การปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ในการแพทย์: ผลกระทบที่เกิดในอเมริกา
"...ส่วนผลกระทบในผู้ใหญ่นั้น มีหลายการศึกษาที่เจาะลึกเรื่องนี้ โดยพบว่า หลังประกาศนโยบายปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ มีอัตราการโดนจับกุมเพราะครอบครองกัญชาโดยผิดกฏหมายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15-20 และมีอัตราของผู้ใหญ่ที่มีอาการเสพติดกัญชาครั้งแรกจนต้องนำส่งรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทั้งนี้ผลการศึกษามีลักษณะแนวโน้มตรงกันแทบทั้งสิ้น..."
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ปีนี้ (2018) ใน Neuropsychopharmacology Reviews (1) ซึ่งอยู่ในเครือวารสารวิชาการระดับโลกอย่าง Nature ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายการเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบตั้งแต่ปีค.ศ.2005-2011
จำนวนของการโทรแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์พิษวิทยาเนื่องจากเด็กที่แอบเสพกัญชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ในรัฐที่ประกาศปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ในช่วงปี 2005-2011 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในรัฐที่ประกาศปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ก่อนปี 2005
ทั้งนี้เด็กที่เสพกัญชาในเหล่ารัฐที่ประกาศนโยบายไปนานกว่า (ก่อนปี 2005) จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดผลข้างเคียงจากกัญชาที่รุนแรงกว่า และจำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการดูแลรักษามากกว่ารัฐที่เพิ่งประกาศนโยบายไป
ในเวลาต่อมา มีการศึกษาในช่วงปี 2009-2015 พบว่า รัฐโคโรลาโดซึ่งประกาศให้ใช้ทั้งทางการแพทย์ และเสพโดยเสรีนั้น มีอัตราการโทรแจ้งศูนย์พิษเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34 ในแต่ละปี โดยมากกว่ารัฐอื่นๆ ที่ไม่ได้ประกาศให้ใช้เสรี โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19 ต่อปี
ส่วนผลกระทบในผู้ใหญ่นั้น มีหลายการศึกษาที่เจาะลึกเรื่องนี้ โดยพบว่า หลังประกาศนโยบายปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ มีอัตราการโดนจับกุมเพราะครอบครองกัญชาโดยผิดกฏหมายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15-20 และมีอัตราของผู้ใหญ่ที่มีอาการเสพติดกัญชาครั้งแรกจนต้องนำส่งรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทั้งนี้ผลการศึกษามีลักษณะแนวโน้มตรงกันแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ต่างประเทศที่ใช้กัญชาเยอะๆ มักมีปัญหาเรื่องยาเสพติดอื่นๆ รุนแรงเช่น แอลกอฮอล์ ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาแก้ปวดประเภทอนุพันธุ์ของฝิ่นอย่างมอร์ฟีน เป็นต้น โดยเคยมีการพยายามนำเสนอว่า ประกาศปลดล็อคกัญชาแล้ว จะทำให้ประชาชนเสพติดยาเสพติดอื่นๆ ลดลง แต่สุดท้ายแล้วมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วน พบว่า การเข้าถึงกัญชา มิได้ทำให้เสพยาเสพติดอื่นๆ ลดลง แต่จะเป็นประตูนำไปสู่การเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆ ได้ โดยมีโอกาสถึงร้อยละ 44.7 ที่คนเสพกัญชาจะเสพติดยาเสพติดชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของชีวิต (2)
บทเรียนของอเมริกา...ประเทศไทยควรรับรู้ไว้ และเตรียมรับมือครับ
อ้างอิง:
1. Hasin DS. US Epidemiology of Cannabis Use and Associated Problems. Neuropsychopharmacology Reviews. 2018;43:195-212.
2. Secades-Villa R et al. Probability and predictors of the cannabis gateway effect: A national study. Int J Drug Policy. 2015 February;26(2):135-142.
ที่มา : Thira Woratanarat
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.honestdocs.co