- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- แกะรอยเส้นทาง"เงินสด"ซื้อเช็คข้าวถุง 5.4พันล.หาตัว "ผู้บงการ"เหนือ "สมคิด"
แกะรอยเส้นทาง"เงินสด"ซื้อเช็คข้าวถุง 5.4พันล.หาตัว "ผู้บงการ"เหนือ "สมคิด"
"..กรณีนี้คงจะต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่จะต้องเข้าไปสอบสวนขยายผลต่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องเส้นทางการเงินของนายสมคิดที่นำมาใช้ในการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็ค โดยเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง ที่อยู่เหนือนายสมคิด ขึ้นไปอีก.."
หากใครที่มีโอกาสติดตามข่าว "คดีระบายข้าวถุง" ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาขยายผลต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ (อ่านประกอบ :เสียหาย 3.8 พันล.!สตง.ชี้มูลคดีระบายข้าวถุงอคส.-เอกชนเครือญาติฮั้วเสนอราคารัฐ)
โดยเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎว่า "นายสมคิด เอื้อนสุภา" คนของบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้สั่งซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 38 ฉบับ วงเงินรวมกว่า 5,475 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) แทนบริษัทเอกชนทั้ง 6 ราย ที่เข้ามาทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวถุงกับอคส.
(อ่านประกอบ : "สมคิด"โผล่ซื้อแคชเชียร์เช็ค5 พันล. เส้นทางเงินมัดแน่นคดีข้าวถุง โยง "สยามอินดิก้า" , 'จัดเอกสาร-ซื้อเช็ค' ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงทำเองหมด! มัด 'สยามอินดิก้า' โยงคดีข้าวถุง )
เชื่อว่าคงจะมีคำถามต่อกรณีนี้ อย่างน้อย 2 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก นายสมคิด นำแหล่งเงินจากที่ไหน มาใช้ในการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คด้วยวงเงินจำนวนหลายพันล้านบาทแบบนี้
เหตุผลที่ต้องมีคำถามนี้เกิดขึ้น เป็นเพราะ
หนึ่ง สถานะของนายสมคิด ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลออกมาก่อนหน้านี้จากหน่วยงานตรวจสอบ ตั้งแต่ในคดีระบายข้าวจีทูจี น่าจะเป็นเพียงลูกจ้างหรือพนักงานคนหนึ่งในบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เท่านั้น ขณะที่ผลจากการสอบปากคำพยานบริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีระบายข้าวถุง ของสตง.ล่าสุด ได้รับการยืนยันว่า สภาพท่าทางของนายสมคิด มีลักษณะคล้ายกับ "คนส่งเอกสาร" ค่อยทำหน้าที่วิ่งติดต่อระหว่างเอกชนกับ อคส.
สอง สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ของนายสมคิด ตามเอกสารการแจ้งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ที่ นายสมคิด ได้รับมอบอำนาจจาก“เสี่ยเปี๋ยง” นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เจ้าของบริษัทเพรสซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ให้ไปดำเนินการ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 คือ บ้านเลขที่ 199 ซ.ดำเนินกลางเหนือ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พบว่า มีสภาพเป็นห้องเช่าเล็กๆ ในชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน (ดูภาพประกอบ)
จากการสอบถามข้อมูลนายสมคิด จากญาติพี่น้อง ได้รับการยืนยันว่า นายสมคิดไม่ได้อยู่อาศัยที่บ้านหลังนี้มาเป็นสิบปีแล้ว และไม่มีใครทราบว่านายสมคิดไปอยู่ที่ไหนทำอะไร (อ่านเรื่องประกอบ : ย้อนข้อมูล คนใกล้ชิด"เสี่ยเปี๋ยง” ก่อนโดนรวบสอบคดีมันเส้นจีทูจี"เก๊" ซ้ำรอย "ข้าว"?)
จากข้อมูลที่ได้รับมาทั้งหมด จึงน่าจะสรุปได้ในระดับหนึ่ง ว่า นายสมคิด ไม่น่าจะใช่เจ้าของเงินจำนวนหลายพันล้านบาท ที่นำไปใช้ในการสั่งซื้อแคชเชียร์มาชำระค่าข้าวถุงอย่างแน่นอน
แต่น่าจะเป็นเงินของ "บุคคลอื่น" ซึ่งมีอำนาจสั่งการอยู่เหนือ นายสมคิด มอบหมายมาให้ดำเนินการต่ออีกที่หนึ่ง
โดยนายสมคิด มีหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้ไปซื้อแคชเชียร์เช็คแล้วนำมาส่งต่อให้กับอคส.เท่านั้น
ประเด็นสอง บทบาทหน้าที่และท่าทีของธนาคาร ต่อ กรณีการออกแคชเชียร์เช็คของนายสมคิด
เหตุผลที่ต้องมีคำถามนี้เกิดขึ้น เป็นเพราะ
หนึ่ง จากการตรวจสอบข้อมูลของ สตง. ระบุว่า แคชเชียร์เช็ค จำนวน 38 ใบ วงเงิน 5,475 ล้านบาท ที่นายสมคิด สั่งซื้อเพื่อนำมาชำระข้าวถุง มาจากธนาคาร 3 แห่ง คือ
1. ธนาคารกสิกรไทย สาขาราชดำริ 47/27 จำนวน 7 ฉบับ วงเงินรวม 523,800,000 บาท
2. ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาซอยโชคชัย 4 จำนวน 6 ฉบับ รวมวงเงิน 653,500,000 บาท
3. ธนาคารกรุงไทย สาขารัชดาภิเษก-ห้วยขวาง จำนวน 25 ฉบับ รวมวงเงิน 4,298,300,000 บาท
โดยแคชเชียร์เช็คทั้งหมด เริ่มทยอยสั่งซื้อมาตั้งแต่ 14 ส.ค.55 - 31 พ.ค.56 วงเงินที่สั่งซื้อมีตั้งแต่หลักหนึ่งล้านบาท จนถึงสิบล้านบาท และร้อยล้านบาท บางวันสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คพร้อมกันถึง 3 ฉบับ รวมวงเงินเป็นร้อยล้านบาท ส่วนแคชเชียร์เช็คที่มีวงเงินมากที่สุด อยู่ที่ 325,500,000 บาท มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาซอยโชคชัย 4
(อ่านประกอบ : ชำแหละเช็คข้าวถุง38 ใบ "คนสยามอินดิก้า"ขนเงินสดซื้อกรุงไทยมากสุด 4.2 พันล. , เช็ค 38 ใบ 5.4 พันล.! "คนสยามอินดิก้า" ขนเงินสดซื้อ หลักฐานมัดคดีข้าวถุง)
เบื้องต้น สตง. ระบุชัดเจนว่า ในการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คทั้งหมด นายสมคิด ชำระมูลค่าตราสารเพื่อสั่งซื้อแคชเชียร์เช็ค เป็นเงินสดทุกรายการ
ข้อมูลส่วนนี้ นับว่ามีความสำคัญและน่าสนใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการเทียบเคียงข้อมูลน้ำหนักธนบัตร ในคดีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ถูกโจรปล้นเงินไปกว่า 200 ล้านบาท ในช่วงปี 2554 ที่สื่อมวลชนเคยมีการเทียบเคียงข้อมูลเรื่องน้ำหนักของธนบัตรไว้อย่างน่าสนใจ
โดยพบว่า ธนบัตร ใบละ 1,000 บาท 1 ใบ มีน้ำหนัก 1.088 กรัม ถ้านำธนบัตร 1,000 ล้านบาท มาชั่งจะมีน้ำหนัก 1,088 กิโลกรัม ถ้านำไปใส่กระเป๋าขนาดความจุ ประมาณ 20 กิโลกรัม ต้องใช้กระเป๋า รวม 50 ใบ
หรือ แม้กระทั่งกรณีของ "ตัน ภาสกรนที" ที่ถอนออกมาจากธนาคาร จำนวน 123 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการซื้อรถเบนซ์แจกในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า และมีการโพสต์ภาพถ่ายกองเงินผ่านเฟซบุ๊ก ก็พบว่าเป็นกองเงินที่มีจำนวนใหญ่โตมหึมากันเลยทีเดียว
(ดูตัวอย่างขนาดกองเงิน จำนวน 123 ล้านบาท กรณี "ตัน ภาสกรนที" ถอนออกมาจากธนาคาร เพื่อนำมาใช้ในการซื้อรถเบนซ์ ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า)
คำถาม คือ นายสมคิด ใช้วิธีการใดในการขนเงินสดจำนวนมาก ครั้งละเป็นหลักสิบล้านหรือร้อยล้านบาทมาใช้ในการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็ค ต้องใช้กระเป๋ากี่ใบ? ขนใส่รถมากี่คัน?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากพนักงานธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งว่า วิธีการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คจากธนาคารของประชาชน ที่นิยมทำกันมี 2 วิธี คือ ใช้เงินสด กับ การตัดยอดเงินในบัญชีเงินฝากที่อยู่ในธนาคารนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ในการบันทึกข้อมูลของธนาคารในปัจจุบันมีความเข้มงวดมากขึ้น ลูกค้าจะใช้วิธีการใดในการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คก็ต้องบัญชีข้อมูลตามนั้น จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้เด็ดขาด ถ้าเป็นเงินสดก็ต้องบันทึกว่าเป็นเงินสด ถ้าใช้วิธีตัดยอดบัญชีเงินฝากก็ต้องบัญชีแบบนั้น
ถ้าบันทึกข้อมูลไม่ถูกต้องเจ้าหน้าที่ธนาคารจะต้องรับผิดชอบ!
นอกจากนี้ ในการขั้นตอนออกแคชเชียร์เช็ค ถ้าเป็นการออกโดยเงินสด ยอดเงินเกิน 2 ล้านบาท ถ้าตัดยอดเงินจากบัญชีเงินฝากเกิน 5 ล้านบาท ทางธนาคารก็จะต้องนำแบบฟอร์มให้ลูกค้ากรอก เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันไว้ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบด้วย
ซึ่งในกรณีนี้ สตง.ระบุว่า เป็นการใช้เงินสด จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาอีกข้อหนึ่ง คือ สำหรับกรณีนี้ถ้านายสมคิดนำเงินสด ซึ่งมีจำนวนมากเป็นหลักร้อยล้านไปสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คจริง ธนาคารทั้ง 3 แห่ง มีท่าทีและแนวทางการปฏิบัติต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? มีการแจ้งข้อมูลให้กับหน่วยงานตรวจสอบเรื่องการเงินของประเทศให้รับทราบข้อมูลบ้างหรือไม่?
เพราะถ้าตัวธนาคารไม่ได้มีความสงสัยหรือเห็นความผิดปกติอะไรต่อกรณีแบบนี้ ที่อยู่ใครจากไหนก็ไม่รู้ หอบเงินสดเป็นร้อยล้านบาท มาสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คไปใช้ทำธุรกิจต่อ มันอาจจะกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ที่เปิดโอกาสให้ บุคคลบางกลุ่ม นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดทางกฎหมายมาฟอกเงินได้อีกช่องทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ขณะนี้คงจะต้องเป็นหน้าที่ของ ปปง. ที่จะต้องเข้าไปสอบสวนขยายผลต่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องเส้นทางการเงินของนายสมคิดที่นำมาใช้ในการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็ค โดยเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง ที่อยู่เหนือนายสมคิด ขึ้นไปอีก หลังจากที่ สตง. ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้เป็นทางการไปแล้ว
ส่วน "ปปง." ในยุคที่มี เลขาฯ ปปง. ชื่อว่า "พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์" จะโชว์ฝีมือได้ดีแค่ไหน อีกไม่นานคงได้รู้คำตอบที่ชัดเจนกัน
(อ่านประกอบ : ให้ปปง.คุ้ยต่อ!สตง.เชื่อแหล่งเงิน "สมคิด"ซื้อเช็คข้าวถุง5.4พันล.โยงสยามอินดิก้า)