแล้ว"
การจัดอันดับ Worldwide Governance Indicators (WGI) ของ World Bank พบว่าภาครัฐไทยมีประสิทธิภาพที่ลดลงเรื่อยๆ ถ้าหากรัฐบาลสามารถตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐได้สำเร็จ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและล้าสมัย และปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้มีขนาดเล็กลง นอกจากประเทศจะได้ประโยชน์จากแรงงานที่ทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้นแล้ว ภาครัฐยังจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างภูมิต้านทานด้านการคลังเพื่อรองรับความผันผวนที่เราจะต้องเผชิญอีกมากในอนาคต
นอกจากนี้ เราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ก็ต่อเมื่อทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าทุน คน หรือที่ดิน สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่ายจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง จากธุรกิจที่ทรงๆ หรือไม่ประสบความสำเร็จไปสู่ธุรกิจที่กำลังเติบโต จากเศรษฐกิจในโลกยุคเก่าไปสู่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ ซึ่งเราจะได้ยินคำพูดของธุรกิจ start up อยู่เสมอว่า “fail fast, fail cheap and fail forward” หรือ เป็นการล้มที่จะลุกไปข้างหน้าได้เร็วด้วยต้นทุนต่ำ
การเคลื่อนย้ายทรัพยากรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ากฎระเบียบจำนวนมากของภาครัฐยังล้าสมัย และเป็นพันธนาการไม่สนับสนุนให้ธุรกิจไทยและคนไทยมีความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐอย่างจริงจังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากปัญหาต่างๆ ที่ได้พูดถึง เรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการแก้ไขอยู่หลายเรื่อง ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามีโจทย์ที่ท้าทายหลายด้านที่เชื่อมโยงกันไม่มีทางลัดที่จะแก้ไขเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่เกิดผลข้างเคียงไปสู่เรื่องอื่น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างหลายอย่างที่มีมาแต่เดิม การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ย่อมก่อให้เกิดผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสานประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปข้างหน้า เวลาที่เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปนี้ คำถามแรกที่คนส่วนใหญ่จะถามคือ ใครควรเป็นเจ้าภาพ หน่วยงานไหนของภาครัฐควรรับเป็นเจ้าภาพ แล้วเราก็มักจะจบลงด้วยคำตอบที่ว่าหาใครรับเป็นเจ้าภาพไม่ได้ จึงเดินหน้าต่อไปไม่ได้
"ผมคิดว่าเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม เราทุกคนควรจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามัวแต่คิดว่าคนอื่นต้องรับเป็นเจ้าภาพแล้ว ไม่มีทางที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย"
การเปลี่ยนแปลง mindset อันดับแรกที่ต้องเริ่มจากตนเองก่อนจึงสำคัญมาก เราทุกคนต้องตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มเปลี่ยนแปลง ด้วยตัวเองในวันนี้ เริ่มจากถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำได้ทำให้ผลิตภาพของเรา หน่วยงานของเรา และประเทศของเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพของงานที่เราทำอย่างไรบ้าง ธุรกิจของเราหรืองานของเรามีส่วนช่วยให้คนอื่นในสังคมได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่า เราจะลดการเบียดเบียนคนอื่นในสังคมได้อย่างไรทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ และเราจะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างไร
"ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับการถามตัวเองเป็นประจำ นอกจากจะทำให้เราพัฒนาไปข้างหน้าแล้ว จะช่วยสร้างพลังบวกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปข้างหน้าด้วย จะเป็นพลังบวกที่จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งความไว้วางใจนี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งน่าเสียดายว่าในช่วงที่ผ่านมาความไว้วางใจกันได้ลดน้อยลงในสังคมไทย จนส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก"
ดร.วิรไท กล่าวด้วยว่า สังคมใดก็ตามที่มีความแคลงใจต่อกันเป็นพฤติกรรมในสังคม สังคมจะเดินหน้าได้ยากมาก ยากที่คนจะยอมแลกผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ยากที่จะยอมแลกผลประโยชน์ของตนในระยะสั้นกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว การแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศจะต้องเผชิญกับแรงต้านตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ ยากที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปใดๆ ให้สำเร็จได้ การสร้างความไว้วางใจกันจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
"ผมคิดว่าการสร้างความไว้วางใจกันและการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน"