สนง.ราชบัณฑิต ตอบข้อสงสัยวิธีการใช้ศัพท์ "สวรรคาลัย-สวรรคต"
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตอบข้อสงสัยของประชาชน การใช้วลี "เสด็จสู่สวรรคาลัย" ว่าควรต้องมีคำว่า "ส่งเสด็จ" ด้วยหรือไม่ โดยให้ใช้คำว่า "เสด็จสู่สวรรคาลัย" หรือใช้คำว่า "พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย" เพื่อให้สื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำว่า "ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย" สำหรับราชาศัพท์คำว่า "สวรรคต" เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ผู้ใช้จึงควรศึกษาค้นคว้าข้อมูลการใช้ในแต่ละสมัยด้วย
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้รับคำถามเกี่ยวกับการใช้ราชาศัพท์ "เสด็จสู่สวรรคาลัย" ว่าควรต้องมีคำว่า "ส่งเสด็จ" ด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เคยให้ข้อมูลความหมายวลีดังกล่าวเมื่อครั้ง สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนรนาธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ว่า
คำว่า "สวรรคาลัย" มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (ปัจจุบันใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) คือ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการส่งเสด็จไปสู่สวรรค์ ทำให้การใช้คำว่า "สวรรคาลัย" เป็นการสื่อความหมายไม่ถูกต้องนั้น เป็นความเข้าใจที่เกิดจากการแปลตรงตามรูปศัพท์
โดยแท้จริงแล้ว คำว่า "สวรรคาลัย" มาจากคำว่า "สวรรค" (สะ-หวัน-คะ) และ "อาลัย" ซึ่งคำว่า "สวรรค,สวรรค์" เป็นคำนาม หมายถึง โลกของเทวดา,เมืองฟ้า คำว่า "อาลัย" ที่เป็นคำนาม มีความหมายว่า ที่อยู่ ที่พัก ดังนั้น วลี "สู่สวรรคาลัย" จึงหมายถึง สู่ที่อยู่ในสวรรค์ สู่ที่พักในสวรรค์ ความหมายรวม ๆ ก็คือ สู่สวรรค์ วลี "เสด็จไปสู่สวรรคาลัย" จึงสื่อความหมายได้ว่า (พระองค์) เสด็จสู่สวรรค์ หรือ (พระองค์) เสด็จสู่สรวงสวรรค์
อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้น เข้าใจว่า "ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย" หมายถึง ส่งเสด็จสมเด็จสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนรนาธิวาสราชนครินทร์ ไปสู่สรวงสวรรค์ แต่คำถามมีอยู่ว่าใช้ได้หรือไม่
ในเรื่องนี้ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศิริ ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประสริฐ ราชบัณฑิต และที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ และอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ รองประธานคณะกรรมการฯ มีความเห็นพ้องกันว่า พระองค์ทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยพระองค์เอง
ทั้งนี้ หากใช้คำว่า "ส่งเสด็จ" นำหน้าวลี "สู่สวรรคาลัย" อาจทำให้สื่อความหมายได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ส่งเสด็จพระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์
ดังนั้น หากลดหรอละการใช้คำว่า "ส่ง" ออกไปเหลือ "เสด็จสู่สวรรคาลัย" หรือใช้คำว่า "พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย" ก็จะทำให้ถ้อยคำดูสวยงาม และสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำว่า "ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย"
สำหรับ ข้อสงสัยของประชาชนเรื่อง ราชาศัพท์ "สวรรคต"
งานวิชาการประเภทหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน คือ งานจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน การเว้นวรรค การใช้ลักษณนาม นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์ซึ่งประมวลจากแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนัก เอกสารโบราณ จดหมายเหตุ ตลอดจนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้ราชาศัพท์ในการปฏิบัติงานอยู่เป็นประจำจากสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ การศึกษาระเบียบแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติ ประวัติความเป็นมา พัฒนาการใช้ราชาศัพท์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พระราชนิยมที่ใช้เป็นแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติในบางรัชกาลที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ราชาศัพท์เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ผู้ใช้ราชาศัพท์จึงควรศึกษาค้นคว้าข้อมูลการใช้ในแต่ละสมัยด้วย
การใช้ราชาศัพท์ของคำว่า "ตาย" ที่คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำไว้ มีดังนี้
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
14 ต.ค. 2559