- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- องค์กรด้านสิทธิฯแถลงการณ์จี้นายกฯตั้ง กก.สอบ ตร.คุกคามนักข่าวอิศราฯ-รื้อระบบสอบสวน
องค์กรด้านสิทธิฯแถลงการณ์จี้นายกฯตั้ง กก.สอบ ตร.คุกคามนักข่าวอิศราฯ-รื้อระบบสอบสวน
"สมาคมสิทธิเสรีภาพฯ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ในการจับกุมและแจ้งข้อหาต่อผู้สื่อข่าวโดยมิชอบ"
แถลงการณ์สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวและปฏิรูปตำรวจโดยแยกการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวนายณัฐพร วีระนันท์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา มาที่ สน.พหลโยธิน พร้อมกับแจ้งข้อหาบุกรุกสถานที่และยึดโทรศัพท์มือถือไว้ โดยให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติอาชญากร และควบคุมตัวไว้ในห้องขัง ก่อนที่จะให้ประกันตัวในวงเงิน 15,000 บาท ในระหว่างการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องหอพัก ที่ หจก.สมถวิล เรียลเอสเตรท ตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 32 ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กทม. ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ส.ค. 2560 เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหอพัก เพื่อตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่เสนอ ป.ป.ช.โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมภาย หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังความปรากฏตามสื่อมวลชนนั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนข้างท้ายนี้ เห็นว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการจับกุมและแจ้งข้อหาต่อผู้สื่อข่าวดังกล่าว อาจมีลักษณะกลั่นแกล้ง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการตั้งข้อหาบุกรุกนั้นต้องเป็นการรบกวนการครอบครอง หรือมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ กรณีนักข่าวท่านนี้ เพียงเข้าไปสอบถามผู้ดูแลสถานที่ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปมาสอบถาม หรือหาข้อมูลได้ไม่ใช่การกระทำความผิดฐานบุกรุก อีกทั้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวอาจถือเป็นการคุกคามและขัดขวางการประกอบวิชาชีพของผู้สื่อข่าว และเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อตรวจสอบการทุจจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนข้างท้ายนี้ขอเรียกร้อง ดังนี้
1.ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เพียงใด
2.ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยการแยกการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและให้อัยการควบคุมการสอบสวน รวมทั้งการแจ้งข้อหาต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดโดยพนักงานสอบสวนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ อันเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือการกลั่นแกล้งบุคคล โดยการตั้งข้อหา หรือแจ้งข้อหา โดยปราศจากข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานในการกระทำผิดอย่างเพียงพอ
ด้วยความเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน
วันที่ 11 สิงหาคม 2560
1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
3. สมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค
4. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก
5. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
6. สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น
7. สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด
8. สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก
9. สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม
10. สมาคมคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
11. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
12. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
13. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
14. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
15. มูลนิธิเพื่อนหญิง
16. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
17. มูลนิธิผู้หญิง
18. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
19. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม
20. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
21. เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดบุรีรัมย์
22. เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดหนองบัวลำภู
23. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (police watch)
24. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM )
25. เครือข่ายญาติผู้ถูกฆ่าตัดตอน สูญหายและทารุณกรรมประเทศไทย
26. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
27. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคเหนือ
28. เครือข่ายแม่หญิงลุ่มน้ำเจ้าพระยา
29. เครือข่ายเพื่อนหญิงนนท์
30. เครือข่ายแม่หญิงแม่ฮ่องสอน
31. เครือข่ายแม่หญิง จ.สุรินทร์
32. เครือข่ายแม่หญิง จ.บุรีรัมย์
33. เครือข่ายแม่หญิง จ.ศรีสะเกศ
34. เครือข่ายแม่หญิง จ.อุบลราชธานี
35. เครือข่ายเพื่อนหญิงอุตรดิตถ์
36. เครือข่ายการออมแห่งชาติภาคประชาชน(คอช.)
37. เครือข่ายแรงงานนอกระบบหาบเร่แผงลอยโบ๊เบ๊
38. ชมรมสุขภาพดีวิถีธรรมชาติ (Be Well)
39. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
40. ศูนย์เพื่อนหญิง อำนาจเจริญ