- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ถึงคิว!ห้องสมุดอัจฉริยะพันล. ซื้อตู้คืนหนังสือตัวละ 2 แสน รุ่นไม่มีขายในตลาด
ถึงคิว!ห้องสมุดอัจฉริยะพันล. ซื้อตู้คืนหนังสือตัวละ 2 แสน รุ่นไม่มีขายในตลาด
ถึงคิว!ชำแหละสินค้าห้องสมุดอัจฉริยะพันล. พบตั้งราคาซื้อตู้คืนหนังสือระบบอัตโนมัติ ตัวละ 2 แสน แต่หาของในท้องตลาดเทียบเคียงไม่ได้ สตง.จี้ 'รมว.ศึกษา' ตั้งกรรมการสอบ ล่าตัว 'เด็ก' ส.ส. ยัดCD-ทีโออาร์ ให้ 'ร.ร.'
การกำหนดราคากลางจัดซื้อสินค้าในโครงการปรับปรุงห้องเรียน ( E-Classroom) ถูกตรวจสอบพบปัญหาหลายประการ ทั้งการกำหนดราคาจัดซื้อที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น การกำหนดราคาซ้ำซ้อน รวมถึงสินค้าบางรายการไม่พบราคากลางในท้องตลาด ส่งผลทำให้งบประมาณรัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท
(อ่านประกอบ : กล้องเว็บแคม600บ.ซื้อ1.5 หมื่น!ชำแหละไส้ในสินค้าห้องเรียนอัจฉริยะพันล.)
การกำหนดราคากลางจัดซื้อสินค้าในโครงการห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ( E – Library) ที่ดำเนินการควบคู่พร้อมกัน เป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากรายงานสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า มีการระบุข้อมูลผลการตรวจสอบการกำหนดราคากลางครุภัณฑ์ในในโครงการห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ที่สูงกว่าราคาจริง และอยู่นอกเหนือจากราคามาตรฐานของหน่วยงานรัฐ รวมกว่า 15 รายการ คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 1,667,660 บาท
แต่ข้อมูลสำคัญสินค้าที่ สตง.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ราคาตู้หนังสือ จำนวน 2 รายการ ที่มีการตรวจสอบพบว่าเป็นการกำหนดราคากลางที่ไม่สามารถตรวจสอบราคาที่ควรจะเป็นได้ เนื่องจากไม่มีราคามาตรฐานและไม่พบราคาในท้องตลาด
มี 2 รายการที่สำคัญ คือ
1.ตู้สำหรับรับคืนหนังสือเข้าระบบอัตโนมัติ กำหนดราคากลางเป็นเงิน 2 แสนบาท
จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการกำหนดครุภัณฑ์ที่นอกเหนือจากมาตรฐานครุภัณฑ์ของ สพฐ. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และสำนักงบประมาณ และไม่พบราคาครุภัณฑ์ดังกล่าวหรือในลักษณะที่เทียบเคียงกันในท้องตลาด
จึงไม่สามารถตรวจสอบราคาที่ควรจะเป็นได้ เนื่องจากไม่มีราคามาตรฐานและไม่พบราคาในท้องตลาด อาจทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น
2. ตู้สำหรับให้บริการสืบค้น กำหนดราคากลางเป็นเงิน 95,300 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการกำหนดครุภัณฑ์ที่นอกเหนือจากมาตรฐานครุภัณฑ์ของ สพฐ. กระทรวงไอซีที และสำนักงบประมาณ และไม่พบราคาครุภัณฑ์ดังกล่าวหรือในลักษณะที่เทียบเคียงกันในท้องตลาด
จึงไม่สามารถตรวจสอบราคาที่ควรจะเป็นได้ เนื่องจากไม่มีราคามาตรฐานและไม่พบราคาในท้องตลาด อาจทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็นเช่นกัน
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบพบข้อมูลการกำหนดราคากลางสินค้า ที่สูงเกินจริง และราคากลางที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ในโครงการนี้ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 10,040,200 บาท เมื่อนับรวมวงเงินที่เกิดปัญหาในการกำหนดราคากลาง โครงการปรับปรุงห้องเรียน ( E-Classroom) วงเงิน 116,758,350 บาท
วงเงินรวมทั้งสิ้น จะอยู่ที่ตัวเลข 126,798,550 บาท
เบื้องต้น สำหรับประเด็นนี้ สตง. ได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว
โดยเฉพาะกรณีที่ปรากฎว่ามีผู้ประสานจากสมาชิกสภาผู้แทนราษภร ติดต่อไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน พร้อมจัดส่งแผ่นซีดีรอม ที่มีรายละเอียดโครงการทั้งหมด ให้โรงเรียนใช้ในการจัดซื้อสินค้ามาใช้ในโครงการ
พร้อมระบุชัดเจนว่า หากพบว่ามีการดำเนินการดังกล่างจริงและเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเงินงบประมาณของโครงการ ให้ดำเนินการทางอาญาและทางแพ่งต่อไป
อ่านประกอบ :
กล้องเว็บแคม600บ.ซื้อ1.5 หมื่น!ชำแหละไส้ในสินค้าห้องเรียนอัจฉริยะพันล.
ปั๊มCD-ทีโออาร์ มัดมือ ร.ร.ซื้อของ! เปิดพฤติการณ์ เด็ก'ส.ส.' ห้องเรียนอัจฉริยะพันล.
จับประเด็นร้อน!ห้องเรียนอัจฉริยะฉาวยุค 'ปู' ใครกัน คนใกล้ชิดส.ส.โผล่จัดงบ ?
รัฐเสียหาย 178 ล. คนใกล้ชิด ส.ส. เอี่ยว! สตง.สรุปผลสอบห้องเรียนอัจฉริยะ ยุค "ปู"