เบื้องลึกมหายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
14-15 พ.ค.ที่ผ่านมา จีนจัดการประชุม Belt & Road Forum อย่างใหญ่โตมโหฬาร มีผู้นำและตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 130 ประเทศ และ 70 องค์กรระหว่างประเทศ จึงขอนำเสนอสาระในเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับประเทศไทย จากเวทียุทธศาสตร์ เรื่อง โอกาสของไทยกับยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน ซึ่งสถาบันคลังปัญญาฯ จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
โดยมี คุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน คุณโจ ฮอร์น พัธโนทัย CEO บริษัท Strategy613 บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน และ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ครั้งนี้ โดยพูดถึงเบื้องหลังของวัตถุประสงค์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของจีนในการทำยุทธศาสตร์ Belt and Road /One Belt One Road (OBOR) หรือที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะเชื่อมจีนเข้ากับส่วนอื่นๆ ของเอเชีย และกับยุโรป และแอฟริกา ผ่านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล เพื่อกระตุ้นการค้าในภูมิภาคนี้ของโลก
คุณวิบูลย์ คูสกุล กล่าวว่า ในภาพรวม จีนคิด OBOR เป็นยุทธศาสตร์เพื่อไปสู่เป้าหมายความฝันจีน (China Dream) ซึ่งจีนตั้งใจจะก้าวไปเป็นสังคมกินดีอยู่ดีปานกลางในปี 2021 และเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2049 โดยการหันทิศทางของประเทศออกไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างเต็มรูปแบบ ในอีก 20-30 ปีต่อจากนี้ นอกจากนี้ OBOR ยังตอบโจทย์ทางการเมืองและความมั่นคงของจีนด้วย เช่น ตอบโต้นโยบาย Pivot/Rebalance to Asia ของสหรัฐในช่วงต้นของการประกาศแผน OBOR เมื่อปี 2013 ตอบโต้การกดดันของสหรัฐต่อจีนในทะเลจีนใต้ และภาพลักษณ์ที่จีนคุกคามเพื่อนบ้าน ด้วยการทำให้เห็นว่าจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่นุ่มนวลและเกื้อกูลกับประเทศอื่นๆ ได้ผ่านข้อเสนอ OBOR
ทางเศรษฐกิจ คุณโจ ฮอร์น พัธโนทัย CEO บริษัท Strategy613 มองว่า OBOR ตอบโจทย์จีนยุคนี้ที่ต้องการออกหาตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อระบาย over-capacity ของเศรษฐกิจจีน ด้วยการออกไปขายโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศโดยใช้แรงงานจีนเพื่อสร้างการจ้างงานให้คนจีน และเพื่อแปลงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและพันธบัตรสหรัฐที่จีนถือไว้ล้นเหลือให้เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ถนน รางรถไฟ ท่าเรือ ในประเทศต่างๆ รวมทั้งผลักดันให้การใช้เงินหยวนในโลกแพร่หลายและเพื่อให้บริษัทจีนขยายสัดส่วนรายได้ให้มาจากนอกประเทศมากขึ้น
ในปัจจุบัน นโยบาย OBOR ได้เดินหน้าทำไปแล้ว และจะเป็นทิศทางระยะยาวที่จีนจะเดินอีก 20-30 ปีดังที่กล่าวไป แต่เวลานี้การอนุมัติโครงการต่างๆ ต้องชะลอตัวลงชั่วคราว เนื่องจากจีนอยู่ในช่วงชะลอการใช้จ่าย เพราะค่าเงินหยวนอ่อนลงทำให้เงินสำรองต่างประเทศหายไปถึง 1 ล้านล้านเหรียญ เมื่อใดที่จีนพร้อม การขับเคลื่อน OBOR ก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน
ข้อเสนอท่าทีของไทยต่อ OBOR จากที่ประชุม
1. ให้ไทยยึดหลักทำความร่วมมือแบบ win-win กับจีน สนองประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม อะไรที่ไม่ดีกับเราก็ไม่จำเป็นต้องทำ แน่นอนว่าไทยต้องรักษามิตรภาพที่ดีมากกับจีนไว้ในภาพรวม โดยเฉพาะเมื่อจีนมีน้ำหนักกับเศรษฐกิจไทยมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่เกรงใจจีนจนเกินไป โครงการใดที่สนองประโยชน์ฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายย่อมไม่อาจสำเร็จหรือหากสำเร็จก็ไม่ยั่งยืน เราไม่จำเป็นต้องร่วมมือตามวาระของจีนอย่างเดียว แต่ควรต่อรองจนเราได้ประโยชน์เต็มที่ และควรเป็นฝ่ายริเริ่มความร่วมมือจากเรื่องที่เป็นข้อได้เปรียบของเราด้วย
ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เป็นตัวอย่างของโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสนองประโยชน์และวาระของจีนมากกว่าไทย จีนต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อจะได้ประโยชน์จากการสร้าง (ระบายศักยภาพการก่อสร้างและแรงงานจีน) มากกว่าประโยชน์จากการใช้ แต่รถไฟความเร็วสูงนั้นคำนวณแล้วไม่คุ้มค่ากับประเทศไทย เพราะจะมีคนใช้ไม่มากพอจะคุ้มทุน ทั้งจากเหตุผลเรื่องเส้นทางที่ไม่ตอบสนองความต้องการของไทย ซึ่งจีนต้องการให้สร้างเส้น กรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟที่จีนสร้างต่อเข้ามาในลาว แต่ไทยไม่ได้จำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางนี้ ถ้าต้องทำ ไทยจะได้ประโยชน์จากเส้นทางอย่าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มากกว่า ประกอบกับเมื่อคำนวณต้นทุนแล้ว ราคาตั๋วรถไฟจะแพงกว่าหรือไม่ถูกกว่าเครื่องบินเท่าใดนัก ดังนั้นก็จะแข่งกับการเดินทางที่มีอยู่โดยสายการบินหรือรถทัวร์ไม่ได้
อดีตเอกอัครราชทูตวิบูลย์ เสนอว่า การร่วมมือกับจีนในโครงการ OBOR ต้องสนองประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แนวทางการใช้โอกาสจาก OBOR คือไทยควรรู้ว่าตัวเองต้องการประโยชน์อะไรจากจีน เช่น หากต้องการเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ หรือชิ้นส่วนอากาศยาน และหากจีนมีเทคโนโลยีด้านนี้อยู่ ก็มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โครงการแบบนี้มีโอกาสที่จะขอเงินกู้จากธนาคาร AIIB ได้
2. พัฒนาคนไทยและดึงดูดคนจีนเข้ามาลงทุนในไทย OBOR มิได้หมายถึงเพียงการสร้างทางรถไฟ หรือ ขุดคอคอดกระ เท่านั้น แต่ OBOR ในความหมายกว้างกว่านั้น คือธงนำว่าจีนจะออกนอกประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึงทุนและคนมหาศาลที่จะออกมา ไทยสามารถได้ประโยชน์จาก OBOR ได้โดยการดูดซับทุนและคนที่ไหลออกจากจีนมากมายนี้ โดยมิต้องสร้างทางรถไฟหรือขุดคอคอดกระหากเราไม่เต็มใจ โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่มีอยู่ โดยเฉพาะที่ตั้งของประเทศ ด้วยการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานภายใต้กรอบ ASEAN Connectivity (ที่ไทยร่วมกับประเทศอาเซียนสร้างมาระยะหนึ่งแล้ว) เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานของ OBOR พร้อมเพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจจีนและต่างชาติอื่นด้วยมาตรการทางกฎหมายและภาษี เพื่อดึงดูดทุนและผู้มีความสามารถจากจีนและชาติอื่นๆ มาเสริมในการพัฒนาประเทศ เช่น ลดภาษีแก่บุคลากรต่างชาติที่มีความสามารถสูงให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของ EEC (Eastern Economic Corridor) ปรับปรุงกฎหมายประกอบธุรกิจต่างด้าว (FBA) หรือระเบียบการต่อใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้สะดวก รวมถึงการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและทำงานระยะยาวของนักธุรกิจจีนในไทย เป็นต้น มาตรการดึงดูดนี้จำเป็น แม้เราจะมีชัยภูมิของประเทศที่ดีหรือมีความพร้อมต่างๆ เพราะหลายประเทศต่างต้องการดึงดูดจีนเช่นกัน เช่น มาเลเซียเพิ่งได้เงินกู้จีนมาทำโครงการสร้างทางรถไฟจากท่าเรือเคลัง (Klang) ถึงท่าเรือกวนตัน (Kauntan) เป็นสะพานทางบกเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ที่อาจสามารถ bypass ช่องแคบมะละกา และเชื่อมการขนส่งไปถึงนครเซินเจิ้นได้ นอกจากนี้ แม้เราจะได้เปรียบเรื่องที่ตั้ง แต่นอกจากทางบกและทะเลแล้ว OBOR ยังมีมิติของ E-Silk Road เช่น E-commerce ด้วย ในมิตินี้ชัยภูมิอาจไม่ได้ทำให้ได้เปรียบเท่าไรนัก เพราะเป็นการค้าไร้พรมแดน
3. ดำเนินความร่วมมือกับจีนโดยยึดประโยชน์แห่งชาติมิให้ไทยเสียเปรียบ หลายโครงการที่จีนผลักดันให้ไทยทำ เช่น การขุดคอคอดกระ และการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ของจีนแล่นเข้ามาได้นั้น มีประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ ไทยจึงควรระมัดระวังในการดำเนินความร่วมมือกับจีนให้ไม่เสียเปรียบ เพราะผลประโยชน์หลายเรื่องไม่ตรงกัน อย่างประเด็นการขุดคอคอดกระ ซึ่งถกเถียงกันมานาน การศึกษาครั้งล่าสุดของไทยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ผลว่าไม่คุ้มค่า คลองที่ขุดจะไม่ได้ช่วยย่นเวลาการเดินเรือได้มากอย่างที่คาด เพราะเหตุผลเชิงเทคนิคว่าเรือต้องลดความเร็วลงเมื่อเข้ามาในคลอง เมื่อไม่คุ้มในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็เป็นไปได้ว่าที่จีนผลักดันมากเพราะมีผลประโยชน์ทางความมั่นคง
4. ไทยควรใช้บทบาทร่วมหลายฝ่ายทั้ง รัฐ มหาวิทยาลัย Think Tank ภาคธุรกิจ กองทัพ และกระทรวงการต่างประเทศ ในการคิดเรื่องยุทธศาสตร์ใหญ่ การทำหรือกำหนดท่าทีสนองยุทธศาสตร์ใหญ่เช่นนี้ต้องระดมความเห็นและความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะช่วยกันคิด ส่งเสริม และผลักดัน เพื่อให้ไทยมีบทบาทที่เหมาะสมและได้ประโยชน์จากมหายุทธศาสตร์นี้อย่างเต็มที่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากสยามรัฐ