ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ:ปักธงประชาธิปไตย เลือกตั้งแค่สมรภูมิแรก-สงครามอีกยาว?
“เป้าหมายคือการเป็นรัฐบาลหรือเปล่า ไม่ใช่ เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ อำนาจที่ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่รู้จะเอาไปทำไม ไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรี นึกออกไหม อำนาจที่ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมยักไหล่ จะร่วมรัฐบาลทำไม ถ้าร่วมรัฐบาล หรือธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี มันไม่ใช่ Destination (จุดหมายปลายทาง) แต่จุดหมายคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ หยุดรัฐประหารที่คนรุ่นเรา หยุดการเข่นฆ่าประชาชนที่คนรุ่นเรา สร้างสังคมที่ยืนหยัดสิทธิมนุษยชน นิติรัฐ คนทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย นี่คือการเปลี่ยนแปลง นี่คือเป้าหมาย ไม่ใช่การมีอำนาจ หรือเป็นนายกรัฐมนตรี”
เลยโค้งแรกของการเลือกตั้งที่ (น่า) จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 ใกล้เข้าสู่โค้งที่สองเต็มที ปี่กลองการเมืองระดมรัวกันคึกคัก พรรคการเมืองเก่า-ใหม่ ทยอยประชุมจัดตั้งกรรมการบริหารพรรค ทำนโยบายแจกแจงประชาชน แต่ยังถูกห้ามหาเสียงตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เหลือแนวร่วมอยู่ 2 กลุ่มต่อสู้กัน ได้แก่ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังชล และเครือข่ายอื่น ๆ กับ ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ นำโดย ‘พรรค 3 เพื่อ’ เพื่อไทย-เพื่อธรรม-เพื่อชาติ และอาจมี ‘ไทยรักษาชาติ’ เพิ่มเข้ามาในลิสต์ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ ‘เพื่อไทย’ พร้อมด้วยแนวร่วมอย่างพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ขณะที่ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนายัง ‘แทงกั๊ก’ ไม่เลือกข้าง
ที่ผ่านมาแนวร่วม ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ มีเพียง ‘พรรคอนาคตใหม่’ เพียงพรรคเดียวเท่านั้น ที่มอง ‘ข้ามช็อต’ ไปถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และเรื่องอื่น ๆ เพื่อนำ ‘ประชาธิปไตย’ กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง
@ถ้าพรรคหนุน คสช. ชนะ เสรีภาพถูกกด-ประชาชนจะลุกฮือ
“มันเป็นความฝันของพวกเรา ความฝันง่าย ๆ สร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศนี้ โดยไม่มีรัฐประหาร” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในชุดเสื้อโปโลสีเทา ติดโลโก้พรรค กางเกงสแล็ก รองเท้าหนัง นั่งไขว่ห้าง ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงเป้าหมายหลักในการตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา
นักธุรกิจฉายา ‘ไพร่หมื่นล้าน’ ขยายความว่า ปัญหาคือการจะทำให้ประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง คือต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ได้ อย่างไรก็ดีต่อให้ฝั่งประชาธิปไตยได้ 251 เสียง หรือ 376 เสียงในสภา ก็ยังยากที่จะทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนล็อคแก้ และเปลี่ยนแปลงลำบากมาก
“ต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยทำได้ 251 เสียง หรือ 376 เสียง ก็ยังยากในความหมาย คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องได้เสียง ส.ส. 20% จากฝ่ายค้าน และอีก 30% จาก ส.ว. จึงแก้ได้ แต่นั่นยังไม่จบ เพราะต้องฝ่าด่านศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก”
เขาประเมินสถานการณ์เลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า คสช. ในฐานะ ‘องค์กร’ อาจมลายหายไปหลังการเลือกตั้ง แต่ คสช. ในฐานะ ‘ระบอบ’ ยังอยู่กับเรา
“ถ้าเกิดว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ เรารู้ว่าเขาต้องการ เขาต้องพยายามมี ส.ส. อย่างน้อย 126 เสียง เพื่อบวกกับ ส.ว. ที่เขาแต่งตั้ง 250 เสียง เพื่อทำให้ตัวเองกลับมามีอำนาจได้ จุดนี้น่าเป็นห่วง เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุด 2-3 ครั้งหลัง ค่อนข้างฟรีและแฟร์ แม้ว่าการเลือกตั้งจะฟรีและแฟร์ ถูกต้องตามกฎหมาย ตามรัฐธรมนูญ แต่ ส.ส. 126 เสียงดังกล่าว ไม่ตอบเจตนารมณ์ของประชาชน ตรงนี้ต่างหากเป็นปัญหาที่คนไม่พูด”
เขาเชื่อว่า พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ถ้าไม่ ‘โกง’ อย่างมโหฬาร ไม่มีทางได้ ส.ส. มากถึง 251 เสียงหรือเกินครึ่งหนึ่งของสภา (500 ที่นั่ง) ดังนั้นหากมีการใช้ ส.ว. อีก 250 เสียง เพื่อให้ คสช. สืบทอดอำนาจแล้วกลับมาได้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลมีทางออก 2 ทาง
1.สิทธิและเสรีภาพประชาชนไทยจะถูกกดอีกนาน 2.ประชาชนจะไม่ยอม และบอกว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก ไม่ใช่เจตนารมณ์ของประชาชน
“ถ้าออกมาทางแรก ไม่ช้าก็เร็วยังไงก็ต้องเป็นทางที่สอง แต่ถ้าออกทางที่สองเลยก็ตัวใครตัวมัน”
ส่วนคำถามว่า หาก คสช. ใช้สูตรโดยรวม ส.ส. ให้เสียงเกินครึ่งหนึ่งเพื่อไม่ต้องใช้ ส.ว. มาร่วมโหวต จะเป็นไปได้หรือไม่ ?
เขายกกาแฟขึ้นจิบ ก่อนตอบว่า ไม่คิดว่าจะรวมกันได้ หรืออาจจะรวมกันได้ก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน แต่เชื่อว่าโอกาสที่จะรวมได้น้อยมาก
“เรามีการทำโพลภายในทุก ๆ 2 เดือน เราเห็นความเคลื่อนไหว ความคิดของประชาชน โพลที่ทำไม่ใช่แค่ 2-3 พันคน แต่ทำถึง 9 พันคน ใหญ่กว่าโพลของนิด้า หรือสวนดุสิตเสียอีก เราเห็นความเคลื่อนไหว โอกาสน้อยมากจริง ๆ ที่จะได้ 251 เสียง”
เมื่อถามถึงเรื่องการทำโพลของพรรคอนาคตใหม่ เขาบอกให้เราหยุดอัดเสียง และห้ามนำไปเขียน ก่อนอธิบายถึงที่มาที่ไปให้ฟัง สายตาเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในความ ‘แม่นยำ’ ของกระบวนการทำโพลของพรรคอนาคตใหม่ และมั่นใจว่าพรรคจะมีเก้าอี้ ส.ส. ในสภาแน่นอน
@ชู 3 ขั้นตอนนำประชาธิปไตยคืนสังคมไทย ไม่มีทางเลือกอื่นอีก
ธนาธร พูดถึงจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ว่า พรรคเรากำลัง ‘ชูธง’ ทำโร้ดแม็พนำไทยกลับสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน แม้เขาจะยอมรับว่าโอกาส ‘น้อยมาก’ ก็ตาม
“พูดตรง ๆ แบบไม่ปลอบใจตัวเอง โอกาสมันน้อยมาก แต่เคยทำได้มาแล้ว เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการร่วมรณรงค์ทั้งประเทศ กดดันนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกัน เราเคยทำได้มาแล้ว ถ้าประชาชนร่วมกันรณรงค์แข็งขันมากพอ และต้องมีความฝันเดียวกับเราที่อยากนำประชาธิปไตยยั่งยืนกลับสู่สังคมไทย ส่งผ่านอนาคตที่ไม่มีการรัฐประหาร ถ้ารวมกันหนักแน่น เสียงเราอาจกดดันฝ่ายค้าน หรือ ส.ว. ได้ ถ้ากระแสสังคมไปถึง ‘ธงเขียว’ ดังนั้นต้องดึงจิตวิญญาณของ ‘ธงเขียว’ กลับมา หลังการเลือกตั้งต้องดึงจิตวิญญาณตรงนี้ นี่คือวิธีเปลี่ยนผ่านทำให้สังคมกลับมาเป็นประชาธิปไตยโดยไม่เสียเลือดเนื้อ”
เมื่อถามว่า บริบทการเมืองไทยช่วงปี 2540 กับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม เขาระบุว่า มีอยู่ 3 ขั้นตอน
1.ฝ่ายประชาธิปไตยต้องได้ 376 เสียงหรือเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล อันนี้ชัดเจน นี่คือธงในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.
2.ต้องรณรงค์กับประชาชนให้หนักแน่น ถ้าจะต้องเคาะประตูบ้านทุกบ้านก็ต้องทำ ถามว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยต้องอธิบายกี่นาที มันใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นต้องรณรงค์ต่อเนื่อง แข็งขัน หลังการเลือกตั้งต้องรณรงค์ทันที ตรงนี้เป็นทางเลือกเดียว ไม่มีวิธีอื่นอีกแล้ว
3.เมื่อชักจูงประชาชนได้แล้ว ต้องร่วมกันส่งเสียงให้ดังกับคนทุกคนในสังคม ให้เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ แล้วขั้นสุดท้ายเพื่อให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างฉบับใหม่
อย่างไรก็ดีเขายอมรับว่า แม้จะจบ 3 ขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าประชาธิปไตยจะยั่งยืน เพราะอาจมีการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และมีวิธีเดียวที่จะหยุดรัฐประหารได้นั่นคือ ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร ขอครั้งเดียวจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก
“นี่เป็น 3 ขั้นตอนการนำประชาธิปไตยที่ยั่งยืนกลับไทย ถ้าไม่ทำตาม 3 ขั้นตอนนี้ ผมมองเห็นทางเดียวคือการเสียเลือดเสียเนื้อ การลุกฮือของประชาชน ไม่มีหนทางอื่นอีก”
“โร้ดแม็พพรรคอนาคตใหม่ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ขัดผลประโยชน์ผู้มีอำนาจ ผมพูดแบบนี้ทำให้สังคมเข้าใจว่า ผมกลายเป็นคนหัวรุนแรง หลายฝ่ายตราหน้าว่าผมหัวรุนแรง ทั้งที่เรื่องที่ผมพูดไม่มีอะไรรุนแรงเลย แค่สร้างประชาธิปไตย สร้างสังคมที่ยอมรับสิทธิมนุษยชน นิติรัฐ เป็นทางออกที่ไม่เกิดความขัดแย้งในอนาคต ถ้าไม่เกิดแบบนี้ สิ่งที่ผมไม่อยากเห็นมากที่สุดคือ การเสียเลือดเสียเนื้ออีก มีคนเสียเลือดเสียเนื้อไปมากแล้วในสังคมที่แลกมาซึ่งประชาธิปไตย”
@ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ปิดประตูชุมนุมจนถึงทางตันเรียกร้องทหาร
อย่างไรก็ดีปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยมันค่อนข้างน้ำเน่า และต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมาก ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะไม่เกิดการเมืองบนท้องถนน และนำไปสู่การรัฐประหารอีก ?
ธนาธร สลับขาอีกข้างมาไขว่ห้าง ท้าวแขนบนโต๊ะ อธิบายประเด็นนี้ว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ การเมืองน้ำเน่า กับทำอย่างไรถึงไม่เกิดความวุ่นวาย
1.การเมืองน้ำเน่า ถามว่า การเมืองที่ผ่านมา 86 ปีเศษน้ำเน่าไหม แล้วมันเป็นประชาธิปไตยแบบจริง ๆ กี่ปี น้อยมาก ต้องเปิดให้มันพัฒนาสิ เปิดให้เบ่งบานสิ เพราะมันถูกตัดตอนไปก่อนใช่หรือไม่ ถึงไม่เติบโต ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ ไม่เข้มแข็ง ดูที่อินโดนีเซียสิ หลังจากซูฮาร์โต (ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย) พ้นตำแหน่งไปเป็นอย่างไร มันเบ่งบาน ไม่มีใครตัดตอน ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ความเห็นต่างสามารถหาข้อสรุปได้ในประบวนการรัฐสภา เชื่อมั่นในเรื่องนี้สิ อย่าเชื่อว่าการเมืองมันน้ำเน่า มันไม่ใช่ อำนาจเป็นของประชาชนเมื่อไหร่ กลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่หน่วงรั้งสังคมไทยจะพยายามตัดตอน ดังนั้นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2475 มันไม่ใช่การเมืองน้ำเน่า แต่มันคือการไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน
2.ทำอย่างไรถึงไม่วุ่นวาย ต้องเอาทหารออกไปจากการเมืองให้ได้ คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่มากในสังคมไทย เสียหายมหาศาลทุกคนรู้ แต่การแก้ไขคอร์รัปชั่นด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยปัญหาใหญ่กว่าคอร์รัปชั่น ปัญหาคือการบอกว่า การชุมนุมนำไปสู่ความโกลาหล จะบอกว่าประชาชนคืนต้นเหตุ เป็นปัญหา การแทรกแซงของทหารคือคำตอบ มันไม่ใช่ ประเด็นคือมี ‘คนกลุ่มหนึ่ง’ รู้ว่า ถ้าผลักดันการชุมนุมไปถึงทางตันเมื่อไหร่ จะมีรัฐประหาร นี่ต่างหากเป็นโจทย์สำคัญ
“การชุมนุมด้วยตัวเอง แสดงจุดยืนทางการเมืองเป็นสิ่งสวยงาม แต่เพราะมีคนบางกลุ่มในสังคมรู้ว่า ถ้าชุมนุมทางการเมืองให้สุดโต่ง ทำให้สังคมถึงทางตัน จะเป็นเงื่อนไขไปสู่รัฐประหาร ถ้าคุณตัดทหารออกจากการเมืองไทยได้ ล้มล้างผลพวงรัฐประหารทั้งหมด จะไม่มีแบ็คอัพ การชุมนุมที่ไปถึงทางตันจะไม่เกิด เพราะทุกคนรู้ว่าไปถึงทางตันแล้วจะไม่ได้อะไร”
แม้พรรคอนาคตใหม่พยายามใช้การเมืองแบบใหม่ แต่พรรคเดิมยังใช้การเมืองแบบเก่าอยู่ เช่น การดูด ส.ส. ที่มีพลังมาก จะสู้ได้อย่างไร ?
ธนาธร ระบุว่า ก็สู้แบบนี้แหละ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะชนะได้ คือถ้าคุณสนใจคะแนนเสียงต้องแลกด้วยอะไร คุณต้องดึง ส.ส. ที่มีเสียงเยอะเข้าพรรค โดยเขาอาจไม่เชื่ออะไรเหมือนคุณก็ได้ ถูกไหม โจทย์ของการเคลื่อนไหวมวลชนทุกยุคสมัย ไม่ว่ามีอุดมการณ์แบบไหน เมื่อขยายไปเรื่อย อัตลักษณ์จะเล็กลงเรื่อยจนต้องยอมทิ้งบางอย่าง ท้ายที่สุดต้องลดจุดยืนจนไม่เหลือเลย เรื่องนี้สำคัญมาก นี่คือโจทย์ใหญ่ ทำอย่างไรที่จะเคลื่อนไหวหรือให้มวลชนเติบโต แต่อัตลักษณ์หรือแก่นความคิดยังคงอยู่ คำตอบคือไปช้า ๆ ทำงานทางความคิด
“เลือกตั้งครั้งนี้ โจทย์คือปักธงทางความคิดต่างหาก ถ้าเราทำให้คนเชื่อมั่นได้ รณรงค์อย่างหนักแน่นพอ คะแนนเสียงกับอุดมการณ์จะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยไม่ต้องประนีประนอมเพื่อให้มาซึ่งคะแนนเสียง นี่คือทิศทางของเรา ดังนั้นจะไปสู้กับการเมืองแบบเก่า มีนักการเมืองท้องถิ่นหน้าเดิม หัวคะแนน หรืออดีต ส.ส. เดิมที่มีเสียงเยอะได้ไง มีทางอื่นหรือเปล่านอกจากรณรงค์ หรือคุยกับประชาชนทีละคนว่า ทำไมต้องตั้งพรรคนี้ ไม่มีทางอื่น”
@ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มที่ไม่ ‘ปักธง’ ประชาธิปไตย-ปัดคุย ‘บิ๊ก’ นักการเมือง
แม้ ‘ธง’ ของพรรคอนาคตใหม่จะชัดเจนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-นำประชาธิปไตยกลับคืนมาอย่างยั่งยืน-เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคอนาคตใหม่จำเป็นต้องหาแนวร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในการ ‘ปัก’ ธงดังกล่าว
“ต้องเรียนว่าจนถึงวันนี้ ไม่เคยคุยกับคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) คุณอนุทิน (ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) คุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย) และคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งเลย”
เขาเลื่อนเก้าอี้เข้ามาใกล้โต๊ะมากขึ้น ก่อนยกมือไม้อธิบายว่า เราเป็นคนปักธงทางความคิด ดังนั้นแนวร่วมต้องมีธงเดียวกันเสียก่อน ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่กล้าพูด หรือไม่คิด หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่อาจวิจารณ์เขาได้ แต่วันนี้ไม่มีคนปักธงว่า สังคมต้องกลับสู่การเป็นประชาธิปไตย ต้องไม่มีการทำรัฐประหารอีกในอนาคต ไม่มีใครปักธงนี้ ต้องปักธงก่อน ให้เห็นว่า อนาคตอีก 10 ปี สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ให้เห็นว่า นี่เป็นสังคมเดียวที่จะต้องเป็น ทางออกที่จะต้องเดินไป ปักธงตรงนี้คือหน้าที่เรา
หมายความว่าถ้าพรรคอนาคตใหม่ได้เข้าสภา แต่พรรคเพื่อไทย หรือแนวร่วม ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ ไม่มี ‘ธง’ เดียวกัน จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ?
“แน่นอน ไม่มีประโยชน์” เขายืนยัน ก่อนอธิบายว่า ถ้าไม่มีใครเดินตามธงเรา เราสร้างพรรคเพื่อทำงานการเมืองระยะยาว เลือกตั้งครั้งนี้อย่างที่บอกไม่ง่าย คุณดูประวัติศาสตร์ รัฐประหาร ก.พ. 2534 นำมาซึ่งเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ในเดือน พ.ค. 2535 กว่าจะร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 จบ กว่ารัฐธรรมนูญจะใช้เลือกตั้งก็ปี 2544 ใช้เวลานับสิบปี
“แต่ Cycle (วัฏจักร) นี้หนักหนากว่าเยอะในเรื่องของความแตกแยกในสังคม เรื่องความรุนแรงทางการเมือง หนักหนาสาหัสกว่าเยอะ เราอยู่ Cycle นี้มา 12 ปีแล้ว (ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549) ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงสมรภูมิหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การแพ้ชนะของสงคราม เราตั้งพรรคขึ้นมาด้วยความรู้สถานการณ์นี้ เราไม่เคยมองการเมืองระยะใกล้ ไม่เคยมองเรื่องเสียงของการเลือกตั้งใน ก.พ. 2562 เรามองการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยยาวกว่านั้น การได้เสียงเยอะหรือน้อยในวันนี้ ไม่ใช่ประเด็นของเรา”
แต่ถ้าไม่ได้เสียงข้างมาก ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาล ไม่อาจผลักดันอะไรได้ ?
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า ฝ่ายค้านก็ทำได้ ใช้ ส.ส. 25 เสียงก็เสนอกฎหมายได้ และคุณไม่รู้ว่าเราจะได้เท่าไหร่ ไม่มีใครรู้
“เป้าหมายคือการเป็นรัฐบาลหรือเปล่า ไม่ใช่ เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ อำนาจที่ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่รู้จะเอาไปทำไม ไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรี นึกออกไหม อำนาจที่ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมยักไหล่ จะร่วมรัฐบาลทำไม ถ้าร่วมรัฐบาล หรือธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี มันไม่ใช่ Destination (จุดหมายปลายทาง) แต่จุดหมายคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ หยุดรัฐประหารที่คนรุ่นเรา หยุดการเข่นฆ่าประชาชนที่คนรุ่นเรา สร้างสังคมที่ยืนหยัดสิทธิมนุษยชน นิติรัฐ คนทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย นี่คือการเปลี่ยนแปลง นี่คือเป้าหมาย ไม่ใช่การมีอำนาจ หรือเป็นนายกรัฐมนตรี”
@ต้นตอคือรัฐประหารปี’49 แต่เกมนี้ยังอีกยาว
ท้ายที่สุด ธนาธร ยืนยันว่า ต้นตอปัญหาในสังคมไทยขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากรัฐประหารเมื่อปี 2549 หรือเกือบ 13 ปีที่แล้ว ดังนั้นการนำประชาธิปไตยกลับมาไม่ง่าย ต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะก็ตาม แต่นั่นไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้เราอยากหยุดทำงาน พรรคอนาคตใหม่มีไฟ 2 ดวงที่เผาไหม้อยู่ภายใน 1.ไฟที่โกรธต่อความอยุติธรรมในสังคมไทย 2.ไฟแห่งความหวังในการสร้างสังคมใหม่ให้ได้ ข้างหน้ามันยาก เรารู้ เข้าใจ ไม่มีใครอยากติดคุกติดตะราง ไม่มีใครอยากโดนคดี ถูกคุกคาม แต่เรารู้ว่าจำเป็นต้องทำ
“เกมนี้เกมยาว เตรียมตัวได้เลย การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์” เขายืนยัน
ภาพถ่ายนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดย จักรพันธ์ ทองดี