- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- ผ่างบพีอาร์กสทช.291ล.!มุ่งขายภาพองค์กรมากกว่าเนื้องาน ลักไก่จ้างวิธีพิเศษ
ผ่างบพีอาร์กสทช.291ล.!มุ่งขายภาพองค์กรมากกว่าเนื้องาน ลักไก่จ้างวิธีพิเศษ
"เอ็กซ์คลูซีฟ" (4): ผ่างบพีอาร์ กสทช. 291.12 ล. สตง.พบข้อมูลแจ้งตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงนับสิบล้าน ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล จ่ายค่าจ้างบางรายการสูงกว่าเกณฑ์ เผยจัดจ้างวิธีพิเศษเพียบ กว่า 32 รายการอ้างจำเป็นเร่งด่วน ทั้งที่ทำงานล่วงหน้าได้ -ฮือฮา เทียบเคียง สิงคโปร์ ใช้แค่ 14 ล.
นอกเหนือจากค่าจ้างที่ปรึกษา ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ถูกระบุว่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 329 ล้านบาท ซึ่งปรากฎอยู่ในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในช่วงปี 2556 จำนวน 1,859.72 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบข้อพิรุธสำคัญหลายเรื่อง ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ถึงคิวชำแหละงบกสทช.3.3พันล.! เฉพาะค่าจ้างที่ปรึกษา329ล.พิรุธเพียบ!)
ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ จำนวน 291.12 ล้านบาท ซึ่งปรากฎอยู่ในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในช่วงปี 2556 จำนวน 1,859.72 ล้าน ก็ถูกสตง.ตรวจสอบพบความผิดปกติหลายประการเช่นกัน!
สตง. ระบุว่า ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายที่มีการจ่ายสูงสุดเป็นอันดับสอง คิดเป็นร้อยละ 15.65 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ส่งงบการเงินสำหรับปี 2556 ให้กับ สตง. เพื่อตรวจสอบนั้น ปรากฏรายการค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เพียง 184.59 ล้านบาท
แต่จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงาน กสทช. ได้บันทึกค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์รวมอยู่ในค่าจ้างเหมาบริการอีกจำนวน 88.46 ล้านบาท และบันทึกค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ในปี 2556 ต่ำไปจำนวน 18.07 ล้านบาท ซึ่งภายหลังปรับปรุงรายการแล้วจำนวนค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์สำหรับปี 2556 จึงมีจำนวนถึง 291.12 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2555 ที่มีจำนวนเพียง 113.67 ล้านบาท เป็นจำนวน 177.45 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 156.11
ข้อสังเกต
1. เนื่องจากค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายที่สาธารณชนให้ความสนใจ การแสดงรายการในงบการเงินต่ำกว่าความเป็นจริงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล
2. ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรมิได้มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคอย่างเพียงพอ จึงเกิดปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคโดยการเรียกรับบัตรประชาชนเพื่อรับแจกกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ในพื้นที่หลายจังหวัด
3. จากการที่สำนักงาน กสทช. ไม่มีแผนปฏิบัติการประจำปีที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จึงทำให้ไม่สามารถจัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ประจำปี 2556 ได้ ส่งผลให้การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ขาดทิศทางที่ชัดเจน
4. การตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ที่มีจำนวนเงินเกิน 1 ล้านบาท จำนวน 32 รายการ คิดเป็นเงิน 99.41 ล้านบาท พบว่าทุกรายการเป็นการจ้างผู้รับจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์ (Organizer) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายการค่าใช้จ่ายกับอัตราค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงบประมาณ (มิถุนายน 2556)
พบว่า สำนักงาน กสทช. จ่ายค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดำเนินงานจัดประชาสัมพันธ์บางรายการสูงกว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
(ดูรายละเอียดในตาราง)
เลขที่สัญญา |
รายการ |
กสทช. |
อัตราของ สำนักงบประมาณ |
ผลต่าง |
พย.(จ)(กท)810/2556 |
จ้างประชาสัมพันธ์การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานฯ 1800 MHz |
2,000,000 |
1,650,000 |
350,000 |
พย.(จ)(สบ.)1277/2556 |
จ้างประชาสัมพันธ์โครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ กสทช. |
840,000 |
316,200 |
523,800 |
นอกจากนี้ยังพบว่า สัญญาจ้างประชาสัมพันธ์ทั้ง 32 รายการ จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยให้เหตุผลว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจากการตรวจสอบรายละเอียดของงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว
พบว่าบางรายการสามารถวางแผนงานประชาสัมพันธ์ได้ล่วงหน้า และไม่จำเป็นต้องทำการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เนื่องจาก
• เป็นงานประชาสัมพันธ์ตามภารกิจสำคัญที่สำนักงาน กสทช. จะต้องมีแผนดำเนินงานเป็นการล่วงหน้า หรือมีการขอใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการไว้แล้ว ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ลักษณะงานดังกล่าวจึงอาจไม่มีเหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขอใช้วิธีพิเศษได้ เช่น โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G โครงการสร้างความตระหนักการกระตุ้นความต้องการในการใช้งาน ICT ตามภารกิจ USO และโครงการการประชาสัมพันธ์สัญญาสัมปทานสิ้นสุดคลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นต้น
• เป็นงานประชาสัมพันธ์ตามเทศกาล ซึ่งมีระยะเวลาแน่นอนในการจัดกิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมวันเด็ก การจ้างทำบัตรอวยพร และการจ้างทำปฏิทินในช่วงปีใหม่ เป็นต้น
5. ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ จำนวน 291.12 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบข้อมูลตามแผนภูมิ ดังนี้
จากแผนภาพดังกล่าวพบว่า สำนักงาน กสทช. มีค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์สูงกว่าประเทศสิงคโปร์
โดยค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสิงคโปร์ เท่ากับ 0.61 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 14.48 ล้านบาท) ซึ่งค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. สูงกว่าถึงจำนวน 276.64 ล้านบาท
ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศมาเลเซีย ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงรายการค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์แยกต่างหากในงบการเงิน จากการสอบทานหมายเหตุประกอบงบการเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่ปรากฏค่าใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งอาจหมายถึง ไม่มีการจ่ายค่าประชาสัมพันธ์หรือจำนวนเงินไม่เป็นสาระสำคัญจึงไม่มีการแสดงรายการ
ข้อเสนอแนะ
1. สำนักงาน กสทช. ควรกำหนดแผนการประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร เพื่อให้กิจกรรมการประชาสัมพันธ์เป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อโครงสร้างของสำนักงาน กสทช. กำหนดให้มีสำนักสื่อสารองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ ดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและถูกต้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร ประสานงานและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เป็นที่ปรากฏในระดับชาติและระดับสากล ผู้บริหารจึงควรผลักดันให้สำนักสื่อสารองค์กร มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในภาพรวมขององค์กรด้วยตัวเองเป็นหลัก ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดในโครงสร้างอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์ ควบคุม และประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
2. ขอให้เลขาธิการ กสทช. ให้ความสำคัญในการควบคุมให้ สำนักงาน กสทช. จ้างผู้รับจัดงานประชาสัมพันธ์ (Organizer) เท่าที่จำเป็น และพิจารณานำหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของสำนักงบประมาณ มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การจ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ตามหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ
3. ตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ข้อ 14(9) ระบุว่า “งานประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ และมีระยะเวลาดำเนินการอันจำกัด ให้สามารถใช้การจ้างโดยพิเศษได้”ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ต้องการสร้างความยืดหยุ่นในการจัดจ้างงานประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่จากการที่สำนักงาน กสทช. ไม่มีแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ประจำปี จึงทำให้ไม่มีการควบคุมการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดการใช้ระเบียบดังกล่าวไปดำเนินการจ้างประชาสัมพันธ์โดยใช้วิธีพิเศษเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้สำนักงาน กสทช. เสียประโยชน์และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
4. ผู้บริหารควรตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินค่าประชาสัมพันธ์ให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรเป็นหลัก มากกว่าการดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร เนื่องจากการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ควรมุ่งเน้นปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ตามยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ซึ่งเมื่อสำนักงาน กสทช. ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นหน่วยงานที่มี Good Governance ย่อมได้รับการยอมรับในเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรเองโดยปริยาย นอกจากนี้ควรมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคควรได้รับจากผู้ประกอบการและวิธีการป้องกันสิทธิเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กร
(ตอนหน้าว่าด้วย ค่าใช้จ่ายจัดประชุม เบิกจ่ายเงินโรงแรมที่พัก)
อ่านประกอบ:
เปิดหมดค่าใช้จ่าย11กสทช.ปี 56 เบ็ดเสร็จ117.55 ล.-"เศรษฐพงค์"ครองแชมป์
เปิดค่าเช่ารถหรูประจำตำแหน่งกสทช. 11.2 ล. "ธเรศ"ปธ.ใช้BENZ 1.1 ล.
สตง.ชำแหละกสทช.ฉบับเต็ม! พบจัดซื้อวิธีพิเศษพุ่ง1.3พันล. หวั่นเอื้อทุจริต