ฉากหลัง คดีบ้านเอื้ออาทร ผล ปย.ทับซ้อน-หัวคิวหลังละหมื่น
"...ความฉ้อฉลในเรื่องนี้ ถูกตีแผ่ครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค.2549 ...ผ่านข้ามทศวรรษ ผู้เกี่ยวข้อง ยังเสวยสุข ... สะท้อนให้เห็นถึง ด้านมืด หรือ บาดแผล ของประชานิยม ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จะปราบคอร์รัปชัน ชาตินี้ หรือ ชาติหน้า..."
ข่าวชิ้นหนึ่งที่ถูกเผยแพร่จากสื่อมวลชนหลายสำนักเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2560 คือกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับพวก กรณีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ข่าวระบุว่า ป.ป.ช.ชี้มูลเมื่อช่วงต้นปี 2560 ขณะนี้ อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับ อัยการ เนื่องจากมีข้อไม่สมบูรณ์ ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ป.ป.ช.อาจยื่นฟ้องเอง เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ณ ตอนนี้คดีจึงยังไม่ถึงมือศาล หลังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยุครัฐประหาร 2549 ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เมื่อหลายปีก่อน
จะผิดจะถูก? ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิอันชอบธรรมไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
เชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ถ้าเกิดขึ้นในบางประเทศที่กระบวนการตรวจสอบเข้มแข็ง ป่านฉะนี้ผู้กระทำผิดติดคุกเรียบร้อยแล้ว
หลายคนอาจลืมไปแล้วโครงการนี้มีความเป็นมาอย่างไร?
ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้ว่า
โครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นโครงการประชานิยมในยุครัฐบาลปี 2544 อยู่ในความรับผิดชอบของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) การกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเป้าหมายสร้างบ้านราคาถูกให้ผู้มีรายได้น้อย 6 แสนหน่วย ภายใน 5 ปี (2546-2550) มูลค่าเงินลงทุน 2.86 แสนล้านบาท ลงทุนไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ลงมือก่อสร้าง 347 โครงการ ดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ
1.การเคหะฯ จ้างผู้รับเหมามาก่อสร้างในที่ดินของการเคหะฯ (ใช้ในช่วงแรก 1-2 ปี) และ
2.ก่อสร้างแบบระบบเทิร์นคีย์ คือ การเคหะฯซื้อโครงการจากเอกชน มี 2 แบบ ได้แก่ ระบบเทิร์นคีย์เฉพาะโครงการ คือการเคหะรับซื้อโครงการจากเอกชน (ใช้ในช่วงปี 3-4หรือปี 2547-2548) และระเทิร์นคีย์แบบเหมาโควต้า หรือบิ๊กลอตซึ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง
การนำนโยบายไปปฏิบัติมีปัญหา 4 ประการ
1.ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) บริษัทของนักการเมืองและเครือญาติเป็นคู่สัญญารับเหมาหลายโครงการ อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทรขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ส่วนใหญ่ เป็น ส.ส. รวมมูลค่าหลายพันล้านบาท ผู้รับเหมาอย่างน้อย 1 ราย เป็นคู่สัญญารับเหมาแบบเทิร์นคีย์ จำนวน 23,000 หน่วย เป็นของรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลขณะนั้น
2. ปัญหาการ ‘พอกส่วนต่าง’ในการจัดซื้อที่ดิน
โครงการรังสิตคลอง 2 เนื้อที่ 42 ไร่ เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นสินทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย ประเมินราคาไว้ที่ 55 ล้านบาท กลุ่มนายหน้านำไปเสนอขายให้แก่บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริง จำกัด จำนวน 89.25 ล้านบาท ต่อมาได้นำไปเสนอขายให้การเคหะฯในราคา 97.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 2.3 ล้านบาท เกิดกำไรส่วนต่างประมาณ 40 ล้านบาท
โครงการรังสิตคลอง 9 พื้นที่ 100 ไร่การเคหะฯ ทำสัญญาจัดซื้อที่ดินจากเอกชน ไร่ละ 1 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มนายหน้าร่วมกับเจ้าหน้าที่การเคหะฯ จัดซื้อที่ดินจากคนตระกูลเทวกุล ไร่ละ 550,000 บาท นำไปขายต่อให้เอกชนไร่ละ 700,000 บาท เอกชนนำไปขายให้การเคหะฯ ไร่ละ 1 ล้านบาท เกิดส่วนต่างประมาณ 45 ล้านบาท แบ่งกันระหว่าง นายหน้า ผู้รับเหมา และเจ้าหน้าที่
โครงการบ่อพลับ จ.นครปฐม การเคหะฯทำสัญญาร่วมดำเนินโครงการกับกิจการร่วมค้าพีซีซี ขนาด 1,000 หน่วย เนื้อที่ 23 ไร่เศษ แบ่งเป็นค่ารับเหมา 352 ล้านบาท ค่าที่ดิน 71 ล้านบาท หรือไร่ละ 3 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่าราคาที่ดินที่ผู้รับเหมาซื้อจากชาวบ้านมีราคาเพียงไร่ละ 1.6 ล้านบาท
โครงการศรีอินทราทิตย์ จ.ลพบุรี การเคหะฯว่าจ้างระบบเทิร์นคีย์กับผู้รับเหมาของอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง วงเงิน 432.6 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 104 ไร่ 62.4 ล้านบาท หรือราคาไร่ละ 600,000 บาท แต่ราคาต้นทุนที่ผู้รับเหมาซื้อจากชาวบ้นจริงๆ ในราคาเพียงไร่ละ 250,000 บาท เท่ากับมีการพอกส่วนต่างกว่าเท่าตัว
3.ปัญหาการเบิกเงินล่วงหน้า กินเปล่า แล้วทิ้งงาน อาทิ ผู้รับเหมารายหนึ่ง เป็นแค่ หจก. มีสำนักงานที่ตั้งเป็นเพียงห้องแถวซอยลาดปลาเค้า กรุงเทพฯ บัญชีงบดุล มีรายได้ไม่กี่แสนบาท เป็นคู่สัญญากับการเคหะฯกว่า 40 สัญญา รวมมูลค่านับหมื่นล้านบาท เช่น โครงการบ่อวิน อ.ศรีราชา จ. ชลบุรี ทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 มีการจ่าย “เงินล่วงหน้า” ให้แก่ผู้รับเหมารายนี้ไปแล้ว 119 ล้านบาท เป็นโครงการทิ้งร้าง ส่วน โครงการกุฎโง้ง จ.ชลบุรี , สุราษฎร์ธานี , ภูเก็ต , โครงการโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะโครงการหลังเบิกเงินล่วงหน้า 365 ล้านเมื่อสิ้นสุดสัญญาได้เพียงซากบ้านเน่าๆ 2 หลัง
4.ปัญหาเรียกรับหัวคิว ‘นายหน้า’ ซื้อขายที่ดินคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทำเป็นขบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหา จัดซื้อที่ดิน การอนุมัติ มีการเรียกเก็บ ค่าหัวคิว หน่วยละ 10,000 บาท ผ่าน ‘พ่อค้า’ คนใกล้ชิด สมมติว่า ถ้า บริษัท ก.ได้รับโควต้า 10,000 หน่วย จะต้องจ่ายเงินสด 100 ล้านบาท นายหน้าคนนี้ต่อมาเป็นพยานปากสำคัญของอนุกรรมการตรวจสอบทุจริตของ คตส.
ยังไม่นับกรณีพิสดาร โครงการบางพลี และ ร่มเกล้า การเคหะฯ ทำสัญญาว่าจ้างระบบเทิร์นคีย์กับผู้รับเหมารายเดียวกับโครงการโรจนะ 4,898.8 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 612 ล้านบาท พบว่าที่ดินที่มาทำโครงการประมาณ 100 ไร่เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของการเคหะฯมาก่อน การเคหะฯใช้วิธีขายให้เอกชนแล้วซื้อกลับคืนมาในรูปของระบบเทิร์นคีย์
มีนักการเมืองที่ดูแลการเคหะฯอย่างน้อย 3 คน โครงการระบบเทิร์นคีย์จัดแบ่งโควต้าให้ผู้รับเหมารายใหญ่เพียง 6-7 กลุ่ม ผู้รับเหมารายหนึ่งก่อตั้งวันที่ 19 ก.ค. 2547 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ในปีเดียวกันได้โควต้าถึง 6 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท (บริษัทนี้ได้ทั้งหมด 10 โครงการ 7.2 พันล้านบาท) ต่อมาบริษัทนี้ถูก คตส.ตรวจพบว่าจ่ายสินบนให้นักการเมืองรายหนึ่ง 82.6 ล้านบาท ผ่านเจ้าของบริษัทค้าข้าวผู้อื้อฉาวและคนขับรถ (เป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองใหญ่แห่งหนึ่งด้วย)
บริษัทรับเหมานี้มีที่ตั้งอยู่ริม ถ.รัตนาธิเบศร์ (ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร) เยื้องๆ ตรงข้ามห้างดัง ชาวมาเลเซีย ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับคนไทยที่เชื่อว่าเป็นนอมินีมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นนทบุรี (ต่อมาผู้ถือหุ้นคนไทยรายนี้เปลี่ยนชื่อใหม่) ปัจจุบันบริษัทและกรรมการมีสถานะล้มละลาย ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2555 ธนาคารต่างชาติแห่งหนึ่งเป็นเจ้าหนี้
หากเอาจริง ไม่ลูบหน้าปะจมูก ตรวจสอบทุกโครงการที่ทำไปแล้วในโครงการนี้และเกิดความเสียหาย คนติดคุกอาจมีเป็นร้อย และควรใช้ช่องทางของกฎหมายยึดทรัพย์อีกทางหนึ่งด้วย
ความฉ้อฉลในเรื่องนี้ ถูกตีแผ่ครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค.2549 เมื่อครั้งอยู่ประชาชาติธุรกิจ ผ่านข้ามทศวรรษ ผู้เกี่ยวข้อง ยังเสวยสุข ยิ่งกว่ามหากาพย์ สะท้อนให้เห็นถึง ด้านมืด หรือ บาดแผล ของประชานิยม
ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จะปราบคอร์รัปชัน ชาตินี้ หรือ ชาติหน้า ดีครับ
----
หมายเหตุอ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 28 ส.ค.2549หน้า 1,21, ฉบับ 4 ธ.ค.2549 หน้า 44, ฉบับวันที่ 15 ม.ค.2550 หน้า44, ฉบับวันที่ 18 ม.ค.2550 หน้า 44, ฉบับวันที่ 25 ม.ค.2550 หน้าม44, ฉบับวันที่ 29 ม.ค.2550 หน้า44, ฉบับวันที่ 26 ม.ค.2550 หน้า2, ฉบับวันที่ 26 มี.ค.2550 หน้า 21 และ หน้า 44 และอีกหลายฉบับ