“เกาะสี”... อันตราย
“เกาะสี” ถือเป็นกรณีสำคัญ ที่ต้องนำมาเป็น “บทเรียน” และทบทวนการออกแบบและก่อสร้างที่อาจจะดูสะดวก ประหยัดงบประมาณ แต่ถ้าไม่ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมาประกอบด้วย สุดท้ายแล้วจะกลายเป็น “ได้ไม่คุ้มเสีย”
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 เวลา 08.20 น. ก่อนจะเข้าเรียน มีรถเก๋งชนจักรยานยนต์ บนถนนสายสิงห์บุรี-ชัยนาท กม.ที่ 7 ใกล้กับ รร.วัดประโชติ ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่แม่ขี่ไปส่งลูก 2 คนและหลาน 1 คนไปโรงเรียน เสียชีวิตพร้อมกันรวม 4 ศพ ซึ่งถนนสายสิงห์บุรี-ชัยนาท ได้รับขยายจาก 2 ช่องทางเป็นถนน 4 ช่องทางและเกาะกลางถนนทำเป็น เกาะสี (paint medians)
โดยเจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัยและผู้ใช้เส้นทางนี้ สะท้อนข้อสังเกตว่า มีอุบัติเหตุและความสูญเสียเพิ่มขึ้นหลังจากมีการขยายถนนโดยทำเกาะกลางเป็น “เกาะสี”
ก่อนหน้านี้ ก็พบว่ามีอุบัติเหตุบนถนน 4 ช่องทางที่เป็นเกาะสีลักษณะนี้จำนวนมาก อาทิเช่น กรณีอุบัติเหตุหน้าโรงเรียนอรวินวิทยา อ.ปลวกแดง จ.ระยอง วันที่ 7 กรกฏาคม 2559 เป็นเหตุในครูบาดเจ็บสาหัส 3 คน นักเรียนบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน
กรณี บ้านป่าติ้ว อ.แม่ริม... จากข่าวพบว่า ชุมชนลุกออกมาเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนจากเกาะสีเป็นเกาะกลางยกสูง โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2559 ชาวบ้านป่าติ้ว หมู่ที่ 2 ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จำนวนมากเดินทางไปร่วมลงชื่อเพื่อเสนอขอจัดทำเกาะกลางถนนแบบยกสูง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 หรือถนนโชตนา เชียงใหม่-ฝาง ตั้งแต่แยกทุ่งหัวช้าง-เหมืองผ่า-ป่าติ้ว-ห้วยน้ำริน ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เพราะที่ผ่านมา เป็นถนน 4 ช่องทางการจราจรและใช้การตีเส้นแบ่งช่องการจราจร (เกาะสี) ทำให้ไม่ปลอดภัยในการใช้เส้นทางทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากไม่มีเกาะกลางถนนสำหรับพักรอรถผู้ที่จะข้ามฟากถนน อีกทั้งรถที่สัญจรสามารถตัดช่องการจราจรและลัดผ่านช่องทางการจราจรข้ามฟากได้ทุกจุด โดยไม่คำนึงถึงจุดอับสายตา และสามารถขับแซงข้ามไปอีกเลนได้ทุกจุด
ที่ผ่านมา การก่อสร้างหรือขยายถนนให้กว้างหลายช่องทาง ในหลายๆ เส้นทางจะออกแบบเป็นเกาะสีตรงกลาง เพราะประหยัดงบประมาณกว่าเกาะกลางยกสูงหรือเกาะกลางลักษณะอื่นๆ ในขณะที่ชุมชนหรือผู้ใช้ถนนก็จะมองว่าสะดวกในการขับขี่ เพราะสามารถจอดรอหรือกลับรถได้ตลอดไม่ต้องเสียเวลาไปยูเทิร์นกลับรถ ซึ่งอาจจะไกลออกไปพอสมควร
ทำไม ถนน 4 ช่องทางเกาะสี .. ถึงอันตราย
1. ถนนยิ่งกว้างยิ่งขับเร็ว : การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็ว โดยสถาบัน AIT พบว่า ยิ่งถนนหลายช่องจราจรคนขับรถจะยิ่งขับเร็ว โดยเฉพาะถนน 4 ช่องทางเกาะสี จะส่งผลต่อมุมมองของคนขับรถว่าถนนโล่ง กว้าง เนื่องจากไม่มีเกาะกลางถนน และยังเอื้อต่อการตัดสินใจแซงได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถแซงบนช่องเกาะสีได้อีกช่องทางหนึ่ง
2. ใช้เกาะสีเป็นที่หยุดรอ : ในขณะที่คนขับรถใช้ความเร็วและอาจจะใช้เกาะสีสำหรับการแซง แต่สำหรับคนเดินถนน รถจักรยานยนต์ จักรยาน หรือรถยนต์ จะใช้เกาะสีเป็นที่ “หยุดรอ” เพื่อข้ามไปอีกฝากหนึ่งของถนน
3. จอดล้ำช่องทางรถวิ่งสวน : ขนาดความกว้างของเกาะสี มีความจำกัด โดยปกติจะกว้างประมาณ 1.2-2 เมตร ทำให้รถที่จอดรอเลี้ยว มีโอกาสล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านตรงข้าม ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเฉี่ยวชนได้ง่าย (เหมือนกรณีคลิปเหตุการณ์หน้า รร.อรวินวิทยา อ.ปลวกแดง)
4. กลับรถได้ทุกจุดบนเกาะสี : ลักษณะเกาะสีที่ไม่มีอุปกรณ์ติดตั้ง จะสามารถกลับรถได้ในทุกจุด เสี่ยงต่อการถูกชนท้ายจากรถที่ขับตามหลัง แตกต่างจากยูเทิร์นทั่วไปที่จะมีช่องทางแยกสำหรับกลับรถ รวมทั้งคนขับรถที่ขับตามหลังจะเพิ่มความระมัดระวังเพราะกำลังจะถึงจุดกลับรถ
ถนน 4 เลนเกาะสี (แบบประหยัด) .. ได้ไม่คุ้มเสีย
การศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี บนถนนสาย 214 ในช่วงที่มีการทำเกาะสี (กม. 6+500 - กม. 11+800) เทียบกับช่วงที่ทำเป็นเกาะกลางยกสูง (กม. 0+500 - กม. 6+150) พบว่าอุบัติเหตุในรอบ 3 ปี เกิดกับช่วงที่เป็นเกาะสีมากกว่าเกาะกลางยกสูง โดยมีการเสียชีวิต 5 ราย พิการ 1 ราย สาหัส 3 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 3 ราย ในขณะที่ถนนช่วงที่เป็นเกาะกลางยกสูงมีการเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุในช่วงที่เป็นเกาะสี 19.5 ล้านบาท และช่วงเกาะกลางยกสูง 2.7 ล้านบาท แสดงให้เห็นเบื้องต้นว่า แม้เกาะสีจะช่วยประหยัดค่าก่อสร้าง แต่ไม่คุ้มค่าถ้านำค่าใช้จ่ายจากผลกระทบของอุบัติเหตุและการเสียชีวิตคำนวณด้วย
ข้อพิจารณาเพื่อลดความสูญเสีย กรณีถนน 4 ช่องทางเกาะสี
1. ก.คมนาคม และท้องถิ่น มีการย้ำให้หลีกเลี่ยงการก่อสร้างหรือขยายถนน 4 ช่องทางเกาะสี โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านเขตชุมชน หน้าโรงเรียน ฯลฯ เพราะรถจะวิ่งเร็ว ในขณะที่มีรถยนต์ จักรยานยนต์ คนเดินถนน มาหยุดรอที่เกาะสี เพื่อข้ามถนน
2. ในเส้นทางที่ยังคงมี “เกาะสี” ผู้ดูแลถนน (คมนาคม ท้องถิ่น ) พิจารณา
2.1 มีมาตรการตรวจสอบด้านความปลอดภัย (Road Safety Audit: RSA) ในทุกเส้นทางที่เป็นถนน 4 ช่องทางเกาะสี เพราะประเมินและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย
2.2 สำหรับจุดที่มีความเสี่ยง เช่น เขตชุมชน หน้าโรงเรียน หน้าตลาด ฯลฯ ควรพิจารณา
- เปลี่ยนจากเกาะสี เป็นกลางยกสูงหรือเกาะกลางที่มีความปลอดภัย
- ในขณะที่ยังไม่มีเกาะกลางยกสูง พิจารณาติดตั้งอุปกรณ์เตือนหรือช่วยลดความเร็ว รวมทั้งการออกแบบจุดรอเลี้ยวที่ปลอดภัย เช่น เพิ่มป้ายเตือน การติดตั้งแบริเออร์ หลักนำทาง การเพิ่มสัญญลักษณ์หรือทาสี (antiskid paint) ลงบนพื้นถนนในเขตจำกัดความเร็ว
2.3 กรณีที่มีอุบัติเหตุรุนแรง (เสียชีวิต 2 รายหรือบาดเจ็บมากกว่า 4 ราย) ควรมีการสอบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก (Accident Investigations) เพื่อทราบปัญหาสาเหตุสำหรับวางแผนป้องกันทั้งระดับพื้นที่และในส่วนกลาง
3. เพิ่มประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน มีความรู้และเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่บนเส้นทางที่เป็นเกาะสี
1 ผู้รับผิดชอบดูแลถนน (คมนาคม ท้องถิ่น) เพิ่มการสื่อสารให้กับประชาชนที่อยู่ริมทาง ทราบถึงความเสี่ยงในการข้ามหรือหยุดรอที่บริเวณเกาะสี เช่น หลีกเลี่ยงการหยุดรอ การข้ามในเวลากลางคืนหรือในที่ที่ไม่มีไฟส่องสว่าง
3.2 เน้นย้ำในเรื่องการห้ามใช้เกาะสีสำหรับแซง เพราะอาจจะชนคนเดินถนน รถจักรยานยนต์ ที่หยุดรอข้าม (ยกเว้นกรณีฉุกเฉินและเห็นว่าปลอดภัย)
3.3 กรมการขนส่งทางบก บรรจุเนื้อหาเรื่องการขับขี่ในเส้นทางที่มีเกาะสี สำหรับผู้ที่มาอบรมขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
แม้อุบัติเหตุจะมีปัจจัยจาก “คนขับ” เป็นสาเหตุหลัก แต่ปัจจัยจากตัว "ถนน" ที่ทำให้รถยนต์สามารถวิ่งด้วยความเร็ว หยุดกลับรถได้ตลอด หรือสามารถใช้เกาะสีสำหรับแซง กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของอุบัติเหตุ
นวัตกรรม “เกาะสี” ถือเป็นกรณีสำคัญ ที่ต้องนำมาเป็น “บทเรียน” และทบทวนการออกแบบและก่อสร้างที่อาจจะดูสะดวก ประหยัดงบประมาณ แต่ถ้าไม่ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมาประกอบด้วย
สุดท้ายแล้วจะกลายเป็น “ได้ไม่คุ้มเสีย” .. โดยคนที่เสียมากที่สุดก็คือประชาชนคนที่ใช้รถใช้ถนน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.workpointtv.com