สงกรานต์ที่ปากีสถาน: ทัศนศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์โลก (1)
สงกรานต์ทุกปีผมใช้วันหยุดยาวไปทัศนศึกษาประเทศที่น่าสนใจ เมื่อปีกลายไปกรีซ ปีนี้ไปปากีสถานครับ กลับมาโดยสวัสดิภาพ สนุก และได้เปิดหูเปิดตา กับภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ ซึ่งสำคัญในระดับโลกทีเดียว
คนทั่วไปจะไม่กล้าไปเยือนปากีสถานเพราะเกรงสงคราม มักจะคลับคล้ายคลับคลากันว่าประเทศนี้มีบินลาเดนหนีไปซ่อนตัว และในที่สุดก็ถูกสหรัฐบุกเข้าสังหารที่นั่น แต่ก็จะเชื่อกันว่าถึงอย่างไรเสียก็คงยังมีพวก “ทาลีบัน” หรือ “ไอเอส” หลงเหลืออยู่ที่คิดก่อการร้ายต่อไป ฉะนั้น อันตราย
ปากีสถานนั้น สงบกว่าที่คิด และไม่ได้โดดเด่นแต่เรื่องราวและโบราณสถานของมุสลิมและอิสลามเท่านั้น หากยังมีอะไรมากกว่านั้นอีก ครับ เพราะเดิมประเทศนี้เป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป เป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ และเคยเป็นส่วนหลักของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และกระทั่งเป็นฐานที่เผยแผ่ศาสนาพุทธไปเกือบทั่วเอเชีย อีกด้วย
เมื่อแยกกันเป็นสองประเทศ พลันที่ได้เอกราชมาจากจักรวรรดิอังกฤษนั้น น่าฉงนครับ แม่น้ำ “สินธู” หรือ แม่น้ำ “อินดูส” (Indus) อันเป็นที่มาของชื่อ “อินเดีย” และที่ตั้งของแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย คืออารยธรรมฮารัปปา และโมเฮ็นโจ ดาโร นั้น กลับตกไปอยู่ในประเทศมุสลิมที่ชื่อว่า “ปากีสถาน” ทั้งหมด ซึ่งอารยธรรมฮารัปปา (Harappa) และอารยธรรมโมเฮ็นโจ ดาโร (Mohenjo Daro) นั้น เคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียโบราณ เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำ ”สินธู” หรือแม่น้ำ ”อินดูส” และฝรั่งยอมรับว่าฮารัปปา-โมเฮ็นโจ ดาโร นั้นยิ่งใหญ่และเก่าแก่ ไม่แพ้อียิปต์และบาบิโลนที่ตะวันตกเองยอมรับว่าเป็นต้นธารของอารยธรรมโลก
แม่น้ำอินดูสหรือสินธู และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำอินดูส หรือ สินธู นี้ ย้ำนะครับอยู่ในปากีสถาน ไม่ได้อยู่ในอินเดีย เวลานี้เราสามารถเข้าไปชมได้อย่างสะดวกปลอดภัยเพียงแต่ต้องเตรียมการหน่อยเท่านั้น ฮารัปปาและโมเฮ็นโจ ดาโร นี้ก็อยู่ในปากีสถาน ไม่ได้อยู่ในอินเดีย การแยกประเทศ ด้วยหลักศาสนาปัจจุบัน ทำให้ประเทศอินเดีย ซึ่งสืบต่ออารยธรรมลุ่มน้ำอินดูสหรือสินธู กลับไม่ได้แหล่งกำเนิดแรกสุดของอารยธรรมนี้ไป แต่ปากีสถานที่ปัจจุบันนี้ ชนส่วนใหญ่ เกือบร้อยเปอร์เซนต์ เป็นมุสลิม กลับได้แม่น้ำอินดูสไป ขอแทรกตรงนี้นะครับว่าคำว่า “อินเดีย” ที่จริงก็คือดินแดนแห่งลุ่มน้ำ”อินดูส” นั่นเอง แต่เวลานี้ถ้าใครสนใจแม่น้ำนี้และสนใจในแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำนี้ และอารยธรรมแรกสุดของอินเดีย กลับต้องไปดูที่ปากีสถาน แปลกไหมครับ
ไม่เพียงเท่านั้น ตักศิลา (Taxilla) ซึ่งไม่มีความสำคัญกับอิสลาม ก็ตกอยู่ในบริเวณปากีสถาน มหาวิทยาลัยที่เก่าที่สุดในโลกนั้น ไม่ใช่มหาวิทยาลัยโบโลญยา ปารีส หรือ ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ แต่น่าจะอยู่ที่ตักศิลา ตั้งแต่เมื่อ 2500 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
ตักศิลาไม่ได้สอนแต่ศาสนาพราหมณ์และพุทธ หากยังสอนศาสตร์ที่หลากหลาย รวมถึง รัฐประศาสนศาสตร์ รวมถึงเศรษฐศาสตร์ ดาราศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ ปรมาจารย์ เกาติลยะ (Kautilya)หรือ จานักยะ (Chanakya) ผู้แต่งคัมภีร์ “อรรถศาสตร์“ (Arthashastra) ที่ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องใช้เป็นตำราหรือเป็นเข็มทิศชี้ทางเมื่อราวสองพันปีที่แล้วมา ก็เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เมืองตักศิลานี้เอง
อนึ่ง ภาษาสันสกฤต ก็พัฒนามาเต็มรูปแบบ มีกฏเกณฑ์ ไวยากรณ์ชัดเจนเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ศตวรรษที่แล้ว ก็โดยฝีมือของ Panini ปราชญ์ใหญ่ ซึ่ง เป็นอาจารย์ที่ตักศิลาแห่งนี้เช่นกัน
คำว่าอายธรรมลุ่มน้ำสินธูนั้นยังรวมถึงพุทธด้วย และตักศิลานั้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งพุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ด้วยว่าหนึ่ง เก่ากว่านาลันทาเสียอีก และสองตักศิลายังเป็นเมืองมหาวิทยาลัยของพระเจ้าอโศก และเป็นบ่อเกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยของพระองค์ และเผยแผ่ศาสนานี้ออกไปทั่วอินเดียและทั่วเอเชีย กลายเป็นศาสนาสำคัญของอินเดียทั้งอนุทวีป และตักศิลาแห่งนี้ต่อมายังเป็นบ่อเกิดของพุทธมหายานและวัชรญาณ และแพร่ต่อไปยังเอเชียกลาง ขึ้นไปสู่ทิเบต เนปาล และดินแดนหิมาลัยอื่นๆ และต่อไปยัง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หากไม่มีตักศิลา ก็ไม่แน่ว่าศาสนาพุทธเราจะมีความล้ำลึกทางปัญญาจนเป็นที่ยอมรับของจีนซึ่งเป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มาก และโปรดทราบด้วยว่าหลวงจีนฟาเหียนและ ถังซำจั๋ง นั้น ล้วนเคยมาเรียนที่ตักศิลา ครับ
พระเจ้าอโศกมหาราช และ พระเจ้ากนิษกะมหาราช จักรพรรดิแห่งพุทธที่ยิ่งใหญ่นั้น ก็ถือว่ามาจากดินแดนที่ปัจจุบันคือปากีสถาน อโศกนั้นเกิดในลุ่มน้ำอินดูส หรือ สินธู ได้รับสถาปนาเป็นอุปราชปกครองตักศิลาก่อนที่จะขึ้นเป็นจักรพรรดิต่อจากพ่อ ส่วนกนิษกะซึ่งจัดสังคายนะพระไตรปิฎกครั้งที่สี่และนำมาซึ่งนิกายมหายานนั้น ก็มีเมืองหลวงอยู่ในปากีสถาน ที่เปชวาร์ (Peshwar) และ ตักศิลา นั่นเอง
ท่านที่สนใจสามารถไปชมซากเมืองซากวัด ซากมหาวิทยาลัย ที่กล่าวมาข้างต้นได้ แทบทุกที่มีพิพิธภัณฑ์ดีมากทั้งนั้น ขอบอกด้วยว่า คันธารราษฎร์ (Gandhara) ที่ชาวพุทธรู้จักด้วยมีพระพุทธรูปแบบกรีกเก่าแก่ งดงาม อลังการ นั้น ก็อยู่ในปากีสถาน เปชวาร์ อันเป็นเมืองที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สี่ในสมัยพระเจ้ากนิษกะ ราว 1,900 ปีมานั้น ก็อยู่ในปากีสถาน ซึ่งแน่นอนครับ พระพุทธองค์นั้น ท่านเผยแผ่พระศาสนาลุ่มแม่น้ำคงคา ทางเหนือ ด้านตะวันออก เป็นหลัก ด้วยภาษามคธหรือบาลีเป็นหลัก แต่ตักศิลานั้น อยู่ทางเหนือ ด้านตะวันตก เป็นหลัก และที่นี่ได้สร้างศาสนาพุทธมหายานและวัชรญาณขึ้นมา โดยใช้สันสกฤตที่เป็น ภาษาสูงกว่า ทางการกว่า เป็นสื่อ ท่านที่สนใจในประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธไม่ควรพลาดปากีสถานเช่นกัน พิพิธภัณฑ์ที่ต้องไปเลยคือพิพิธภัณฑ์เปชวาร์ครับ และขอย้ำเตือนอีกที เปชวาร์และคันธารราษฎร์ (Gandhara) อยู่ในปากีสถาน มีที่ยื่นล้ำเข้าไปในเขตอัฟกานิสถานปัจจุบันบ้าง ยังไม่ต้องเข้าไปครับ เพราะยังไม่ปลอดภัย เปชวาร์ และ คันธารราษฎร์ในเขตปากีสถานนั้น ช่างเต็มไปด้วยมรดกโลก และ มรดกพุทธ อันล้ำค่าเชิญไปเยือนได้ ปลอดภัย และไปได้สะดวกครับ ชาวไทยพุทธเราไม่ควรหยุดอยู่แค่สังเวชนียสถานในแคว้นพิหารของอินเดีย
ปากีสถานนั้น มองผาด คือประเทศมุสลิม มองพิศคือ แหล่งพัฒนาและเผยแพร่ศาสนาพุทธของเราจนกลายเป็นศาสนาสำคัญของโลก
พูดมาถึงตอนนี้หลายท่านคงรู้สึกหนักหัว ช่างยุ่งเหยิงดีนัก บางท่านคงคิด แต่บางครั้งเราก็อาจต้องยอมเสียเวลาและรับฟังอะไรแปลกๆใหม่ๆ บ้าง เพื่อจะได้รู้สึกและได้สัมผัสอะไรที่เราไม่เคยได้มาก่อน ท่านครับ ดินแดนที่เคยสำคัญยิ่งต่อกำเนิดและพัฒนาการของศาสนาพราหมณ์-พุทธ แต่ ทุกวันนี้ กลับไม่มีพราหมณ์และพุทธให้นับถือ แต่ไทยซึ่งไม่ได้ให้กำเนิด ไม่มีความสำคัญอะไรต่อพุทธศาสนาในระยะก่อเกิดและพัฒนาการ กลับได้รับดอกผลล้ำค่าจากดินแดนที่ปัจจุบันคือปากีสถาน คนที่นั่นเขา ”เปลี่ยนไป” ไม่เป็นชาวพุทธ มานานแล้ว แล้วก็ “ส่ง” พุทธมาให้เรานับถือ “แทน” นี่เป็นความพิศวงที่ผมและคณะได้รับตลอดเวลาที่ตะเวณทัศนศึกษาไปในปากีสถาน เออ นี่ เราช่างมี ”วาสนา” ที่ได้เป็น “พุทธ” โดยแท้
วันนี้เอาแค่นี้ครับ พรุ่งนี้ผมจะต่อด้วยเรื่องปากีสถานกับประวัติศาสตร์โลก และ ภูมิศาสตร์ระดับโลกของประเทศที่คนไทยรู้จักน้อย แต่ที่จริงสำคัญมาก
หมายเหตุ : ภาพประกอบและเรื่องจาก Fb เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas