- Home
- Investigative
- บัญชีทรัพย์สิน
- ประกาศ ป.ป.ช.ให้สิทธิปกปิดทรัพย์สินฉบับใหม่ 'ผูกขาดการตรวจสอบ-อุ้มนักการเมือง'?
ประกาศ ป.ป.ช.ให้สิทธิปกปิดทรัพย์สินฉบับใหม่ 'ผูกขาดการตรวจสอบ-อุ้มนักการเมือง'?
“…ต้องเข้าใจก่อนว่า หลักการสำคัญของการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ คือ การให้ประชาชนเข้ามาร่วมกันตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินนั้น ๆ เพราะนักการเมืองมีเป็นจำนวนมาก และปีหนึ่งมีหลายพันถึงหลายหมื่นคน (รวมนักการเมืองท้องถิ่น) สวนทางกับเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่มีแค่ไม่กี่พันคน ยิ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน มีระดับแค่หลักร้อยคน…”
กฏเกณฑ์การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ ‘นักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ’ ถูกปรับโฉมใหม่อีกครั้งอย่างเงียบเชียบ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2560
สาระสำคัญของประกาศ ป.ป.ช. เรื่องวิธีเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฉบับใหม่นี้ คือ การเพิ่มเติมให้ ‘นักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ’ สามารถขอ ‘ปกปิด’ ข้อมูลทรัพย์สินที่จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนได้มากยิ่งขึ้น (แต่ตอนยื่นให้สำนักงาน ป.ป.ช. จะปกปิดข้อมูลไม่ได้)
ทั้งทีข้อมูลบางอย่าง ไม่มีความจำเป็นต้องปกปิด หรือบางข้อมูลคือข้อมูลสำคัญที่ต้องเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ?
อย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปประเด็นให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
ประกาศ ป.ป.ช. เรื่องวิธีเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฉบับใหม่ สาระสำคัญอยู่ในข้อ 5 ที่ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเห็นว่า การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ อาจก่อให้เกิดอันตราย ต่อชีวิต ร่างกาย หรือความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลเกินสมควร ให้ผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ปกปิดข้อมูลโดยวิธีลบ ตัดทอน หรือกระทําโดยประการอื่นใดในสําเนาคู่ฉบับของบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบในรายการ ดังต่อไปนี้
(1) เลขประจําตัวประชาชน (2) วัน เดือน ปีเกิด (3) ที่อยู่ (4) หมายเลขโทรศัพท์ที่บ้าน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ (5) อีเมล์ (6) เลขที่บัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน (7) เลขที่บัญชีหุ้น (8) เงินให้กู้ยืม เฉพาะที่อยู่/อาชีพ ผู้กู้ยืม (9) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะเลขที่บ้าน สถานที่ตั้ง (10) ยานพาหนะ เฉพาะหมายเลขทะเบียน (11) ภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น (12) เลขที่บัตรเครดิต (13) หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เฉพาะที่อยู่ผู้ให้กู้ (14) หนี้สินอื่น เฉพาะที่อยู่ผู้ให้กู้
ทั้งนี้ การปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามวรรคหนึ่ง เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาอนุมัติ
(อ่านฉบับเต็มปี 2560 ที่นี่)
ซึ่งเพิ่มเติมจากฉบับเดิมเมื่อปี 2554 ที่ระบุแค่ 4 รายการ ได้แก่ (1) เลขประจําตัวประชาชน (2) เลขที่บัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน (3) เลขที่บัตรเครดิต (4) ภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น
(อ่านฉบับเต็มปี 2554 ที่นี่)
จะเห็นได้ว่า ประกาศ ป.ป.ช. วิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฉบับใหม่ เพิ่มเติมข้อมูลประมาณ 10 รายการ ที่สามารถขอให้ ป.ป.ช. ปกปิดได้
ภายหลังออกประกาศดังกล่าว นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. อธิบายเหตุผลว่า เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ หรือการโจรกรรม หรือการก่อกวนข้อมูลของผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เช่น เลขบัญชีธนาคาร อีเมล์ เลขบัตรประชาชน ที่ปัจจุบันล้วนไปอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์หมดแล้ว ดังนั้น จึงมีการยกเว้นไม่ให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อป้องกันการโจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เคยเกิดกรณีกับผู้ยื่นทรัพย์สินบางราย จึงต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลไว้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้สาธารณชนรับทราบ แต่นักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องยื่นข้อมูลส่วนนี้กับป.ป.ช.อยู่แล้ว ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือนักการเมือง แต่ต้องการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล
จริงหรือ ?
เพราะประเด็นที่น่าสนใจคือ มีบางรายการที่ไม่จำเป็นต้องปกปิด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีของประชาชนบางพื้นที่อยู่แล้ว เช่น วัน/เดือน/ปี เกิด ที่นักการเมืองจำเป็นต้องกรอกข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอนลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว
หรือแม้แต่ที่อยู่ หากเป็นที่อยู่ปัจจุบันอาจพออนุโลมได้ แต่ถ้านักการเมืองมีบ้าน ห้องแถว หรืออาคารหลายหลัง จำเป็นต้องปกปิดข้อมูลเลขที่บ้าน หรือที่อยู่ทุกหลังหรือไม่ แล้วทำไปเพื่ออะไร ?
ต้องไม่ลืมว่า นักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะ ส.ส. ในพื้นที่ต่างจังหวัด ต่อให้ปกปิดข้อมูลดังกล่าว แต่เป็นที่ทราบกันดีในพื้นที่อยู่แล้วว่า บ้านของ ส.ส. คนดังกล่าวอยู่ไหน ไม่จำเป็นต้องปกปิดให้เสียเวลา
นอกจากนี้ยังให้สิทธิขอปกปิดเลขที่บัญชีหุ้น และอาชีพของผู้กู้ยืมเงินได้
ความสำคัญของเลขที่บัญชีหุ้น คือ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการยักย้ายถ่ายเทหุ้น หรือนำเงินที่ได้มา ไปลงทุนในหุ้นดังกล่าวมากแค่ไหน จริงหรือไม่
ขณะที่อาชีพของผู้กู้ยืมเงิน ทำให้ทราบว่า คนที่เข้ามากู้เงิน ที่แท้จริงเป็นใคร ทำอาชีพไหน ส่งผลให้ตรวจสอบได้ว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร ?
หรือแม้แต่การปกปิดภาพถ่ายของทรัพย์สิน ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีนักการเมืองรายใดปกปิดมาก่อน กระทั่งการมาถึงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสมาชิสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายคน โดยเฉพาะ ‘สายทหาร’ ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินโดย ‘ปกปิด’ หรือ ‘เบลอ’ ภาพถ่ายทรัพย์สินจำพวกเครื่องประดับ หรือพระเครื่อง เกือบทั้งหมด ก่อนหน้าที่จะมีประกาศ ป.ป.ช. ฉบับนี้ออกมาด้วยซ้ำ
แม้แต่ประธาน สนช. อย่าง ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ยัง ‘เบลอ’ ข้อมูลส่วนนี้ โดยอ้างว่า กลัวขโมยขึ้นบ้าน ?
(อ่านประกอบ : คำถามจากสังคมถึงหน้าที่สนช.หลังใช้สิทธิ์ปกปิดสมบัติอ้างกลัวขโมยขึ้นบ้าน?)
เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า หลักการสำคัญของการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ คือ การให้ประชาชนเข้ามาร่วมกันตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินนั้น ๆ เพราะนักการเมืองมีเป็นจำนวนมาก และปีหนึ่งมีหลายพันถึงหลายหมื่นคน (รวมนักการเมืองท้องถิ่น)
สวนทางกับเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่มีแค่ไม่กี่พันคน ยิ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน (แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ตรวจสอบบัญชีนักการเมืองระดับชาติ บัญชีนักการเมืองท้องถิ่น และบัญชีเจ้าหน้าที่ของรัฐ) มีระดับแค่หลักร้อยคน
แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไรได้ถี่ถ้วน หรือครบทุกคน ?
นี่ยังไม่นับที่ ป.ป.ช. ออกประกาศเพิ่มเติมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอยู่เรื่อย ๆ แต่กลับไม่มีการเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หรือรับคนมาช่วยกันแต่อย่างใด
แม้ว่าแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองเป็นอย่างมาก มีการ 'หว่านแห' ตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึกบรรดานักการเมืองระดับชาติก็ตาม
แต่ผลงานที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นผ่านประกาศ ป.ป.ช. ที่รับรองความมีอยู่จริงของทรัพย์สินในคณะรัฐมนตรีชุดต่าง ๆ ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาอยู่เนือง ๆ เช่น เมื่อปี 2557 เพิ่งตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสร็จสิ้น ทั้งที่พ้นจากเก้าอี้มาตั้งแต่ปลายปี 2550 ?
หรือใช้เวลากว่า 7 ปี จึงตรวจสอบแล้วเสร็จ !
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.รับรองทรัพย์สิน"ครม.ขิงแก่"ช่วงพ้นตำแหน่ง แต่ไร้ชื่อ "สุรยุทธ์")
อีกประการหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ หรือแม้แต่ร่ำรวยผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้วยการตรวจสอบของประชาชน และสื่อ เป็นหลัก แทบนับคดีที่ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบแล้วเจอเองได้ ? (ส่วนใหญ่ที่ ป.ป.ช. พบ จะเป็นพวกนักการเมืองท้องถิ่น)
ยกกรณีตัวอย่าง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีต ‘ซือแป๋’ การเมืองไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แจ้งหนี้สินอันเป็นเท็จ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ก็เกิดขึ้นจากการขุดคุ้ยของสื่อมวลชน ที่เริ่มต้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา
หรือคดี ‘คลาสสิค’ อย่าง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาว ถูกสื่อขุดคุ้ยว่า โอนหุ้นให้คนรับใช้ รปภ.และคนขับรถ มูลค่าหลายพันล้านบาท กระทั่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ต่อมามีมติ 5-4 เสียง ว่า นายทักษิณ ไม่ได้จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน
หรือคดีล่าสุดอย่าง นายพงษ์เวช เวชชาชีวะ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ลูกพี่ลูกน้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 6 เดือน (รอลงอาญา 1 ปี) และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กรณีจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน จากการไม่แจ้งหุ้นฟาร์มเลี้ยงหมูของตัวเอง ก็มาจากการขุดคุ้ยของสื่อเช่นกัน
(อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯสั่งจำคุก‘พงศ์เวช’อดีต ส.ส.ปชป.จงใจซุกหุ้น7แสนบ.-รอลงโทษ 1ปี)
นี่ยังไม่นับกรณี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่มีสถานะ ‘น้องชาย’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ซึ่งถูกขุดคุ้ยเรื่องบัญชีเงินฝากของภรรยา และบัญชีเงินฝากกองทัพที่ปรากฏชื่อนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส เป็นผู้มีอำนาจโอนจ่าย ด้วย
โดยเฉพาะประเด็นเงินไหลเวียนในบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ ในช่วงปี 2557 มีหลายสิบล้านบาท ทั้งที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ว่า ไม่ได้ประกอบธุรกิจแต่อย่างใด
แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับมีมติว่า พล.อ.ปรีชา ยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างถูกต้อง และไม่ยอมตรวจสอบประเด็นบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ต่อ โดยอ้างว่า ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ?
(อ่านประกอบ : 2 เงื่อนปม ป.ป.ช.ไม่สอบ‘เมียปรีชา’ เงินหมุนเวียนในบัญชีหลายสิบล.ไร้รายได้-ธุรกิจ?, ไร้หลักฐานใหม่! ปธ.ป.ป.ช.ยันไม่รื้อคดีทรัพย์สิน‘ปรีชา’ปมบัญชีเงินฝาก ‘เมีย’)
ทั้งหมดคือเหตุผลที่จำเป็นต้องอธิบายว่า ทำไมข้อมูลบางอย่างในบัญชีทรัพย์สิน จึงไม่ควรปกปิดให้ประชาชนทราบ เพราะบางอย่างเป็นข้อมูลสำคัญที่เปิดโอกาสให้เข้าไปตรวจสอบนักการเมืองที่พวกเขาเลือกมากับมือได้
และเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือวัด ‘ความโปร่งใส’ ของบรรดานักการเมือง ‘หัวใส’ ทั้งหลายด้วย