- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- ไม่พบอำนาจอนุมัติจัดทำ-เริ่มก่อนวางระเบียบ!สรุปผลสอบทานปลูกปาล์มอินโดฯฉบับดีลอยท์
ไม่พบอำนาจอนุมัติจัดทำ-เริ่มก่อนวางระเบียบ!สรุปผลสอบทานปลูกปาล์มอินโดฯฉบับดีลอยท์
เปิดผลสอบทาน 5 โครงการปลูกปาล์มอินโดฯฉบับ ‘ดีลอยท์ฯ’ ก่อน ปตท. เตรียมขายทรัพย์สิน เจอข้อมูลสำคัญเพียบ ไม่พบเอกสารระบุอำนาจการอนุมัติจาก ปตท./PTT.GE ลงทุนปลูกปาล์มอินโดฯ ไม่พบหลักเกณฑ์ใช้ประกอบการลงทุนช่วงแรกปี 49-51 ทำ 3 โครงการแรกก่อนวางระเบียบ สรุปไม่ได้จัดจ้าง บ.ที่ปรึกษา ถูกต้องหรือไม่
หลังจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่ข้อมูลอนุมัติการลงทุนในโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย ของบริษัท พีทีที.กรีน เอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE) ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 โครงการ ช่วงปี 2549-2555 ได้แก่ PT.Az Zhara PT.MAR (PT.Pontianak และ PT.Banyuasin) PT.KPI และ PT.FBP โดย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ที่ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการดังกล่าวไปแล้ว
บริษัท ดีลอยท์ฯ ยังตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะค่านายหน้าในการซื้อขายที่ดินในโครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI วงเงินกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มี KSL เป็นบริษัทนายหน้า ปรากฏชื่อ 2 บุคคลสัญชาติไทยลงนาม และพบเส้นทางเงินไหลผ่านเอกชนต่างประเทศ ผ่านธนาคารในฮ่องกง และมีรายละเอียดเช็คบางส่วนแฟกซ์ถึงร้านค้าใจกลางเมือง กทม. ประเทศไทยด้วยนั้น (อ่านประกอบ : ขมวดเส้นทางเงินซับซ้อน!ค่านายหน้าคดีปลูกปาล์มอินโดฯผ่านแบงก์ฮ่องกง-ถึงร้านค้าใน กทม.)
เมื่อเกิดประเด็นปัญหาต่าง ๆ ขึ้น จน ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และมีมติไล่ออกพนักงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อแล้วนั้น ปัจจุบัน ปตท. อยู่ระหว่างกระบวนการจำหน่ายทรัพย์สินจาก 5 โครงการดังกล่าว
สำหรับกระบวนการจำหน่ายทรัพย์สินใน 5 โครงการนี้ บริษัท ดีลอยท์ฯ ในฐานะเป็นผู้สอบบัญชีของ ปตท. จำเป็นต้องสอบทานเอกสารหลักฐานข้อเท็จจริงใน 5 โครงการดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
บริษัท ดีลอยท์ฯ ขอข้อมูลเอกสารหลักฐานต่าง ๆ จาก ปตท. ทั้งเอกสารเกี่ยวกับการลงทุน และเอกสารการขายทรัพย์สิน พบว่า รับเอกสารแล้วรวม 117 รายการ แต่ไม่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องอีก 107 รายการ และยังพบอีกว่า เอกสารเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ปตท. ไม่มีข้อมูลถึง 26 รายการ ส่วนเกี่ยวกับการขายทรัพย์สิน ปตท. ไม่มีข้อมูล 10 รายการ เป็นต้น
ขณะเดียวกันบริษัท ดีลอยท์ฯ ยังไม่พบเอกสารที่ระบุถึงอำนาจในการอนุมัติการลงทุนของ ปตท./PTT.GE ที่ชัดเจนในช่วงระยะเวลาที่มีการลงทุน 5 โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียดังกล่าว ไม่พบเอกสารว่าด้วยนโยบายกฎ ระเบียบ ขั้นตอน หลักเกณฑ์การดำเนินงาน สำหรับใช้ประกอบกระบวนการลงทุนในระยะแรก (ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2549-ต.ค. 2551)
อย่างไรก็ดีบริษัท ดีลอยท์ฯ พบ ‘ระเบียบการจัดหาสิทธิในที่ดินปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย ของ PTT.GE’ จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 2551 ฉบับที่สองมีผลบังคับใช้ 17 มี.ค. 2553
สำหรับระเบียบการจัดหาสิทธิในที่ดินปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซียทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พบว่า มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยระบุข้อกำหนดว่า บริษัทที่จะเข้ามาทำการขายหรือโอนสิทธิที่ดินสำหรับปลูกปาล์ม ต้องมีใบอนุญาตขั้นต่ำระดับ Location Permit หรือเทียบเท่า และคงสิทธิที่จะได้ดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ จนได้รับ HGU บริษัทนั้นจะต้องยินดีขายหุ้น หรือสินทรัพย์ พร้อมสิทธิในที่ดิน ที่คงสิทธิที่จะดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ จนกระทั่งได้ HGU
ส่วนที่ดินของบริษัทดังกล่าว จะต้องมี Location Permit ที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการปลูกปาล์มทั้งทางกายภาพ และทางเคมี โดยสามารถเข้าถึงได้ทั้งทางบก และ/หรือทางน้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีบริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า โครงการ PT.MAR (Pontianak) PT.Az Zhara และ PT.MAR (Banyuasin) เริ่มต้นขึ้นก่อนที่จะมีระเบียบดังกล่าวบังคับใช้ ส่วนโครงการ PT.FBP และ PT.KPI เริ่มต้นภายใต้ผลการบังคับใช้ระเบียบทั้ง 2 แห่งดังกล่าว
นอกจากนี้บริษัท ดีลอยท์ฯ ยังไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือกที่ปรึกษาของ PTT.GE เพื่อเข้ามาให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการแก่ PTT.GE ในระหว่างปี 2549-2555 แต่พบเพียงเอกสารสัญญาว่าจ้าง รายงานหรือผลงานที่ส่งมอบ และเอกสารการชำระเงินบางส่วน สำหรับบางโครงการ หรือบางกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า การจัดจ้างที่ปรึกษาต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ ปตท. หรือ PTT.GE หรือไม่
ทั้งนี้ยังพบตารางสรุปรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ และรายละเอียดบางส่วน แต่ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอการให้บริการ รายชื่อบริษัทผู้ยื่นข้อเสนอแข่งขันรายอื่น วันที่เริ่มทำสัญญาว่าจ้าง และอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประเมินกระบวนการจัดจ้างที่ปรึกษาได้
สำหรับการสอบทานเป็นรายโครงการทั้ง 5 โครงการนั้น บริษัท ดีลอยท์ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหา และความไม่ชอบมาพากลในแต่ละโครงการไว้ด้วย
ส่วนจะมีโครงการไหนบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จะนำมาเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
‘ดีลอยท์’แนะ ปตท.สอบค่านายหน้าปลูกปาล์ม-เอกชนได้เงินผ่านแบงก์ฮ่องกงโยงร้านค้าไทย
อดีตเลขา‘สุวัจน์’ฟ้องหมิ่น‘อิศรา’ ปมเสนอข่าวค่านายหน้าปลูกปาล์มอินโดฯ
'นิพิฐ-บ.ปาล์ม บิซ' โนติสเตือนอิศราหยุดเสนอข่าวป.ป.ช.สอบคดีปลูกปาล์มอินโด
หมายเหตุ : ภาพประกอบปาล์มอินโดฯ จาก springnews