มองชนชั้นนำ ทุน และการอนุรักษ์ ในกรณีลูกโลกสีเขียว
"..ผมงงว่าทำไมคุณอานันท์จึงกล่าวว่า การประท้วง ปตท. ที่ดึงสถาบันลูกโลกสีเขียวเข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้คณะกรรมการและสิ่งที่คณะกรรมการเพียรสร้างมาหลายปี.."
ขณะที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ นักอนุรักษ์จำนวนหนึ่งที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวได้คืนรางวัลดังกล่าวให้กับ ปตท. การกระทำดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อ ปตท.ไม่มากก็น้อย
เพราะผู้คืนรางวัลคนหนึ่งระบุในเฟซบุ๊กของกลุ่มว่า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสถาบันลูกโลกสีเขียว และประธานคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว พยายามล็อบบี้ไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว
นักอนุรักษ์คนดังกล่าวยังระบุว่า นายอานันท์ได้กล่าวว่าคณะกรรมการลูกโลกสีเขียวทำงานเป็นอิสระ และเตือนว่าการประท้วง ปตท. ที่ดึงสถาบันลูกโลกสีเขียวเข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้คณะกรรมการและสิ่งที่คณะกรรมการเพียรสร้างมาหลายปี เช่น เครือข่ายอนุรักษ์ของชุมชนเสียหาย
ผมบอกตามตรงครับว่าผมงงกับเหตุผลของคุณอานันท์
ประเด็นแรก ผมงงว่าคุณอานันท์คิดได้อย่างไรว่าคณะกรรมการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ปตท.
ประการต่อมา ผมงงว่าทำไมคุณอานันท์จึงกล่าวว่า การประท้วง ปตท. ที่ดึงสถาบันลูกโลกสีเขียวเข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้คณะกรรมการและสิ่งที่คณะกรรมการเพียรสร้างมาหลายปี เช่น เครือข่ายอนุรักษ์ของชุมชนเสียหาย
ในประเด็นแรก ที่คุณอานันท์กล่าวว่า คณะกรรมการนี้ทำงานเป็นอิสระ ผมคิดว่าคำอธิบายนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าคณะกรรมการไม่เกี่ยวกับ ปตท. นั้น
ผมงงเพราะว่า เห็นได้ชัดว่ากรรมการมูลนิธิลูกโลกสีเขียวที่คุณอานันท์เป็นประธานนั้น มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปทต. (PTT) เป็นกรรมการด้วย ขณะที่มูลนิธินี้ถูกก่อตั้งและได้รับบริจาคจาก ปตท.
ขณะที่ในภาพที่ใหญ่และสลับซับซ้อนมากกว่า ผมคิดว่ายังไง ปตท. ก็ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้เต็มๆ ครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพลักษณ์ของ ปตท. ให้เป็น "Green for Life"ความจริงแล้วภาพลักษณ์นี้บริษัทไหนก็ได้โดยการทุ่มประชาสัมพันธ์ แต่ที่ ปตท.ทำสำเร็จเพราะการทำให้เกิดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สมจริง นั่นก็คือ การสร้างอะไรสักอย่างที่ทำให้สังคมเห็นว่ามันเป็นความจริง และสิ่งที่ ปตท. ทำก็คือ การมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวแก่นักอนุรักษ์ รวมทั้งการสนับสนุนเงินทุนเพื่อกิจกรรมการอนุรักษ์ เช่น การปลูกป่า เป็นต้น ควบคู่กันไปกับการที่ ปตท. ทุ่มโฆษณาผ่านสื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีรวมทั้งตอบสนองความต้องการขององค์กรของตน การดำเนินการดังกล่าวจึงทำให้คนในสังคมเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโฆษณาคือความจริง
ในประเด็นนี้ ผมจึงไม่เข้าใจว่าคุณอานันท์ไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจเพื่อเป็นการตัดตอนจนทำให้เห็นว่ารางวัลลูกโลกสีเขียวไม่เกี่ยวกับ ปตท.
ในประเด็นที่สอง ผมไม่ทราบว่าสิ่งที่คุณอานันท์กล่าวว่า หากไม่มีสถาบันนี้ อาจทำให้เครือข่ายอนุรักษ์ของชุมชนเสียหาย กินความหมายมากน้อยแค่ไหน
แต่ชวนให้ตีความได้ว่าลูกโลกสีเขียวมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ของชุมชนมาก
ผมบอกตรงๆ ว่า ผมไม่คิดแบบนั้นหรอกครับ เพราะการอนุรักษ์ของชุมชนไม่ได้เกิดจากครรภ์ของทุนนิยม แต่การอนุรักษ์ของชุมชนนั้นเกิดจากประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ที่ชุมชนลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของพวกเขา
หากย้อนกลับไปในทศวรรษ 2510 ถึงปลายทศวรรษ 2520 ผู้ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ในสังคมไทยคือ นิสิตนักศึกษาและปัญญาชน ซึ่งเห็นได้ชัดในการเคลื่อนไหวกรณีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และกรณีแม่กลองเน่า
แต่ต่อมาในปลายทศวรรษ 2520 บทบาทของชุมชนต่อการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมก็ปรากฏชัดขึ้น โดยพวกเขาต่อสู้ร่วมกันกับนิสิตนักศึกษาและปัญญาชน ดังกรณีการคัดค้านโรงงานแทนทาลั่มของคนภูเก็ต และกรณีคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนของคนเมืองกาญจน์ ในต้นทศวรรษ 2530 บทบาทของชุมชนในการอนุรักษ์ก็เด่นชัดมากขึ้นเมื่อชุมชนหลายที่ทั่วประเทศร่วมกันเคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกการสัมปทานป่าไม้ รวมทั้งต่อต้านการที่รัฐนำพื้นที่ป่าไปให้สัมปทานแก่เอกชนเพื่อปลูกป่าเชิงพาณิชย์ การต่อสู้นี้ยังนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยให้รัฐยอมรับกรรมสิทธิ์ส่วนรวม ป่าชุมชนหลายที่ทั่วประเทศจึงถูกก่อตั้งขึ้นมาภายใต้บริบทของการแย่งชิงทรัพยากร
กระแสดังกล่าวยังทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรอื่นๆ ดังเช่น การอนุรักษ์แม่น้ำ การก่อตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า กิจกรรมเหล่านี้ชุมชนต้องการยืนยันถึงสิทธิของตนในการจัดการทรัพยากร
ที่สำคัญก็คือ การอนุรักษ์ของชุมชนเกิดขึ้นจากนโยบายการพัฒนาของรัฐและการลงทุนของกลุ่มทุนโดยตรง เช่น กรณีของชาวปากมูนที่ต่อต้านเขื่อนปากมูล ชาวสะเอียบที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือชาวบ้านบ่อนอกหินกรูดที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูดของยูเนี่ยน พาวเวอร์ ฯลฯ
ในการต่อสู้ของชาวบ้านนั้น พวกเขายังได้มีการสร้างเครือข่ายกันขึ้นมาทั้งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประเด็น หรือการรวมกันหลายประเด็นและต่อสู้ร่วมกัน เช่น สมัชชาคนจน เป็นต้น
ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าความคิดในการอนุรักษ์ของชุมชน การดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ และเครือข่ายชุมชนในการอนุรักษ์ เกิดขึ้นมานานก่อนการมีลูกโลกสีเขียวครับ
แต่ต่อมาการอนุรักษ์ในสังคมไทยกลับถูกรัฐและทุนจี้ชิงไป โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาของรัฐบาล ในต้นทศวรรษ 2540 ซึ่งโครงการนี้กลุ่มทุนและรัฐวิสาหกิจที่ขณะนั้นยังไม่ได้แปรรูปได้เข้ามาสนับสนุนอย่างเปิดเผย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรมการอนุรักษ์ดูเหมือนว่าจะถูกครอบงำโดยชนชั้นสูงและทุน
ดังจะเห็นได้จากการปลูกป่าทั้งบนบกและชายเลนทั้งที่อาจจะมีข้อถกเถียงได้ว่า ป่าเขตร้อนหลายที่ไม่ต้องปลูกก็ได้ แต่มันจะฟื้นขึ้นมาเอง ผมยังพบว่าในบางกรณีที่ทุนเข้าสนับสนุนการปลูกป่ายังได้มีการตัดป่าที่อุดมสมบูรณ์เพื่อปลูกป่าใหม่อีกด้วยดังกรณีของป่าแห่งหนึ่งที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ความอีหลักอีเหลื่อของการอนุรักษ์จึงเกิดขึ้นในแทบทุกที่เพราะชาวบ้านต้องดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ให้เป็นไปตามที่ชนชั้นนำ และทุน รวมทั้งชนชั้นกลาง อยากเห็น ทั้งที่แต่เดิมสิ่งเหล่านี้ไม่มีและอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมี ดังการป้องกันไฟป่าที่การทำแนวกันไฟป่าและหน่วยดับไฟป่า (ทั้งที่มีงานวิจัยว่าไฟป่าคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ป่าเขตร้อนไม่จำเป็นต้องป้องกัน การทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ หรือการแบ่งพื้นที่ป่าชุมชนออกเป็นส่วนๆ (Zoning) รวมไปถึงการบวชป่า หรือจัดกิจกรรมที่แปลกประหลาดแต่ถูกใจชนชั้นสูงและทุน เช่น การจัดให้มีพิธีแต่งงานอึ่งอ่าง เป็นต้น
ในทางกลับกัน คนเหล่านี้กลับไม่ยอมรับการต่อสู้ของชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลายทั้งจากรัฐและทุน หรือบางกรณีคนเหล่านี้กลับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการอนุรักษ์ของชาวบ้าน
สิ่งที่ผมอยากชี้ให้พวกเราคิดก็คือ ในกรณีของคุณอานันท์ ซึ่งเป็นประธานมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ในด้านหนึ่งกลับมีปัญหากับชาวบ้านที่บ่อนอก-หินกรูด ผมยกกรณีนี้ เพราะชาวบ้านได้ต่อสู้เพื่อปกป้องท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ของพวกเขาไม่ให้ถูกทำลายจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คุณอานันท์เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ผมเห็นว่าสังคมไทยรวมทั้งคนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวไม่ค่อยรับฟังเสียงของชาวบ่อนอกหินกรูดมากนักหรืออาจะปิดหูไม่รับฟังเลยก็ได้ จนมีข้อสงสัยว่าจะมีสักกี่คนที่รับรู้ว่าชาวบ้านที่นั่นเขาเจ็บปวดขนาดไหนเมื่อกล่าวถึงคุณอานันท์ที่เป็นโต้โผใหญ่ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ดังที่คุณจินตนา แก้วขาว แกนนำชาวบ้านได้ตั้งคำถามในเฟซบุ๊กที่มีภาพของคุณอานันท์ขณะมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวให้กับนักอนุรักษ์คนหนึ่งว่า "รับไปได้ยังไง"
จากคำถามของคุณจินตนาดังกล่าว ผมอยากจะสื่อสารต่อว่า แม้ว่าไม่มีกรณีท่อน้ำมันของบริษัทลูก ปตท. รั่วไหลลงทะเลที่เกาะเสม็ด มันก็มีเหตุผลเพียงพอที่นักอนุรักษ์ไม่ควรรับรางวัลลูกโลกสีเขียว
ผมอยากเสนอทิ้งท้ายในกรณีของลูกโลกสีเขียวว่า สังคมไทยและนักอนุรักษ์จะต้องระมัดระวังการอนุรักษ์ของชนชั้นนำและทุน เพราะการจะเข้าใจความสลับซับซ้อนของการอนุรักษ์ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เราจะต้องวิเคราะห์พวกอนุรักษ์แอบแฝง (conspiracy) จากกลุ่มนี้ด้วย
เพราะพวกนี้เป็นตัวแสดงสำคัญ (actor) ในเวทีการอนุรักษ์ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย?