- Home
- Investigative
- บัญชีทรัพย์สิน
- พบเมียอดีต รมช.มหาดไทย โผล่ถือครองสิทธิปลูกยาง 61ไร่ในที่"ส.ป.ก."
พบเมียอดีต รมช.มหาดไทย โผล่ถือครองสิทธิปลูกยาง 61ไร่ในที่"ส.ป.ก."
"วิสาร เตชะธีราวัฒน์" อดีต รมช.มหาดไทย โชว์หราในบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. "คู่สมรส" มีสวนยางบนพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 จ.เชียงราย รวมจำนวน 61 ไร่ ระบุได้รับมอบสิทธิ-เข้าไปทำประโยชน์เก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่ปี 50 แจ้งมูลค่า 1 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ช่วงเข้าและพ้นตำแหน่งของนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ระบุว่า นางสมสะอาด เตชะธีราวัฒน์ คู่สมรส ได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ปลูกสวนยางพารา และเก็บเกี่ยวผลผลิต ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในจังหวัดเชียงราย รวมจำนวน 61 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา และปัจจุบันได้มีการปลูกต้นยางพาราแล้วจำนวน 50 ไร่
ทั้งนี้ นายวิสาร ระบุว่า นางสมสะอาด ได้รับสิทธิดังกล่าว มาตั้งแต่ปี 2550 พร้อมแจ้งมูลค่าในปัจจุบันไว้ที่ตัวเลข 1 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ป.ก. 4-01 คือ เอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
ทั้งนี้ เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายที่ดิน หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ หรือเปลี่ยนมือไปยังผู้ครอบครองรายอื่น แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน โดยสิทธิในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ประชาชนสามารถคืนที่ดินให้รัฐหากไม่ต้องการ และรัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำกิน
สำหรับหน่วยงานที่ดูแลการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.4-01 คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปยัง นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2550 ศาลจังหวัดภูเก็ต เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ 1765/2541 และคดีหมายเลขแดงที่ 1485/2544 ระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ฟ้องขับไล่กับ นายทศพร เทพบุตร จำเลย โดยคดีนี้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย คือ นายทศพร ว่า จำเลยยื่นคำขอเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ตั้งแต่ปี 2532 เนื้อที่ 98 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา โดยอ้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนผลไม้ และปลูกยางพารา ต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปดังกล่าว
แต่หลังจากนั้น มีการร้องเรียนว่าผู้ได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปบางรายขาดคุณสมบัติ ทางโจทก์จึงได้ทำการสอบสวน พบว่า จำเลยขาดคุณสมบัติที่จะได้สิทธิการทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตัวเอง กับมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ แต่จำเลยมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงมีมติเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.4-01 เลขที่ 140 อ.เมืองภูเก็ต แต่ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแต่คณะกรรมการไม่รับ เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นเกษตรกร กลับให้จำเลยออกจากที่ดินที่ถูกเพิกถอน แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย จึงได้มีการฟ้องขับไล่เกิดขึ้น
โดยในขณะนั้นศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ซึ่งทาง ส.ป.ก.ซึ่งเป็นโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโดยให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เลขที่ 140 อ.เมืองภูเก็ต ต่อมาจำเลยฎีกา
โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่ นายทศพร อ้างว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายจรัญ ตุ้งกู ซึ่งได้ครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2499 และได้โอนให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ส.ป.ก.ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวนั้น ศาลฎีกา เห็นว่า การจะได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 ว่า ให้ผู้ที่ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับมาตรา 1 บุคคลที่จะมีกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องได้มา ซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและมาตรา 4 บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและคุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย
แต่กรณีของ นายจรัญ ได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาจากบิดาของนายจรัญ ซึ่งครอบครองในปี 2499 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประการใช้แล้ว และไม่ปรากฏว่า ได้ครอบครองที่ดินโดยชอบตามบทกฎหมายใด การครอบครองของนายจรัญ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจรัญ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ยังบัญญัติว่า ที่ดินซึ่งมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ
ดังนั้น ที่ดินที่ นายจรัญ ครอบครองจึงต้องถือว่าเป็นที่ดินของรัฐอยู่ นายทศพร รับโอนมาจากนายจรัญ จึงไม่มีสิทธิดีกว่า โจทก์ หรือ ส.ป.ก.จึงมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ส่วน นายทศพร เป็นเกษตรกรตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2516 หรือไม่นั้น มาตรา 4 ให้คำนิยามไว้ว่า เกษตรกรหมายความว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจน หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายทศพร มีที่ดินอยู่ที่ใน ต.ไม้ขาว อ.ถลาง 3 แปลง อยู่ใน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต อีก 22 แปลง กับมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด นายทศพรจึงไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเอง และประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นายทศพร จึงไม่ใช่เกษตรกรตามความหมายของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2516 โดย ส.ป.ก.หรือโจทก์มีสิทธินำที่ดินพิพาทมาปฏิรูปที่ดินได้ โดยศาลฎกีกาพิพากษายืนตามศาลอุธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท