ไม่ต้องเกรงใจ-ไร้ผล ปย.ทับซ้อน! ‘สมเกียรติ’แจงปมTPBSซื้อหุ้นกู้ CPF
“…ผมไม่คิดว่า Thai PBS ในฐานะ “เจ้าหนี้” จะต้องไปเกรงอกเกรงใจ CPF ซึ่งเป็น “ลูกหนี้” ในการทำข่าวแต่อย่างใด ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ แต่เป็นความเสี่ยงทางการเงินกรณีที่ลูกหนี้ไม่ใช้เงินคืน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีนี้เพราะเครือซีพีมีฐานะการเงินมั่นคง…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somkiat Tangkitvanich’ กรณีปรากฏบทสัมภาษณ์ของ ดร.สมเกียรติ ในรายงานการชี้แจงของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีซื้อตราสารหนี้ของ CPF ดังนี้
----
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง Thai PBS ซื้อตราสารหนี้ (หุ้นกู้) ของ CPF นักข่าวหลายคนติดต่อสัมภาษณ์ผม ผมได้ให้สัมภาษณ์ไปเพียงบางแห่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถตอบคำถามต่าง ๆ ทีละครั้งได้หมด จึงขอแสดงความเห็นในบางประเด็นผ่าน Facebook ไปทีเดียวครับ
ประเด็นแรก มีคำถามว่า Thai PBS ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ ไม่ควรลงทุนในตลาดทุน เพราะจะเป็นการแสวงหาผลกำไรใช่หรือไม่?
มาตรา 11 ของกฎหมาย Thai PBS เขียนไว้ชัดเจนว่า รายได้ของ Thai PBS มาจาก 7 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่งคือดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุน การที่ Thai PBS ไปลงทุนในการซื้อตราสารหนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด
ในต่างประเทศ เป็นเรื่องปรกติที่องค์กรสาธารณะ ซึ่งรวมถึงองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ทั้งมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เอาทรัพย์สินของตนไปลงทุนในตลาดทุน (ซื้อหุ้น ตราสารหนี้และอื่น ๆ) เพราะหากจะให้เอาเงินไปฝากธนาคารอย่างเดียวก็จะได้ผลตอบแทนต่ำมาก ไม่เพียงพอกับการนำไปสนับสนุนกิจกรรมขององค์กร โดยเฉพาะในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเช่นในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่มีผลตอบแทนสูงเกินกว่า 10% ต่อปีต่อเนื่องหลายปี จากการลงทุนอย่างฉลาดในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital)
ในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดว่า องค์กรสาธารณะไม่สามารถ หรือไม่ควรลงทุนใด ๆ นอกจากฝากเงินกับธนาคาร มิฉะนั้นจะเป็นการแสวงหาผลกำไร ซึ่งผิดวัตถุประสงค์องค์กร ผลก็คือองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งมูลนิธิจำนวนมากมีปัญหาการขยายกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของตน เพราะขาดเงินทุน ในความเป็นจริง เส้นแบ่งของหน่วยงานแสวงหาผลกำไร และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรคือ มีการนำส่วนของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายมาแบ่งกันในรูปเงินปันผลหรือไม่ ไม่ใช่ว่ารายได้มาจากไหน
ประเด็นที่สอง มีคำถามว่า การไปลงทุนตราสารหนี้ของ CPF จะทำให้ Thai PBS เสียความอิสระในการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับ CPF หรือไม่?
การลงทุนตราสารหนี้ของ CPF ทำให้ Thai PBS มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของ CPF ไม่ใช่เป็น “ผู้ถือหุ้น” ดังที่จะเกิดจากการลงทุนในหุ้น ความแตกต่างก็คือ เจ้าหนี้จะได้ผลตอบแทนในอัตราแน่นอนคือ ดอกเบี้ย โดยไม่ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทเหมือนการได้เงินปันผลของผู้ถือหุ้น ในแง่มุมดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่แตกต่างจากการที่ Thai PBS เอาเงินไปฝากธนาคารสักแห่ง เพราะมีผลทำให้ Thai PBS มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของธนาคารนั้นเช่นกัน และไม่น่าจะทำให้ Thai PBS ทำข่าวที่เกี่ยวกับธนาคารนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้
ผมไม่คิดว่า Thai PBS ในฐานะ “เจ้าหนี้” จะต้องไปเกรงอกเกรงใจ CPF ซึ่งเป็น “ลูกหนี้” ในการทำข่าวแต่อย่างใด ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ แต่เป็นความเสี่ยงทางการเงินกรณีที่ลูกหนี้ไม่ใช้เงินคืน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีนี้เพราะเครือซีพีมีฐานะการเงินมั่นคง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนของ Thai PBS ในตราสารหนี้ของ CPF จะไม่มีประเด็นคำถามเลย เพราะการไปลงทุนที่เฉพาะเจาะจงในกิจการใดนั้น นอกจากจะมีมิติด้านการเงินแล้ว ยังมีมิติในเชิง “สัญลักษณ์” ด้วย โดยการลงทุนนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการ “สนับสนุน” องค์กรที่ไปลงทุนนั้น ในต่างประเทศ กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนบำนาญข้าราชการของแคลิฟอร์เนีย (CalPERS) ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า จะหลีกเลี่ยงจากการลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังว่าความเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตนจะช่วยปรับพฤติกรรมของบริษัทต่าง ๆ ได้
ในประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” ซึ่งมุ่งลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี แล้วเอาเงินปันผลส่วนหนึ่งไปสนับสนุนงานต่อต้านคอรัปชัน ซึ่งมีผลดีทั้งมิติทางสังคมและมิติทางสัญลักษณ์
ดังนั้น คำถามในเรื่องนี้ก็คือ Thai PBS ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่มีภารกิจเพื่อมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ควรลงทุนใน CPF หรือไม่? หากดูท่าทีของสาธารณะต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเครือซีพีในกรณีต่าง ๆ ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ผู้บริหาร Thai PBS ควรพิจารณาทบทวนการลงทุนนี้อีกครั้ง
เรื่องนี้ไม่ถึงกับมีผลกระทบเสียหายอะไรมากมาย ถ้าทำไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก็คิดใหม่ ทำใหม่ได้ครับ
อ่านประกอบ :
ชัดๆไทยพีบีเอส แจงเหตุลงทุนหุ้นกู้ซีพีเอฟ-งบบริหารปีละ2พันล.ไม่เพียงพอ
ชัดแล้วส.ท.ท.ใช้เงิน200ล.ซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ! พนง.หวั่นไม่สง่างามจี้ฝ่ายบริหารแจง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ดร.สมเกียรติ จาก TDRI