สมเกียรติ อ่อนวิมล:บังคลาเทศ vs ไทยประเทศ ประชาธิปไตยแบบรุนแรง
"..บังคลาเทศเป็นแบบอย่างของความแตกแยกของประชาชน อันเนื่องมาจากต่างฝ่ายต่างก็แยกกันสนับสนุนพรรคการเมืองของฝ่ายตน ไม่มีใครคิดถึงประเทศชาติหรือประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากจะคิดถึงอำนาจของพวกตนเอง.."
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง บังคลาเทศ vs ไทยประเทศ ประชาธิปไตยแบบรุนแรง ทำลายชาติตลอดกาล ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า "สมเกียรติ อ่อนวิมล"
โดยมีเนื้อหาดังนี้
การเลือกตั้งที่บังคลาเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2557 ที่ผ่านมาพรรคสันนิบาติอาวามี (Awami League - AL) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ส่งผู้สมัครลงแข่งขันฝ่ายเดียว ส่วนพรรคชาตินิยมบังคลาเทศ (Bangladesh Nationalist Party - BNP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคการเมืองพรรคเล็กอีกพรรค ประท้วงคว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลย วันเลือกตั้งจึงเกิดความรุนแรง มีเหตุการณ์ประท้วงขัดขวางทำลายกระบวนการเลือกตั้ง โดยฝ่ายที่คัดค้าน ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 18 คน หน่วยเลือก ตั้งหลายแห่งถูกเผา ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นก็แน่นอนว่าพรรครัฐบาลกลับมาครองอำนาจต่อโดยคะแนนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเหลือเฟือที่จะปกครองประเทศต่อไปได้เพราะไม่มีฝ่ายค้าน เพียงแต่ว่าประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำสุดถึงประมาน 20% ทำให้การเมืองบังคลาเทศกลับเข้าวังวนแห่ง “ประชาธิปไตย-แบบไม่เป็นประชาธิปไตย” ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภามาจากเสียงส่วนน้อยของประชาชน อำนาจตำรวจทหารหนุนหลังและขัดขวางการเมืองสองฝ่ายในบังคลาเทศต่อไป และจะเป็นเช่นนี้ต่อๆไป...อีกนาน
บังคลาเทศเป็นแบบอย่างของความแตกแยกของประชาชน อันเนื่องมาจากต่างฝ่ายต่างก็แยกกันสนับสนุนพรรคการเมืองของฝ่ายตน ไม่มีใครคิดถึงประเทศชาติหรือประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากจะคิดถึงอำนาจของพวกตนเอง จนไม่มีวันที่จะปรองดองกันได้มายาวนานนับแต่เกิดมาเป็นประเทศเอกราช เริ่มประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของบังคลาเทศหลังได้รับเอกราชมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1971
ระยะนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง มีมวลมหาประชาชนนับหลายล้านรวมตัวกันประท้วงขับไล่รัฐบาลและระบบการครองอำนาจของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพี่ชายที่ชื่อ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางวิกฤตินี้ ข่าวการเมืองรุนแรงในบังคลาเทศก็ถูกยกมาเป็นแบบอย่างเชิงเปรียบเทียบในหมู่นักคิดนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปราศัยของนักวิชาการบนเวทีมวลมหาประชาชนราชดำเนิน โดยบอกว่าวิกฤติการเมืองในบังคลาเทศมีหลายอย่างคล้ายกับวิกฤติและพฤติกรรมการเมืองของไทยขณะนี้
วิเคราะห์ดูแล้วก็พอที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อหาบทเรียนจากบังคลาเทศได้
วิกฤติการเมืองในบังคลาเทศมีบางอย่างที่คล้ายกับวิกฤติการเมืองไทยปัจจุบัน:
1. บังคลาเทศเลือกใช้ความรุนแรงในการสร้างชาติ ซึ่งก็ล้มเหลวมาตลอดนับแต่แยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถานเมื่อปี 1971 เป็นต้นมาแล้ว
2. ประวัติศาสตร์โดยย่อของบังคลาเทศเริ่มจากการเป็นดินแดนปากีสถานตะวันออกของประเทศปากีสถานซึ่งมีอีกส่วนหนึ่งเป็นปากีสถานตะวันตก สืบเนื่องมาจากการที่ปากีสถานแยกตัวออกจากอินเดียตอนที่อังกฤษให้เอกราชแก่อาณานิคมอินเดียเมื่อปี 1947 เหตุที่ขอแยกตัวเป็นประเทศปากีสถาน ไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียต่อไปก็อ้างว่าพลเมืองมุสลิมอยู่ในทั้งสองดินแดนนี้อย่างหนาแน่น ไม่ควรที่จะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียที่มีชนชาวฮินดูเป็นส่วนใหญ่ ควรที่แยกเป็นประเทศใหม่ของคนมุสลิมโดยเฉพาะ เป็นประเทศที่มีชื่อใหม่ว่า “ปากีสถาน” แต่กาลเวลาผ่านไปปัญหาใหญ่ก็ปรากฏ ความที่ปากีสถานตะวันออกแม้จะเป็นมุสลิมเหมือนปากีสถานตะวันตกแต่ก็มีวัฒนธรรมเบงกอลเป็นของตนเอง ชาวเบงกอลมีวิถีชีวิต ภาษา วรรณกรรม และศิลปวัฒนธรรมโดดเด่นเป็นของตนเอง
ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับชาวปากีสถานตะวันตกซึ่งมีวัฒนธรรมเปอร์เชีย-ปาธาน แถมปากีสถานตะวันออก (เดิมเรียกว่า “เบงกลอตะวันออก”) ยังเป็นดินแดนที่แยกออกจากกันโดยมีประเทศอินเดียคั่นกลางอยู่ห่างไกลจากปากีสถานภาคตะวันตกถึง 1,600 กิโลเมตร ในที่สุดปากีสถานตะวันออกก็ทำสงครามแยกประเทศออกจากปากีสถานตะวันตก ได้อาศัยอินเดียเป็นผู้หนุนหลังให้ที่จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ได้ตำรวจและทหารในปากีสถานตะวันออกช่วยกอบกู้เอกราชใหม่จนสำเร็จ แล้วประกาศตั้งประเทศใหม่ ชื่อ “ประเทศเบงกอล” หรือ “เบงกอลประเทศ” (Bangal Pradesh) หรือชื่อสากลว่า “Bangladesh / บังคลาเทศ” ตามที่เรียกกันในปัจจุบัน [คำว่า “Pradesh” หรือ “ประเทศ” เป็นภาษาสันสกฤต ที่ใช้เรียกชื่อ”ประเทศ”ไทย ด้วย ในอินเดียชื่อรัฐต่างๆก็จะเรียกเป็น “ประเทศ” เหมือนกัน เช่น “อุตตระประเทศ” (Uttar Pradesh / รัฐภาคเหนือ / อุดรประเทศ), “มัธยะประเทศ” (Madhaya Pradesh / รัฐภาคกลาง / มัธยมประเทศ)] แต่ 1 ปีแห่งสงครามแยกประเทศก็ต้องฆ่าฟันกันล้มตายไปประมาณ 3 ล้านคน พรรคสันนิบาตอาวามี (Awami League - AL) นำโดยชีคมูจิเบอร์ ราห์มาน (Sheik Mujibur Rahman เรียกย่อว่า “มูจิ๊บ”) เป็นผู้นำกู้ชาติในวาระเริ่มแรก และได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลที่สมบูรณ์หลังเริ่มระบอบประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1973 มูจิ๊บปกครองประเทศแบบการเมืองพรรคเดียวใช้นโยบายสังคมนิยม ไม่มีฝ่ายค้าน จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 1975 ชีคมูจิเบอร์ ราห์มาน หรือ “มูจิ๊บ” ก็ถูกสังหารยกครอบครัวโดยฝีมือของฝ่ายทหาร มีลูกสาวรอดชีวิตมาได้คนเดียว คือ (นาง) เชค ฮาซีน่า (Sheik Hasina) ซึ่งเธอก็ได้สืบสานอำนาจการเมืองของพรรคพ่อมาถึงวันนี้ จากนั้นมาบังคลาเทศก็จมปลักอยู่ภายใต้อำนาจทหาร ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนวนกันเข้ามาทำลายประเทศถึงสามรอบในนาม “รัฐบาลภาวะฉุกเฉิน” พวกทหารเปลี่ยนระบบรัฐสภามาเป็นระบอบประธานาธิบดี
ต่อมาในปี 1977 พล โท เชียเออร์ ราห์มาน (Lieutenant General Ziaur Rahman) ขึ้นครองอำนาจได้เป็นประธานาธิบดีบังคลาเทศ แล้วตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP - พรรคชาตินิยมบังคลาเทศ) แต่ท่านก็ถูกทหารด้วยกันเองสังหารชีวิตในปี 1981 ทิ้งภรรยาให้ดูแลการเมืองพรรคต่อมา ภรรยาของท่านก็คือนางคาลีดา เซีย (Khaleda Zia) ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบังคลาเทศ และตกเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา และก็กำลังจะกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านนอกสภาอีกยาวนาน เว้นเสียแต่ว่าจะใช้ความรุนแรงที่ถนัดใช้ให้ตนกลับสู่อำนาจอีกครั้ง - ประวัติศาสตร์การเมืองบังคลาเทศส่วนนี้คล้ายประวัติศาสตร์การเมืองไทยตรงที่มีการแทรกแซงยึดอำนาจจากฝ่ายทหารหลายครั้ง
ก่อนที่จะเข้าระบบรัฐสภามีการเลือกตั้งแบบระส่ำระสาย ส่วนเรื่องการสังหารชีวิตผู้นำนั้นประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทยล่าสุดก็มีความพยายามฆ่ากันอยู่หลายครั้งแม้จะไม่สำเร็จ เคยมีความพยายามลอบสังหาร พล อ. เปรม ติณสูลานนท์ 1 ครั้ง, คุณทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้ง, คุณสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ครั้ง ส่วนที่ทำสำเร็จและมีเหตุอันเชื่อได้ว่าเกี่ยวกันกับผู้มีอำนาจการเมือง คือการสังหารคุณเอกยุทธ อันชันบุตร ตัวอย่างแห่งความรุนแรงทางการเมืองเรื่องการสังหารชีวิตกันนั้นประเทศไทยมีอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาแบบอย่างจากบังคลาเทศหรือประเทศอื่นก็ยังได้เพราะประเทศไทยของเราก็ยังใช้ความรุนแรงต่อกันทำลายประเทศกันต่อไป
3. นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศเป็นผู้หญิง ชื่อ เชคฮาซีน่า (Sheik Hasina) - ประเทศไทยก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง แต่จะต่างกันที่นายกรัฐมนตรีไทยไม่มีความรู้ ขาดประสบการณ์ทางการเมือง และไม่มีขีดความสามารถที่จะบริหารประเทศได้ด้วยตัวเอง หากทำได้ก็แต่เพียงทำงานตามคำสั่งของพี่ชายที่หนีคดีอาญาการเมืองไปบงการงานครอบครองกิจการประเทศไทยจากต่างแดน
4. ที่ต่างไปจากของไทยเรื่องผู้นำที่เป็นผู้หญิงอีกเรื่องก็คือ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของบังคลาเทศก็เป็นผู้หญิง ชื่อนาง คาลีดา เซีย (Khaleda Zia) และในเมื่อการเมืองบังคลาเทศจะสลับพรรคกันชนะเลือกตั้งเสมอมา ไม่ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะเลือกตั้งครั้งใด บังคลาเทศก็ได้แต่ผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งไป
5. ที่ต่างไปจากไทยอีกเรื่องว่าด้วยความเป็นผู้นำหญิงก็คือ นายกรัฐมนตรีหญิงของบังคลาเทศทั้งสองคนล้วนเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองของตน เป็นผู้นำพรรคโดยแท้จริง ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างโชกโชนและโชกเลือด คนหนึ่งพ่อถูกสังหาร อีกคนหนึ่งสามีถูกฆ่า พอได้รับเลือกตั้งก็เป็นผู้นำประเทศบริหารประเทศด้วยตัวเองจริงๆ ส่วนนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยไม่ใช่หัวหน้าพรรคของตัวเองแต่เพิ่งมาเป็นสมาชิกพรรคได้ไม่นานโดยไม่มีเวลาเรียนรู้ศาสตร์แห่งรัฐมาจากที่ใดมากพอ และเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยคำสั่งจากพี่ชายแล้ว นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยก็เพียงทำงานตามคำสั่งของพี่ชายที่อยู่นอกประเทศเท่านั้นเอง
6. ที่ต่างอีกเล็กน้อยในเรื่องสถานภาพเพศหญิงก็คือ แม้ว่าทั้งสองจะมีครอบครัวแล้วและมีสถานภาพทางครอบครัวเป็น “นาง” เหมือนกัน แต่ในสถานภาพทางสังคมแล้วนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศเป็น “นาง” ส่วนนายกรัฐมนตรีไทยเป็น “นางสาว”
7. การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านบังคลาเทศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง แล้วชุมนุมประท้วงขัดขวางการเลือกตั้งเต็มรูปแบบแห่งความรุนแรง - ส่วนแรกคล้ายกัน แต่ส่วนหลังยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันเลือกตั้งของไทย
8. ฝ่ายค้านบังคลาเทศต้องการให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการจากบุคคลภายนอกที่เป็นคนกลางเพื่อจัดการเลือกตั้งให้สุจริตยุติธรรมตามแบบที่เคยทำมาก่อน แล้วจึงจะยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม กลับไปยกเลิกการตั้งรัฐบาลคนกลางไปทั้งๆที่เคยทำมาในสมัยเลือกตั้งก่อนหน้า โดยอ้างว่าไม่มีความจำเป็นที่จะให้รัฐบาลคนกลางมาจัดการเลือกตั้งอีกต่อไปให้ยุ่งยาก รัฐบาลเองจัดการเลือกตั้งเองได้ - ประเด็นนี้คล้ายกับความต้องการของมวลมหาประชาชนไทยที่นำโดย กปปส. แต่จะคล้ายกันเพียงเรื่องการให้คนนอกมาเป็นรัฐบาลชั่วคราว
นอกนั้นจะต่างกัน เพราะบังคลาเทศไม่ได้เรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนของไทยต้องการการปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบก่อนจะให้มีการเลือกตั้งจริงๆ ซึ่งก็จำเป็นจะต้องทำงานปฏิรูปประเทศไปยาวนานนับปี อาจปีหนึ่งหรือสองปีหรือนานเท่าใดก็ยังมิอาจทราบได้ชัดเจน
9. ที่จริงเรื่องการปฏิรูปประเทศบังคลาเทศ โดยให้มีช่วงพักการเมืองในระบบเป็นช่วงเวลายาวอย่างที่มวลมหาประชานไทยเรียกร้องอยู่ในเวลานี้นั้น ที่บังคลาเทศก็เคยทำมาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นบังคลาเทศก็พอจะมีบทเรียนให้ชาวไทยได้ศึกษาบ้าง กล่าวคือ หลังจากบังคลาเทศเริ่มปกครองด้วยระบบรัฐสภา มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1991 ก็มีการแพ้-ชนะ ระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่เรื่อยมาทุก 5 ปี คือ:
ในปี 1991 พรรค BNP ชนะเลือกตั้ง ได้นางคาลีดา เซีย ผู้เป็นหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบังคลาเทศ
ปี 1996 พรรค AL ชนะเลือกตั้ง (นาง) ชีค ฮาซีน่า ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ปี 2001 พรรค BNP กลับมาชนะการเลือกตั้งอีก นางคาลีดา เซียจึงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นครั้งที่สอง
ถึงตอนนี้การเมืองในบังคลาเทศก็เข้มข้นรุนแรงไม่มีใครยอมใคร จนถึงทางตันสุดซอย ต่างฝ่ายต่างมีฐานอำนาจ ต่างฝ่ายต่างมีข้อหาทุจริต คอร์รัปชั่น เหลิงอำนาจ นำพาประเทศชาติสู่ความยากจนล้าหลัง วิบัติล่มจมจนไม่มีใครช่วยหาหนทางฟื้น ในที่สุดรัฐบาลของพรรค BNP ยอมลาออก ตอนปลายเดือนตุลาคม ปี 2006 แล้วตกลงกับพรรคฝ่ายค้านว่าต้องปฏิรูปประเทศ โดยจัดให้มีรัฐบาลโดยคนกลางมารักษาการ บริหารการปฏิรูปประเทศเป็นการชั่วคราว - ตรงนี้เองที่เป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยที่บังคลาเทศทำไว้ให้ไทยได้ดู ซึ่งผ่านมานาน 8 ปีแล้ว เพียงแต่เราเพิ่งจะมาเริ่มดูกันตอนนี้เท่านั้นเอง
ในช่วงปลายปี 2006 บังคลาเทศมีรัฐบาลรักษาการจากคนกลาง มาจัดการเลือกตั้งให้สะอาดเรียบร้อยจนพร้อมที่จะเลือกตั้งได้ในปลายเดือนมกราคม ปี 2007 แต่พรรค AL ประกาศถอนตัวออกจากการเลือกตั้งโดยฉับพลันตอนต้นเดือนมกราคมนั้น - ตรงนี้ก็พอจะใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวออกจากการเลือกตั้งที่กำหนดไว้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่จะต่างกันที่ “รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์” มิได้ยอมลาออกแล้วให้คนกลางมาจัดการเลือกตั้งแบบบังคลาเทศเท่านั้น
ทันทีท่ีพรรค AL ถอนตัว ฝ่ายทหารบังคลาเทศก็เข้าแทรกแซง เสมือนกับจะยึดอำนาจในวันที่ 11 มกราคม 2007 แต่ก็ไม่ได้ยึดอำนาจไปปกครองประเทศเองอย่างเบ็ดเสร็จ กองทัพบังคลาเทศเพียงแต่ยกกำลังแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาลรักษาการที่ทำงานอยู่ให้ทำงานต่อไป คราวนี้ให้ปฏิรูปประเทศต่อไปยาว มีการแต่งตั้งหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาล (Chief Advisor) ซึ่งมิใช่เป็นนักการเมือง ขึ้นมากำกับรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง
บังคลาเทศผ่านประวัติศาสตร์หลังเอกราชมานานเกือบสี่ทศวรรษ เป็นเกือบ 40 ปี ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองทุจริตคดโกงประเทศ หาผลประโยชน์ใส่ตัว ประเทศมีความรุนแรงไร้ชื่อแปทั่วทุกหัวระแหง ใครไว-ใครได้ ใครใหญ่ก็ได้ครองอำนาจ นักการเมือง-เจ้าหน้าที่-พนักงานรัฐ -ทหาร-ตำรวจ ไร้ระเบียบ ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยึดกฎเกณฑ์ใครอื่น เศรษฐกิจด้อยพัฒนาจนไม่รู้จะเอาหน้าประเทศไปไว้ที่ไหน
รัฐบาลรักษาการ โดยการหนุนหลังเต็มที่จากฝ่ายทหารจึงเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปในช่วงปี 2006-2008 กำจัดรากเหง้าของการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศออกไปอย่างถอนรากโคนในทุกรัดการคดโกงในระบบงานรัฐและการเมือง มีคนที่เกี่ยวข้องถูกจับกุมดำเนินคดีสำคัญ 160 คน มีทั้งนักการเมือง, พนักงานรัฐ (ข้าราชการ), นักธุรกิจ. บุคคลระดับผู้นำพรรคการเมืองหลายคน รวมทั้งบุตรชายสองคนของนางคาลีดา เซีย ก็ถูกจับดำเนินคดีด้วย
เมื่อกวาดล้างประเทศได้จนเป็นที่พอใจแล้วรัฐบาลรักษาการจึงจัดให้มีการเลือกตั้งได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม ปี 2008 พรรค AL ก็ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
พรรค BNP ที่ลูกชายสองคนของหัวหน้าพรรคถูกดำเนินคดีทุจริตโกงประเทศไปแล้วจึงต้องเป็นฝ่ายค้านที่ “อดอยากปากแห้ง” ต่อไปอีก 5 ปี
แล้วรัฐบาลพรรค AL ก็บริหารบังคลาเทศมาจนครบวาระ แล้วล้มระบบรัฐบาลคนนอกจัดการเลือกตั้งทิ้งไป หันมาควบคุมการเลือกตั้งเองโดยตรงเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีวันแพ้พรรคฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายค้านจึงคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2014 ที่ผ่านมา …. เป็นที่มาของความรุนแรง ไม่ปรองดอง และทำลายชาติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมประชาธิปไตยต่อไป อย่างไม่รู้อนาคต
เฉพาะเรื่องที่ลำดับมานี้เป็นอดีตของบังคลาเทศที่ผ่านมา 7 ปี
ซึ่งอาจเป็นอนาคตของประเทศไทยในปีข้างหน้า …
สุดแล้วแต่มวลมหาประชาชนกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพี่ชาย
จะเลือกทำลายประเทศไทยระยะยาว …
หรือ … จะเลือกทางสร้างชาติสร้างแผ่นดินกันใหม่ ...
ร่วมกันกับมวลมหาประชาชนผู้ต้องการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง.
สมเกียรติ อ่อนวิมล
9 มกราคม 2557
-------
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรก ใน Dailynews Online พุธ 8 มกราคม 2557 ที่http://www.dailynews.co.th/Content/Article/207163/บันทึกอาเซียนกับ+ดร.สมเกียรติ+อ่อนวิมล]