บทเรียนเรือล่มภูเก็ตกับการยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว
ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาชี้ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดในระยะหลัง คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยถึงกว่า 9.8 ล้านคนในปี 2560 และสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 5 แสนล้านบาท และ ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อเมริกา ก็เข้ามาเที่ยวมากกว่า 1 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน การให้ความดูแลนักท่องเที่ยวเหล่านั้นในฐานะเจ้าบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อไป
ประเทศไทยถูกจัดอันดับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากการท่องเที่ยวที่ 132 จาก 141 ประเทศทั่วโลก สถิติข้อมูลของกองมาตรฐานความปลอดภัยการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางทะเลใน พ.ศ 2560 สูงถึง 936 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 25.12 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิต จำนวน 265 คน และบาดเจ็บ จำนวน 671 คน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในการให้ความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว ทั้งที่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครต้องการให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถป้องกันได้
ความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างอยู่ในประเทศไทยก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรได้รับความใส่ใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และคนไทยในจังหวัดท่องเที่ยว ทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและการดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ดังนั้น การเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่จึงควรมีการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อหาสาเหตุและกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมา ซึ่งการวิเคราะห์เชิงลึกดังกล่าวจะแตกต่างจากการดำเนินการของตำรวจที่มุ่งเน้นไปในเชิงคดีและหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
การวิเคราะห์เชิงลึกเป็นการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยละเอียดในปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัย ด้านคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปัจจัยด้านความปลอดภัยของเส้นทางการเดินทางไม่ว่าจะเดินทางทางถนน ทางราง ทางน้ำ ทางทะเล หรือ ทางอากาศ การรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของยานพาหนะที่นำมาใช้ให้บริการ และทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยที่มีอยู่ที่อาจไม่สอดคล้องกับบริบทที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ การวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการที่ศึกษาถึงแนวทางการทำงานที่ต้องบูรณาการร่วมกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย การเตรียมความพร้อมของกำลังคน การเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ และการกำกับ ดูแล ที่มีประสิทธิภาพ และสุดท้าย ถึงแม้จะมีระบบความปลอดภัยที่ดี ความพร้อมด้านการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมและมีการดำเนินการได้ทันต่อเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นในสภาพแวดล้อมอย่างไรควรมีแนวทางในการดำเนินการได้อย่างเหมาะสม
การวิเคราะห์เชิงลึกดังกล่าวมีความจำเป็นจะต้องใช้ความรู้จากหลากหลายสาขา ไม่จำกัดอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง จึงต้องมีการรวมทีมผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมทำงานเพื่อวิเคราะห์และแสวงหาแนวทางในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในครั้งต่อๆไป สำหรับในต่างประเทศจะมีการตั้งทีมสหสาขาดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่ลงไปแสวงหาข้อมูลเชิงลึกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดูแลความปลอดภัยด้านการขนส่ง หรือ National Transport Safety Board ขึ้นมา แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการและทีมผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว จึงยังเห็นภาพการทำงานที่อาศัยหน่วยงานต่างๆ วิเคราะห์สาเหตุตามอำนาจหน้าที่ ข้อสรุปที่ชี้ไปที่ความผิดของคน และไม่มีมาตรการในการป้องกันที่ชัดเจน นอกจากการใช้บทลงโทษ และการเยียวยาผู้ประสบเหตุ
ที่มา โดยผู้เขียน
กรณีอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน เป็นตัวอย่างของโศกนาฏกรรมของการท่องเที่ยวทางทะเลที่ยังขาดระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากการที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์รากของปัญหาอย่างแท้จริง จึงทำให้เรายังคงเห็นมาตรการซ้ำเดิมที่ไม่ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่จะช่วยลดข้อจำกัดและความผิดพลาดที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงต่อนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดคณะกรรมการที่ทำหน้าในการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระ และมีการจัดทำรายงานสาเหตุและมาตรการเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวควรประกอบด้วยหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบปัจจัยทั้ง 5 ด้านที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อค้นหาคำตอบทีชัดเจนให้กับสังคมและต่างประเทศว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความบกพร่องของระบบในส่วนใด มากกว่า การกล่าวหากล่าวโทษเพียงคนขับเรือ ผิด และ บริษัทนำเที่ยวผิด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีคำตอบที่ช่วยยกระดับและปลุกกระแสการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้แก่สังคมไทย คือ การจัดการและควบคุมความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละขั้นตอนมีเพียงพอหรือไม่ มีปัญหา อุปสรรคอะไร ที่เป็นข้อจำกัดทั้งในด้านกฎหมาย การนำไปปฏิบัติ รวมไปถึงกลไกการควบคุมเข้าไปถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และ ไม่ใช่ภาครัฐ บุคลากรทั้งหมดได้รับการพัฒนาที่เพียงพอและสามารถปฏิบัติได้ในภาวะฉุกเฉินจริงหรือไม่ ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ บังคับใช้โดยหน่วยงานหลายหน่วยงาน การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ ศักยภาพของบุคลากรภายในเรือกับการจัดการในภาวะฉุกเฉินสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดด้านภาษา การให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับป้าย สัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่อยู่บนเรือ และตามสถานที่ท่องเที่ยว
ที่มา แผนงาน " การบริหารจัดการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเล " ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย)
โดยการวิเคราะห์สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยนำไปกำหนดห่วงโซของความรับผิดชอบ (Chain of Responsibility) ที่จะช่วยทั้งด้านการป้องกัน การวางแนวทางในการให้ความรู้ พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการด้านกฎหมายระหว่างหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อป้องปรามการกระทำผิด ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดใจขึ้น การซ้อมแผนของบริษัทนำเที่ยว บริษัทเดินเรือ และการกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนมากขึ้นในการจัดการความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การตอบโต้สถานการร์ฉุกเฉิน และทำให้เกิดกลไกการควบคุมที่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ได้เวลาที่ประเทศไทยจะต้องยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยวมีคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางของคนไทยและต่างประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และ ทางอากาศ ได้รึยัง น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในเรื่องความปลอดภัยจากโศกนาฎกรรมเรือล่มที่ภูเก็ต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.kapook.com