- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- ย้อนรอยจุดตาย 'เบญจา-พวก' จำคุก 3 ปี ตอบข้อหารือช่วย'โอ๊ค-เอม'เลี่ยงภาษีหุ้นชิน
ย้อนรอยจุดตาย 'เบญจา-พวก' จำคุก 3 ปี ตอบข้อหารือช่วย'โอ๊ค-เอม'เลี่ยงภาษีหุ้นชิน
"...การที่ น.ส.ปราณี ได้ทำหนังสือสอบถามการประเมินเสียภาษีไปยังกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรกลับมีหนังสือยืนยันว่าไม่ต้องเสียภาษี และไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 39 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเกิดช่องโหว่ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีผู้นำกรณีดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม.."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2559 ศาลอาญา ได้พิพากษาจำคุก นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ช่วยนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลี่ยงภาษีโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด
โดยนางเบญจา พร้อมด้วยอดีตข้าราชการกรมสรรพากรอีก 3 คน ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี
ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการคุณหญิงพจมาน มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี
และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
(อ่านประกอบ : คุก3 ปี!'เบญจา-3อดีตขรก.' คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินฯ-คนใกล้ชิดเลขาฯพจมาน โดนด้วย)
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบข้อมูลจุดเริ่มต้นของคดีนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร นางเบญจา และอดีตข้าราชการกรมสรรพากร อีก 3 ราย รวมถึง น.ส.ปราณี กระทำการอะไร อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ถูกศาลตัดสินความผิด มีโทษร้ายแรงถึงขั้นถูกสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญาแบบนี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลและหลักฐานสำคัญในคดีนี้ มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง
@ จุดเริ่มต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า การขายหุ้น บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น มูลค่า 73,269 ล้านบาทให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในทำธุรกรรมครั้งประวัติศาสตร์หลายประการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตร
โดยการตอบข้อหารือเรื่องการเสียภาษี ระหว่าง นางเบญจา และอดีตข้าราชการกรมสรรพากร อีก 3 ราย กับ น.ส.ปราณี ก็เป็นหนึ่งในการเอื้อประโยชน์ที่ถูกตรวจสอบพบ
ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ ในการเตรียมการซื้อหุ้นชินคอร์ปจาก Ample Rich ในราคา 1 บาท มีการทำหนังสือถาม-ตอบ ข้อหารือ ว่า นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ไม่มีภาระภาษีต้องเสียจากการขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าวแต่อย่างใด
@ หลักฐานมัด
โดยเริ่มต้นจากการที่ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน บริษัท แอมเพิลริชฯ ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หารือเรื่องการเสียภาษีในการซื้อขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ถึง อธิบดีกรมสรรพากร
มีเนื้อหาดังนี้
เรื่อง การซื้อหุ้นบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ
เรียน อธิบดีกรมสรรพากร
ด้วย Ample Rich Investment Limited เป็น บริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islands ได้ซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ในระหว่างที่ถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 1 บาท เป็นเหตุให้จำนวนหุ้นที่ Ample Rich Investment Limited ถือเพิ่มเป็น 329,200,000 หุ้น
ต่อมา Ample Rich Investment Limited หุ้นตกลงขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถือทั้งหมดให้นายพานทองแท้ ในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอหารือว่าในกรณีดังกล่าวเมื่อนายพานทองแท้ฯซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จาก Ample Rich Investment Limited มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์)
จากนั้น นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ในฐานะที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น เป็นผู้ตอบหนังสือหารือ (ตามหนังสือที่ กค 0706/7896 ซึ่งตอบข้อหารือดังกล่าว ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 กลับไปว่าไม่มีภาระภาษี
มีรายละเอียดดังนี้
ที่ กค 0706/7896
วันที่ 21 กันยายน 2548
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ
เรียน นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์
อ้างถึง หนังสือลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548
ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า บริษัท Ample Rich Investment Limited เป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islends ไม่มีสำนักงานประกอบการในประเทศไทย มีนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เป็นกรรมการ บริษัทฯประกอบกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 บริษัทฯได้ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยจำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ บริษัทชินคอร์ฯได้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 329,200,000 หุ้น ต่อมาบริษัทฯได้ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ฯที่บริษัทฯถือไว้ทั้งหมดให้กับนาย พานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอทราบว่ากรณีนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ฯ จากบริษัทฯ มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ นั้น
กรมสรรพากรขอเรียนว่า 1.ตามข้อเท็จจริง การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ฯ ในราคาหุ้นละ 1 บาท ให้กับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ กรณีเรื่องของการซื้อขายทรัพย์สินระหว่างบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขายกับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้ออันเป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้ โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงนั้น ตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับประเด็นภาระภาษีการซื้อขายหุ้นดังกล่าว
(1) กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขาย ผลประโยชน์นี้ได้จากการโอนหุ้น ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(5) แห่งประมวลรัษฎากร หากการขายหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอนหุ้นได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎรกร เนื่องจากตามข้อเท็จจริง บริษัทฯเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islends ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย และไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ดังนั้น หากบริษัทฯมิได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อการขายหุ้นดังกล่าวหรือได้ขายหุ้นดัง กล่าวผ่านลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัทฯกระทำกิจการในประเทศไทย ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 85 วรรคสอง และ มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎรกร และเมื่อมีการจ่ายเงินค่าหุ้นดังกล่าวไปให้กับบริษัทฯ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากเงินได้ที่ได้รับไม่เข้าลักษณะตามเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อ การได้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูกซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายอันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีบริษัทฯได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ฯ ที่บริษัทได้ถือไว้ให้กับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หุ้นที่บริษัทฯ ได้ซื้อไว้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัทฯ มิใช่เป็นหุ้นของบริษัทฯ เป็นผู้ออกเอง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ
ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538
ขอแสดงความนับถือ
(นางเบญจา หลุยเจริญ)
ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ นางเบญจา หลุยเจริญ ได้ทำหนังสือตอบกลับน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ไปแล้ว ว่าไม่มีภาระภาษี ทำให้กรมสรรพากรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์เพื่อ ช่วยนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ให้ไม่ต้องเสียภาษีจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ดังกล่าว
ขณะที่ น.ส.ปราณี ถูกตรวจสอบพบว่า เป็นนักบัญชีที่มีหน้าที่ในการเคลียร์ภาษีของครอบครัวชินวัตรมาเป็นเวลานานแล้ว
ต่อมาภายหลังการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบคดีต่างๆ รวมถึงการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปด้วย
คตส. ได้มีการหยิบประเด็นการตอบข้อหารือ ไม่ต้องเสียภาษีของ นางเบญจา และอดีตข้าราชการ อีก 3 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นมาพิจารณาด้วย โดยมีคำวินิจฉัยว่า กรณีนี้ต้องเสียภาษี
ขณะที่ นางปราณี ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหนังสือสอบถามได้เพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้น ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่เป็นต้องตอบ
พร้อมตั้งข้อกล่าวหา นางเบญจา หลุยเจริญ ในฐานเป็นผู้ที่ตอบข้อหารือเรื่องการไม่ต้องเสียภาษีการขายหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ นิติกร 9 น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่กรมสรรพากรไม่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายพานทองแท้ กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคาเข้าลักษณะเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538
ส่วน น.ส.ปราณี ถูกตั้งข้อกล่าวหา เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เพราะเห็นว่า การที่ น.ส.ปราณี ได้ทำหนังสือสอบถามการประเมินเสียภาษีไปยังกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรกลับมีหนังสือยืนยันว่าไม่ต้องเสียภาษี และไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 39 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเกิดช่องโหว่ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีผู้นำกรณีดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ หลังจากที่ คตส. หมดอายุการทำงานได้โอนคดีนี้มาให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลต่อ และปรากฎผลคำพิพากษาของศาลอาญาสั่งจำคุกดังกล่าว
ขณะที่เส้นทางชีวิตข้าราชการของ เบญจา หลุยเจริญ หลังจากนั้นก็รุ่งเรืองเติบโตต่อเนื่อง ได้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ในปี 2554 ก่อนจะย้ายมาเป็น อธิบดีกรมศุลกากร และลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เหลืออายุเกษียณราชการอีกแค่ 3 เดือน เท่านั้น
ก่อนที่ ณ วันนี้ สถานการณ์จะเปลี่ยนไป นางเบญจา ปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกศาลตัดสินจำคุก จากกระทำในอดีตที่ย้อนมา และยังไม่มีใครล่วงรู้ว่า ชะตากรรมในวันข้างหน้าจะเป็นเช่นใด
ไม่ต่างอะไรกับชะตาชีวิต คนในตระกูล 'ชินวัตร' ที่กำลังประสบพบเจอในขณะนี้เหมือนกัน