'ทรงวุฒิ มลิวัลย์' เคลียร์ปม สนง.กองทุนอาหารกลางวัน ถูกครหาไม่ก้าวหน้า
คุยกับ 'ทรงวุฒิ มลิวัลย์' ผู้บริหารสำนักงานกองทุนอาหารกลางวัน รร.ประถมฯ เคลียร์ข้อครหา การดำเนินงานไม่ก้าวหน้า พยายามทำคะเเนนประเมินตามเเผนงานเพิ่ม เลี่ยงถูกยุบ?
ที่ผ่านมากองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 ทุนตั้งต้น 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่าย สำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนเป็นหลัก มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทั้งหมด 17 คน โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนฯ ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่า การดำเนินงานไม่ค่อยมีความก้าวหน้า ประกอบกับจากปกติต้องตั้งอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่กลับมาตั้งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำให้มีอัตราการจ้างเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการยืมตัวเจ้าหน้าที่ในสังกัด สพฐ. มาประจำแทน รวมทั้งระยะหลังมีความพยายามทำให้คะแนนประเมินตามแผนงานเพิ่ม เพราะกังวลว่าจะถูกยุบ
นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แต่เดิมนั้นสำนักงานกองทุนฯ ตั้งอยู่ที่กระทรวงการคลัง จากนั้นจึงได้ถ่ายโอนอำนาจเข้ามาอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนทั้งหมด ภายใต้สังกัด สพฐ. แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมาอยู่กับเราแล้ว จะทำให้ไม่เจริญ
พร้อมกับถามกลับว่า “ถ้าไม่มาตั้งที่ สพฐ. แล้วจะไปตั้งที่ไหนถึงจะเจริญ เพราะนักเรียนที่ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ สพฐ.”
รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานกองทุนฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้สำนักงานกองทุนฯ มีภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะการกำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งต้องแจ้งให้ทุกโรงเรียนใช้โปรแกรม Thai school lunch นอกจากนี้สั่งการให้มีตัวชี้วัดว่าด้วยโภชนาการของนักเรียนด้วย เพื่อจะได้ทราบว่า เด็กมีปัญหาทุพโภชนาการ ผอม เตี้ย อ้วน หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ในอดีตที่สำนักงานกองทุนฯ ขึ้นกับกระทรวงการคลัง ได้ประเมินผลการดำเนินงาน 1 ครั้ง/ปี แต่เมื่อขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ปัจจุบัน สพฐ.กำหนดให้ประเมินผลการดำเนินงาน 2 ครั้ง/ปี จะได้มีความถี่ขึ้น โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจปีละประมาณ 200 โรง
“การสุ่มตรวจจะช่วยทำให้โรงเรียนทุกแห่งตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาว่า ครั้งต่อไปจะถูกสุ่มตรวจหรือไม่ สิ่งที่สำนักงานกองทุนฯ ดำเนินงาน ถามว่าทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลง”
ขณะที่ปัญหาเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานกองทุนฯ นายทรงวุฒิ ระบุว่า ปัจจุบันมีกรอบอัตรากำลัง 12 คน แต่มีเจ้าหน้าที่ทำงานจริง 6 คน ซึ่งจะทำให้ดีหรือไม่ดี ถามว่าอะไรเป็นตัวบ่งบอก " เรามีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เป็นฝ่ายควบคุมกำกับดูแล และเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่นี้ทำงานกันหัวหกก้นขวิตอยู่แล้ว แต่โชคดีที่มีผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครู ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันอาสามาช่วยเหลือ"
รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานกองทุนฯ ยังชี้แจงถึงกรณีกระแสข่าวสำนักงานกองทุนฯ พยายามทำให้คะแนนประเมินตามแผนงานเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกยุบ ว่าไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสำนักงานกองทุนฯ ประเมินผลตามที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ทุกกองทุนที่อยู่ในสังกัดทุนหมุนเวียนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ต้องได้รับการประเมิน
“สำนักงานกองทุนฯ ได้คะแนนประเมินอยู่ในระดับดีมาก เกินเกณฑ์ของกองทุนทั่วประเทศ ไม่เกี่ยวกับยุบหรือไม่ยุบ แต่ข่าวที่เกิดขึ้นเกิดจากคนที่ไม่รู้จริง อาจเป็นไปได้ที่มีอยู่ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องกองทุนไม่ทำงาน ไม่ประชุมบอร์ด ไม่ประชุมอนุกรรมการ ไม่จัดสรรเงินให้กับโรงเรียน กรมบัญชีกลางจึงบอกว่า ต้องทำแผนฟื้นฟู ไม่งั้นจะถูกยุบกองทุน ทั้งที่ความจริงทุกกองทุนจะเป็นอย่างนี้หมด ถ้าคะแนนประเมินไม่ถึง ก็ต้องยุบเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีถึง 39 กองทุนต้องทำแผนฟื้นฟู ถ้าแผนไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ กองทุนก็ต้องถูกยุบ ไม่ได้เฉพาะอาหารกลางวัน” นายทรงวุฒิ กล่าวในที่สุด .
อ่านประกอบ:ผู้บริหารกองทุนฯ ยันไม่ปรับ ‘ค่าหัวอาหารกลางวัน’ -ถัวเฉลี่ย 20 บ./คน เพียงพอแล้ว
ถอดบทเรียนจากถาดอาหารกลางวันเด็ก ที่ให้มากกว่าขนมจีนคลุกน้ำปลา