7 พฤติกรรมการสื่อสารคนรุ่น Y
คนยุคเจนเนอเรชั่น Y หรือ รุ่นยุคสหัสวรรษ (millenniums generations) มีอายุระหว่าง 18-30 (เกิดช่วงปีค.ศ. 1982-2000) เป็นรุ่นถัดมาจากรุ่น “Traditional” หรือ “รุ่นสงคราม” – Veteran เกิดก่อนปี ค.ศ. 1946) (รุ่นทารกใหม่ - Baby Boom ค.ศ. 1946-1964) และหลังรุ่น X (Generation X, ค.ศ. 1965-1981)
คนรุ่น Y เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารที่อาศัยโลกอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เป็นหลัก พวกเขาไม่คิดว่าโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์คือพระเจ้าที่จะกำหนดทุกอย่างในสังคมอีกต่อไป พวกเขาไม่เชื่อโฆษณา แต่เชื่อเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า ไม่สนว่างานคือสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต คิดว่างานเป็นเพียงแค่บางส่วน และมันไม่ควรจะมีกฎเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องงานตราบใดที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ทำงานที่ไหนก็ได้โดยใช้อีเมล์ หรือแม้แต่ทำงานระยะไกลจากระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ
คนรุ่น Y “ชอบ-ชิน-ใช้” สื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ เปิดรับเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ และมีความสามารถในการรับสื่อที่เรียกว่า“multi – tasking and hyper tasking” คือทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันและค่อนข้างตื่นเต้นกระตือรือร้นในงานต่างๆ อย่างระยะสั้นๆ ไม่ต่อเนื่องยาวนาน (จึงเป็นคนที่มีสมาธิต่ำกว่าคนรุ่นก่อนมาก)
สำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐ คาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2025 ตลาดแรงงานสหรัฐจะประกอบไปด้วยคนรุ่นเจนเนอเรชั่น Y กว่า 75% ซึ่งจะทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะคนรุ่นเจน Y นี้ มีทัศนคติชีวิต การทำงาน รูปแบบวิธีการสื่อสาร และระดับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกับคนรุ่นก่อนมาก
เพราะฉะนั้น ในอนาคต คนรุ่น Y อาจจะครองโลกแน่นอน น่ามาดูว่าแล้วคนรุ่นนี้มีพฤติกรรมการสื่อสารเป็นอย่างไร
ผู้เขียนเดาเอาเองอย่างไม่มีหลักการ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า มีพฤติกรรมการสื่อสาร “7Is” ว่าคนรุ่น Y นี้มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ดังนี้
1. I – instantly “การสื่อสารแบบฉับพลันทันที” คนรุ่น Yไม่นิยมการรอคอย การสื่อสารแบบโต้ตอบทันทีเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ โปรแกรมสนทนาผ่านข้อความสั้นหรือเว็บบอร์ด เป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับ ทันทีที่พวกเขารู้สึกอะไรพวกเขาก็มักที่จะสื่อมันออกมาทันที หรือมีปฏิกิริยากับเรื่องใดเรื่องหนึ่งทันที เช่น พลันที่พวกเขาต้องการแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร ก็เขียนลงในเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ทันที แม้แต่โปรแกรมสนทนา ก็ต้องการที่จะให้คู่สนทนาตอบกลับอย่างรวดเร็วทันที จึงเกิดภาษาแชทอย่างย่นย่อ กร่อนคำเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย, 7 นาที คือระยะเวลาที่พวกเขาสามารถรอคอมเม้นต์จากเพื่อนได้ในเฟซบุ๊ค หากนานกว่านั้นอย่าหวังว่าเขาจะกลับมาอ่านมันอีก
2. I-Interactive “การสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์” คนรุ่น Yชอบการโต้ตอบ แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ไม่เชื่อในการนิ่งเงียบไม่แสดงออก พวกเขาต้องการมีเพื่อน และการสื่อสารแบบการโต้ตอบกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่สนทนา หรือห้องสนทนาขนาดใหญ่ อย่างแชทรูม หรือ เว็บบอร์ดเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ – โลกที่ไม่มีบทสนทนา การแลกเปลี่ยนโต้เถียงช่างน่าเบื่อสำหรับพวกเขา แม้กระทั่งเกมออนไลน์ ก็ยังต้องเว้นที่ให้พวกเขาได้พูดคุยและแบ่งปันสิ่งของกับผู้เล่นคนอื่นๆ
3. I-Intertextuality “สื่อสารสัมพันธบท” คนรุ่น Y ไม่เชื่อในต้นฉบับ/เจ้าของข้อมูลข่าวสาร ไม่มีใครเป็นเจ้าของสาร (message) ใดๆ อย่างแท้จริง ตัวเนื้อหาข่าวสารไม่มีลิขสิทธิ์ ไม่มีต้นฉบับ ไม่มีเจ้าของ ข่าวสารข้อมูลใดๆ สามารถถูกคัดลอก ดัดแปลง เสริมแต่ง สื่อสารแผ่ขยายออกไปได้เป็นวงกว้าง ข่าวลือมีความเป็นจริงพอๆ กับข่าวจริง ไม่มีอะไรสำคัญกว่ากระแสข่าวสาร พวกเขาไม่สนใจว่าข่าวสารข้อมูลนั้นๆ มันจะมาจากสื่อเก่าอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ตราบใดที่มันอยู่ในกูเกิ้ล หรือในความสนใจ ก็นับว่าข่าวสารนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ ข่าวสารในภาษาหนึ่งๆ สามารถถูกแปลเป็นภาษาหนึ่งๆ ได้ไม่ยากเย็น กระแส แฟชั่นหนึ่งๆ ต่างคัดลอกเลียนแบบได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน เป็นโลกแห่งปัจจุบัน อะไรที่พวกเขาไม่รู้ ก็แค่ค้นหาในกูเกิ้ลเท่านั้น โลกอินเตอร์เน็ตทุกคนพร้อมที่จะเข้ามาแชร์มาเขียนเนื้อหาแบ่งปันความรู้ข่าวสารกัน เช่นในเว็บวิกิพีเดีย ต่างช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงกัน – การคัดลอกการบ้านจากเว็บกูเกิ้ลของนักเรียนนักศึกษา เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่าพวกเขาเชื่อในทฤษฏีสัมพันธบทอย่างมาก
4. I-Individual “สื่อสารอย่างปัจเจก” คนรุ่น Y ไม่ชอบการสื่อสารอย่างเป็นทางการ เคร่งเครียด ไม่เชื่อการสื่อสารแบบหมู่มวลชน (mass communication) แบบสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องแคร์สื่อ(กระแสหลัก)อีกต่อไป เมื่อมีอินเตอร์เน็ต มีเว็บไซต์ส่วนบุคคลมากมายที่พร้อมจะทำให้พวกเขาเป็นเจ้าของสื่อ อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือทวิตเตอร์ พวกเขาสามารถคุยแบบเป็นกันเองกับดารา นักร้อง หรือนักการเมือง เช่นคุยกับเพื่อน ภาษาลดความเป็นทางการแต่เพิ่มความเป็นกันเองมากขึ้น พวกเขาสร้างภาพลักษณ์ตนเองผ่านหน้าเว็บเพจเฟซบุ๊ค เผลอๆ บริษัทงานอาจเข้ามาดูเฟซบุ๊คของเขา และชื่นชอบในบุคลิก กิจวัตรประจำวัน หรือปาร์ตี้สังสรรค์ตลอดจนความคิดเห็นทางการเมืองที่เขาโพสต์ลงเว็บเฟซบุ๊คก็เป็นไปได้ ความเป็นกันเอง พื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวหลอมรวมเป็นพื้นที่เดียวกัน (Private in Public Space) คนเจนวายกล้าคุยเรื่องส่วนตัวของตนเองมากขึ้น กิจวัตรประจำวัน เป็นเนื้อหาธรรมดาๆ ที่ใครก็สามารถพูดคุยได้ และมันดูน่าสนใจกว่าเนื้อหาทางการเสียด้วยซ้ำไป ใครก็ตามที่ทำตัวสื่อสารยากๆ ซับซ้อน ก็ยิ่งจะเข้าใจและเข้าถึงโลกของพวกเขาได้ยากขึ้น
5. I-Intercultural “สื่อสารข้ามวัฒนธรรม” อินเตอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ MSN, YouTube, facebook , Instagram ฯลฯ ทำให้โลกการสื่อสารไร้พรมแดนจริงๆ ตามทฤษฏี “หมู่บ้านโลก” (The Global Village) ของ Marshall Mcluhan ที่พูดว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เทคโนโลยีการสื่อสารจะทำให้ประชากรบนโลกเสมือนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือทฤษฏี “หกช่วงคน” (six degrees of sepaeration) ที่อธิบายว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างใครๆ ก็ตามบนโลกนี้ที่เรารู้จักเขาได้เพียงห่างกันแค่ 6 คน , การศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี พบว่าผู้คนสื่อสารกันข้ามพรมแดนประเทศ วัฒนธรรม เชื้อชาติและภาษาโดยใช้เฟซบุ๊คมากขึ้น และทำให้ช่องว่างระหว่างความสมพันธ์ของผู้คนลดลงเหลือเพียงแค่ 4.7 ช่วงคนเท่านั้น
6. I-Identities “สื่อสารด้วยหลายอัตลักษณ์” คนรุ่น Yไม่เชื่อในเรื่องกายกับจิตเพียงหนึ่งเดียวเช่นคนสมัยก่อน พวกเขามีตัวตนได้หลากหลายชื่อ หลายบัญชี อาจเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งคนแก่หรือหนุ่มสาว ไม่มีตัวตนที่แท้จริงอีกต่อไปในโลกการสื่อสาร คนเจน Y สงวนท่าทีบางอย่างเสมอเมื่อต้องพบปะเจอผู้คนในที่ทำงาน โรงเรียน หรือกับเพื่อนบ้าน พวกเขาอาจมีตัวตนอีกแบบหนึ่งที่คนในสังคมไม่เคยรับทราบและเข้าใจ หรือกลับกัน ตัวตนในอินเตอร์เน็ตของเขาอาจเป็นตัวจริง ความคิดจริงก็ได้เช่นกัน
7. I-Isolate “สื่อสารอย่างแยกตัว/โดดเดี่ยว” ข้อนี้ถือว่าเป็นปัญหาคนรุ่น Y เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่ว่าคนรุ่น Y แม้จะมีเพื่อนมากมายในเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีอุปกรณ์สื่อสารติดตัวตามตัวได้ตลอดเวลา แต่รายงานการแพทย์หลายชิ้นระบุว่า พวกเขามักมีพฤติกรรมแยกตนเองออกจากสังคมจริงๆ และอาจจะขี้เหงาในยามกลางคืน นอนไม่หลับ และขาดเพื่อนแท้ที่จะรับฟังปัญหาในเวลาที่พวกเขาต้องการใครสักคน บ่อยครั้งที่คนรุ่น Y แยกตัวเองออกจากสังคม ไม่ใช่เพราะเขามีปัญหา แต่เพราะเขาขาดทักษะในการปฏิสัมพันธ์ผู้คนในโลกจริง (real world) ต่างหาก โลกจริงซึ่งยังมีคนรุ่นอื่นๆ เช่นรุ่นพ่อแม่ ลุง ป้า น้าอา หรือคนรุ่นเจ้านาย หัวหน้างาน หรือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ซึ่งนั่นทำให้เขายากที่จะสื่อสารด้วยได้เพราะภาษาและช่องว่างระหว่างรุ่นที่แตกต่างกัน
จะเห็นว่า คนรุ่น Y นั้น ถูกเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต/คอมพิวเตอร์ เข้ามากำหนด ควบคุม เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสารและชีวิตไปค่อนข้างมาก เข้าทฤษฏี “เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด (technology determinism)” ก็ขอให้คนรุ่นอื่นๆ เข้าใจและช่วยแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารให้คนรุ่นนี้ด้วย คนรุ่น Y แม้จะสื่อสารรวดเร็ว ทันใจ ฉับไว แต่ก็ยังขาดความสุขุม รอบคอบ ถูกต้อง บางครั้งขาดความยั้งคิดชั่งใจไปบ้าง
“เทคโนโลยีการสื่อสารยิ่งรวดเร็วมากเพียงใด สติยั้งคิดก็ยิ่งขาดหายไปมากขึ้นเท่านั้นแล”