- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (6) เส้นทางเงินกู้ 5 พันล. บ.เกาะเวอร์จิน & สยามอินดิก้า
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (6) เส้นทางเงินกู้ 5 พันล. บ.เกาะเวอร์จิน & สยามอินดิก้า
"...ข้อมูลการสอบสวนของ ปปง. ยังพบว่า จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารกรุงไทย ของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ พบว่า ได้รับการโอนเงินจาก บริษัท สยามอินดิก้าฯ ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2558- 6 ก.ย.2559 จำนวน 45 ครั้ง เป็นเงิน 1,738 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า เมื่อได้รับเงินโอนแล้ว นายสรวิศ จะนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุน จากนั้นจะทำการขายหน่วยลงทุนและนำเงินดังกล่าวโอนเข้าบัญชีธนาคารของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ โดยตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2557 ถึง 7 เม.ย.2559 มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวน 23 ครั้ง เป็นเงิน 4,000,858,090 บาท ..."
ในการนำเสนอข้อมูลเบื้องลึกตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเส้นทางเงินคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่รัฐ หรือ จีทูจี ที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ และนำไปสู่การยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นสมบัติของแผ่นดินในขณะนี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูล บริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วว่า บริษัท ฮินตัน ฯ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน
ซึ่งจากการสอบสวนของ ปปง.พบว่า มีการกู้ยืมเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด จาก บริษัท ฮินตัน เป็นจำนวนเงินสูงถึง 5,000 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการคืนเงินกู้ โดยบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ปรากฎชื่อ นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ลูกชายของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร หรือ ลิ่มปิสุข เป็นผู้ก่อตั้ง
ขณะที่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามในการทำสัญญากู้ยืมระหว่าง บริษัท ฮินตันกับ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ในขณะนั้น คือ นายเฉิน ยี่ทง เป็นชาวจีน จาก มณฑลไหหลำ หรือ ไห่หนาน ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับคนที่ร่วมกับ นายลิตร พอใจ พนักงานในบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีสถานะเป็นพนักงานขับรถให้กับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ซึ่งปรากฎชื่อเป็นตัวแทนของบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง จำกัด รัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวจีทูจี ของรัฐบาลไทย โดยได้รับมอบอำนาจในการเข้ามารับข้าวในสต็อกรัฐบาลออกไปขายต่อให้กับกลุ่มผู้ส่งออกข้าวในประเทศ ภายใต้ชื่อ บริษัท ซิมเปิ้ล เบสท์ เทรดดิ้ง จำกัด แต่ไม่พบว่า เคยได้รับเงินจากบริษัทจีนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าว รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลกับกรมศุลกากรเมื่อปี 2556-2558 ก็ไม่พบว่าได้ทำการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนด้วย (อ่านประกอบ : ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (5) บ.ฮินตัน เกาะเวอร์จิน ผู้ให้กู้ยืมเงินปริศนา 5 พันล.)
@นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
@นายสรวิศ จันทร์สกุลพร
ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง เกี่ยวกับเส้นทางเงินกู้ 5 พันล้านบาท ของบริษัท ฮินตันฯ ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน คือ เงินจำนวนหนึ่ง ถูกโอนเข้าไปให้บริษัท สยามอินดิก้าฯ ด้วย
ทั้งนี้ ปปง.ได้ตรวจสอบข้อมูลงบการเงิน ของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ในปี 2556 พบว่า มีการให้กู้ยืมเงินระยะยาวแก่ บริษัท สยามอินดิก้าฯ เป็นจำนวนเงิน 2,933 ล้านบาท ซึ่งมีการทำสัญญากู้ยืม คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม
โดยเงินกู้ยืมดังกล่าว ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ขณะที่ผู้สอบบัญชี มีสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน ลงวันที่ 15 ก.ย.2557 แต่ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินกู้ยืมให้ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ผู้สอบบัญชี ได้ทำเอกสารขอส่งหนังสือยืนยันยอดเงินกู้ยืมดังกล่าวให้กับ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ และ บริษัท สยามอินดิก้า ลงนามรับรอง
แต่ทั้ง 2 บริษัท ไม่ได้ลงนามรับรองเอกสารดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบพบว่า บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ มีเงินให้กรรมการบริษัทกู้ยืมระยะยาว จำนวน 240 ล้านบาท ซึ่งไม่มีการทำสัญญากู้ยืม แต่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ผู้สอบบัญชี ได้ทำเอกสารขอส่งหนังสือยืนยันยอดเงินกู้ยืมดังกล่าวให้กับ นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ในฐานะกรรมการบริษัทฯ ลงนามรับรอง
แต่ นายสรวิศ ไม่ได้ลงนามรับรองเอกสารดังกล่าว
ข้อมูลการสอบสวนของ ปปง. ยังพบว่า จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารกรุงไทย ของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ พบว่า ได้รับการโอนเงินจาก บริษัท สยามอินดิก้าฯ ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2558- 6 ก.ย.2559 จำนวน 45 ครั้ง เป็นเงิน 1,738 ล้านบาท
ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า เมื่อได้รับเงินโอนแล้ว นายสรวิศ จะนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุน จากนั้นจะทำการขายหน่วยลงทุนและนำเงินดังกล่าวโอนเข้าบัญชีธนาคารของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ โดยตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2557 ถึง 7 เม.ย.2559 มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวน 23 ครั้ง เป็นเงิน 4,000,858,090 บาท
จากนั้นจะมีการถอนเงินดังกล่าว เป็นเงินสดทั้งหมด โดยการถอนเงินเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2558 รายการถอนจำนวน 1,000 ล้านบาท น่าเชื่อว่า เป็นการถอนเงินเพื่อนำไปซื้อสลาก ธกส.
นอกจากนี้ ยังมีการโอนเงินไปในบัญชีธนาคารอื่น รวมถึงบัญชีบริษัทสยามอินดิก้า อีกหลายร้อยล้านบาท
เบื้องต้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูล AERS ของ ปปง.พบว่า รายการที่เป็นยอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป เป็นรายการที่ฝากเงิน โดย น.ส. ทัศนีย์ บุญเสริม ระบุอาชีพว่า รับจ้าง สถานที่ทำงาน บริษัทสยามอินดิก้าฯ
ส่วนการฝากเงิน ระบุว่า มี บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ เป็นผู้มอบหมาย
จากข้อมูลเส้นทางทางการเงินดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ ของ นายสรวิศ และ บริษัท สยามอินดิก้า มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี นายสรวิศ ในการยืนยันต่อสู้คดีชั้นศาล ว่า ทรัพย์สินของตนที่ถูกปปง.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี
โดยที่ดินจำนวนนับร้อยแปลง ที่อยู่ในความครอบครอง ได้มาจาก 3 ส่วน คือ 1. กู้ยืมเงิน 260 ล้านบาท จากญาติที่ชื่อ นายสมชาย เวศวิฑูรย์ มาซื้อคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี 2. นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร มารดายกให้ โดยที่ดินจำนวนนี้ นางกิ่งแก้ว ใช้เงินส่วนตัวซื้อหามาเอง 3. นำเงินที่ได้จากการขายพระเครื่องที่ได้รับมาจากคุณปู่ ไปซื้อ
ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารมูลค่าหลายสิบล้านบาท นายสรวิศ ยืนยันว่า เป็นเงินของตนเอง ได้มาจากการประกอบธุรกิจโดยสุจริตเช่นกัน บางส่วนมาจากการรับคืนเงินกู้และดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมโดยชอบตามกฎหมาย เงินค่าปันผลค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
ขณะที่เงินกู้ยืมจากบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ นายสรวิศ เป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้ง รวมประมาณ 730 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนและลงทุนในสลากออมทรัพย์และหน่วยลงทุนในกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แหล่งที่มาของเงินจำนวนนี้ เป็นเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ได้มาจากการดำเนินกิจการ และการกู้ยืมเงินจากบริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด ที่จดทะเบียนบนเกาะบริติช เวอร์จิน
นายสรวิศ ยังยืนยันด้วยว่า ตนเป็นเพียงแค่บุตรของ นายอภิชาติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกับการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการใดๆ ของนายอภิชาติ ไม่เคยถูกแจ้งความ ไม่เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเกี่ยวกับกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี หรือถูกดำเนินคดีใดๆ ด้วย
(สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่าง บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ ของ นายสรวิศ และ บริษัท สยามอินดิก้า ไว้แล้วก่อนหน้านี้ อ่านประกอบได้ที่ : ที่แท้เจ้าของ"เมอร์รี่ไรซ์ฯ"ลูกชาย"เสี่ยเปี๋ยง" ตั้ง บ.กู้เงินปริศนา5พันล.ช่วงอายุ24, เงินกู้ปริศนาโผล่อีก 5 พันล. บ.คนสกุล 'เสี่ยเปี๋ยง' ไขที่มารายได้ดอกเบี้ยร้อยล., บ.คนสกุล"เสียเปี๋ยง" โชว์ผลประกอบการธุรกิจข้าวล่าสุด รายได้ดอกเบี้ยโผล่ร้อยล, เปิดหลักฐาน คนสกุล"เสี่ยเปี๋ยง"ขนเงินสด2.2พันล.ลงขันธุรกิจ ก่อนเจอคดีข้าว , หลักฐานครบชุด"คนสกุล"เสี่ยเปี๋ยง ขนเงินสด 2.2 พันล.รอผลป.ป.ช.ชี้คดีข้าว, 3คำถาม!เส้นทางเงินบ.เครือข่าย"เสี่ยเปี๋ยง"คดีข้าวจีทูจี ก่อน-หลังโอนหุ้นเกลี้ยง 2.2 พันล.)
อ่านประกอบ :
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี'
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (2) : คำให้การ ผู้สอบบัญชี VS คำโต้แย้งสยามอินดิก้า
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (3) คำให้การ 'สรวิศ' ลูกเสี่ยเปี๋ยง ก่อนโดนยึดทรัพย์
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (4)'ข้อมูลภาษี-แคชเชียร์เช็ค' หลักฐานมัด 'ลูกเสี่ยเปี๋ยง'
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (5) บ.ฮินตัน เกาะเวอร์จิน ผู้ให้กู้ยืมเงินปริศนา 5 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/