- Home
- Investigative
- ข่าวบุคคลดัง
- บ.ต่างชาติให้กู้ไม่มีค้ำประกัน! ที่มาเงินปริศนา 5 พันล. บ.ลูกชาย "เสี่ยเปี๋ยง"
บ.ต่างชาติให้กู้ไม่มีค้ำประกัน! ที่มาเงินปริศนา 5 พันล. บ.ลูกชาย "เสี่ยเปี๋ยง"
แกะรอยที่มาเงินกู้ปริศนา 5 พันล้าน บ.ลูกชาย "เสี่ยเปี๋ยง" พบโชว์หราในงบดุล ระบุได้มาจากเอกชนต่างชาติ ทำสัญญาเป็นทางการ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้่ำประกัน ทั้งที่ มิได้ประกอบกิจการหลัก ก่อนแยกทำสัญญาย่อยปล่อยกู้ต่อ 3 พันล้าน ให้กิจการที่เกี่ยวข้องกัน
"บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด" ของ "นายสรวิศ จันทร์สกุลพร" ลูกชายนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" อดีตนักธุรกิจค้าข้าวชื่อดัง (ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ที่ปรากฎชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)) กู้ยืมเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท มาจากใคร? และนำมาใช้ทำธุรกิจอะไร?
นี่คือ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นทันทีภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ของนายสรวิศ ได้นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 พร้อมกัน 2 ปีรวด คือ ปี 2556 และปี 2557
ระบุว่า มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยรับเงินฝากและจากการขายเงินลงทุนกว่าร้อยล้านบาท และมีเงินกู้ยืมเป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท
ขณะที่การจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ระบุว่าทำธุรกิจส่งออกข้าวสารและสินค้าเกษตร มีทุนจดทะเบียนแค่ 1 ล้านบาท
ส่วนนายสรวิศ ในช่วงจดทะเบียนตั้งบริษัทฯ มีตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ และได้รับเงินกู้ยืมจำนวน 5,000 ล้านบาท ดังกล่าว มีอายุเพียงแค่ 24 ปีเท่านั้น
(อ่านประกอบ : เงินกู้ปริศนาโผล่อีก 5 พันล. บ.คนสกุล 'เสี่ยเปี๋ยง' ไขที่มารายได้ดอกเบี้ยร้อยล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด พบข้อมูลเกี่ยวกับที่มาเงินกู้ยืม จำนวน 5,000 ล้านบาท ระบุไว้ในงบการเงินปี 2556 ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ว่า
"บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมระยะยาวจากบริษัทต่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการทำสัญญาเงินกู้ยืมจำนวน 2 สัญญา รวมจำนวนเงิน 5,000,000,000.00 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน" (ดูหลักฐานประกอบ)
ขณะที่ในงบการเงินปี 2557 มีการระบุข้อมูลเงินกู้จำนวน 5,000 ล้านบาท ไว้ในหมายเลข 6 รายละเอียดวงเงินกู้ และเงื่อนไขการกู้เงินเหมือนเดิม ชี้ให้เห็นว่ายังไม่ได้มีการเริ่มต้นชำระเงินกู้จำนวนนี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในหมายเหตุงบการเงิน หมายเหตุที่ 5 ระบุว่า บริษัทมีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่กิจการที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 2 สัญญา รวมวงเงิน 3,173 ล้านบาท แยกเป็น
สัญญาแรก วงเงิน 2,933 ล้านบาท ซึ่งมีการทำสัญญาเงินให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สัญญาสอง วงเงิน 240 ล้านบาท ซึ่งไม่มีการทำสัญญา แต่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ดูเอกสารประกอบ)
จากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า ในหมายเหตุประกอบงบการเงินทั้ง 2 ปี คือ ปี 2556 -2557 มีการระบุว่า บริษัทฯ มิได้ประกอบธุรกิจหลักในระหว่างปีปัจจุบันด้วย
จากข้อมูลทั้งหมด ทำให้สรุปได้ว่า นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2556-2557 บริษัทฯ ไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจส่งออกข้าวสารและสินค้าเกษตรแต่อย่างใด
แต่ในช่วงปี 2556 (ดูในแผนภูมิหมายเลข 1 ) ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นจัดตั้งบริษัทฯ มีการกู้ยืมเงินจากบริษัทเอกชนในต่างประเทศ มาเป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท
จากนั้นในช่วงปี 2557 (ดูในแผนภูมิหมายเลข 2) บริษัทฯ นำเงินจำนวน 3,173 ล้านบาท ไปให้กิจการที่เกี่ยวข้องกู้ยืมต่อ โดยกำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมคล้ายๆ กัน
คำถามที่น่าสนใจสำหรับ กรณีนี้ มี 3 ข้อ หลักๆ คือ
1. นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มิได้ประกอบธุรกิจหลักแต่อย่างใด
ทำไมถึงได้รับความไว้วางใจจากเอกชนต่างชาติ ให้กู้เงินเป็นจำนวนสูงถึง 5,000 ล้านบาท แถมบริษัทฯ ยังนำเงินไปปล่อยกู้ต่ออีก
2. บริษัทเอกชนต่างประเทศ ที่ให้กู้ยืมเงินจำนวนถึง 5,000 ล้านบาท มีชื่อว่าอะไร ทำธุรกิจอะไร ทำไมบริษัทเอกชนต่างประเทศรายนี้ ถึงใจดีให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญาแบบนี้
3. กิจการที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ได้รับเงินกู้ยืมจำนวน 3,173 ล้านบาท คือ บริษัทอะไร ทำธุรกิจอะไร และทำไมบริษัท เมอร์รี่ไรซ์ฯ ถึงใจดี ให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญาแบบนี้ แถมวงเงินกู้ยืมจำนวน 240 ล้านบาท ตามสัญญาที่สอง ยังไม่ต้องมีการทำสัญญาด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2556 นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ซึ่งมีอายุ 24 ปี เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โครงการรับจำนำข้าวในส่วนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหาการทุจริต ข้าวที่ทำสัญญาขายต่อให้กับบริษัทจีนไม่ได้ถูกส่งออกไปนอกประเทศ
แต่ถูกนำเข้ามาเวียนขายในประเทศ โดยมีบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ที่นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" เป็นผู้ก่อตั้ง อยู่เบื้องหลัง
ในลักษณะการนำข้าวไปเร่ขายให้ผู้ส่งออกข้าวในประเทศ
อ่านประกอบ :
ที่แท้เจ้าของ"เมอร์รี่ไรซ์ฯ"ลูกชาย"เสี่ยเปี๋ยง" ตั้ง บ.กู้เงินปริศนา5พันล.ช่วงอายุ24
เงินกู้ปริศนาโผล่อีก 5 พันล. บ.คนสกุล 'เสี่ยเปี๋ยง' ไขที่มารายได้ดอกเบี้ยร้อยล.
บ.คนสกุล"เสียเปี๋ยง" โชว์ผลประกอบการธุรกิจข้าวล่าสุด รายได้ดอกเบี้ยโผล่ร้อยล
เปิดหลักฐาน คนสกุล"เสี่ยเปี๋ยง"ขนเงินสด2.2พันล.ลงขันธุรกิจ ก่อนเจอคดีข้าว
หลักฐานครบชุด"คนสกุล"เสี่ยเปี๋ยง ขนเงินสด 2.2 พันล.รอผลป.ป.ช.ชี้คดีข้าว
3คำถาม!เส้นทางเงินบ.เครือข่าย"เสี่ยเปี๋ยง"คดีข้าวจีทูจี ก่อน-หลังโอนหุ้นเกลี้ยง 2.2 พันล.