ปั๊มCD-ทีโออาร์ มัดมือ ร.ร.ซื้อของ! เปิดพฤติการณ์ เด็ก'ส.ส.' ห้องเรียนอัจฉริยะพันล.
เปิดหมดพฤติการณ์ บุคคลปริศนา อ้างตัวผู้ประสานงาน ส.ส. จัดงบประมาณห้องเรียนอัจฉริยะพันล. ปั๊มCD ทีโออาร์ มัดมือ ร.ร.ซื้อสินค้า สตง.สอบพบ จี้ รมว.ศึกษาฯ ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง ฟันโทษอาญาผู้เกี่ยวข้อง
โครงการปรับปรุงห้องเรียน ( E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ( E – Library) ที่ใช้งบประมาณจากงบแปรญัตติ ปี 2555 ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบความผิดปกติ ไม่โปร่งใส ในดำเนินงานโครงการหลายประการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นวงเงินนับร้อยล้านบาท
ขณะที่มีข้อมูลสำคัญประการหนึ่ง ปรากฎว่า มีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้ประสานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ให้โรงเรียนเลือกว่าจะรับโครงการนี้หรือไม่เท่านั้น ด้วย
คำถามที่น่าสนใจคือ บุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้ประสานของ ส.ส.ที่ถูกระบุถึงเป็นใคร และได้รับอำนาจจากใครในการเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้?
(อ่านประกอบ : จับประเด็นร้อน!ห้องเรียนอัจฉริยะฉาวยุค 'ปู' ใครกัน คนใกล้ชิดส.ส.โผล่จัดงบ ?)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2555 สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2555 งบลงทุนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทุกเขต ตามแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา ประเภทงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัย โดยมีการแจ้งจัดสรรเป็นจำนวน 23 ครั้ง รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 4,164,015,000 บาท
โดยมีการจัดสรรโครงการปรับปรุงห้องเรียน ( E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ( E – Library) รวมทั้งสิ้น 100 โรงเรียน เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 342,500,000 บาท ภายใต้โครงการ 2 โครงการ คือ
1. โครงการปรับปรุงห้องเรียน และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล จำนวน 37 โรงเรียน เป็นจำนวนงบประมาณโรงเรียนละ 5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 185,000,000 บาท
2. โครงการปรับปรุงห้องเรียนจำนวน 63 โรงเรียน เป็นจำนวนงบประมาณโรงเรียนละ 2.5 ล้านบาท รวมทิ้งสิ้น 157,500,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า ในการจัดสรรงบประมาณ สพฐ. ดังกล่าว ปรากฎข้อมูลในหนังสือแจ้งการจัดสรรงบประมาณ ว่า "ด้วยมีผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษา ได้แจ้งข้อมูลความจำเป็นขาดแคลนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณ งบลงทุน ปรับปรุงซ่อมแซม อาคารเรียนอาคารประกอบและสิ่งก่อสร้าง รายละเอียดรายชื่อโรงเรียนปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย "
พร้อมได้สั่งกับชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ พิจารณาอนุมัติจัดสรรให้กับโรงเรียนตามรายชื่อที่ส่งมาด้วย
โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการดังนี้
1.ใช้แนวทางการบริหารงบประมาณประจำปี 2555 (งบแปรญัตติ) ประกอบการพิจารณาดำเนินการ ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนมาก ที่ ศธ 04006/ว 440 ลงวันที่ 12 มี.ค.2555
2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/โรงเรียน ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม และรับผิดชอบ แบบแปลน ประมาณราคาวัสดุ และรายละเอียดที่ใช้ในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฉบับ พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ
3. วิเคราะห์จัดงบประมาณให้สอดคล้องกับความจำเป็น ขาดแคลน และตามเกณฑ์มาตรฐานราคากลาง ของ สพฐ.ก่อนที่จะก่อหนี้ผูกพันด้วย
4. พิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนในสังกัด โดยดำเนินการแนวทางการบริหารงบประมาณประจำปี 2555 (งบแปรญัตติ)
5. รายละเอียด คุณลักษณะ รายการ วงเงินงบประมาณที่มิได้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ของ สพฐ. ให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฉบับ พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ
6. สำหรับรายการที่แจ้งจัดสรรนี้ เป็นไปตามรายการที่ปรากฎในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2555 หากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา /โรงเรียนประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการจำเป็นในระดับพื้นที่ สามารถดำเนินการได้ โดยถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ทั้งนี้ จะก่อหนี้ผูกพันได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติโอนจัดสรรงบประมาณแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลโรงเรียน 14 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณ ของ สตง. โดยการบันทึกถ้อยคำโรงเรียน 12 แห่ง ในประเด็นเรื่องความต้องการ ความจำเป็น ความขาดแคลน และการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
พบว่า มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหนังสือแจ้งการจัดสรรดังกล่าว โดยพบว่า โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะเป็นโรงเรียนที่ระบุชื่อโรงเรียนแล้ว และไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงตามที่ สพฐ.มีหนังสือแจ้งดังกล่าวได้ เนื่องจากมีผู้ประสานงานของส.ส. ได้ไปประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องเลือกว่าจะรับโครงการฯ นี้หรือไม่เท่านั้น
ซึ่งโรงเรียนในแต่ละจังหวัดจำนวนมากเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็กประสบภาวะขาดแคลนงบประมาณ ในแต่ละปีงบประมาณจะได้งบประมาณเพื่อจัดซื้อคุรภัณฑ์หรืองบก่อสร้างน้อยมาก จึงจำเป็นต้องรับงบประมาณของโครงการปรับปรุงห้องเรียนคุณภาพ และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากลไว้
ทั้งที่ไม่มีความรู้ในระบบงานซอฟต์แวร์ต่างๆ ว่า ระบบงานต่างๆ คืออะไร เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน จำนวนบุคลากรหรือไม่ เหมาะสมกับจำนวนหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียนหรือไม่
แหล่งข่าวจากสตง. ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การที่ สพฐ.มีหนังสือแจ้งและกำหนดแนวทางในปฏิบัติงานในเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติจริงหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือโรงเรียนไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ สพฐ.กำหนดได้
เนื่องจากมีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งทุกโรงเรียนระบุตรงกันว่าเป็นผู้ประสานงบประมาณ โดยอ้างว่าเป็นงบแปรญัตติเป็นของส.ส.และต้องดำเนินการตามทีโออาร์ และคุณลักษณะเฉพาะของโครงการทิ้งสอง
โดยแจกเป็นแผ่น ซีดี เพื่อให้โรงเรียนนำแผ่น ซีดี ไปพิมพ์และใช้เป็นเอกสารในการดำเนินการจัดหา โดยที่โรงเรียนไม่สามารถปรับเปลี่ยนใดๆ ได้
"ล่าสุด สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการจัดสรรงบประมาณงบแปรญัตติของ สพฐ. โดยอ้างว่า ได้จัดสรรตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาและจัดสรรงบประมาณโดยระบุชื่อโรงเรียนที่ต้องการของโครงการปรับปรังห้องเรียนและห้องสมุดดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่า โครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามความต้องการและความจำเป็น ขาดแคลนของโรงเรียน หากพบว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นลักษณะเป็นเท็จ ให้ดำเนินการทางอาญาและพิจารณาโทษตามควรแก่กรณีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป " แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ
อ่านประกอบ :
จับประเด็นร้อน!ห้องเรียนอัจฉริยะฉาวยุค 'ปู' ใครกัน คนใกล้ชิดส.ส.โผล่จัดงบ ?
รัฐเสียหาย 178 ล. คนใกล้ชิด ส.ส. เอี่ยว! สตง.สรุปผลสอบห้องเรียนอัจฉริยะ ยุค "ปู"