เปิดเผยให้โปร่งใส..จริงใจหรือไก่กา
"...ถึงเวลาที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องผลักดันกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะฉบับปฏิรูปออกมาบังคับใช้ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 เพื่อความชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง โปร่งใส เป็นที่สบายใจของทุกฝ่าย ตามหลัก “เปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”..."
เหมือนดีแต่พูด เพราะทั้งแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ ป.ป.ช. ต่างก็เขียนไว้ว่า ถ้าจะหยุดยั้งคอร์รัปชัน ต้องแก้ไขเรื่องความโปร่งใสของราชการเสียก่อน เพราะทั้งนักการเมือง ข้าราชการน้อยใหญ่ ทหารตำรวจ มักหาข้ออ้างสารพัดที่จะปกปิดข้อมูลว่าพวกตนได้ “ใช้งบประมาณ ใช้อำนาจ ใช้ดุลยพินิจ ใช้ทรัพยากรของรัฐ” ไปอย่างไร แต่มีใครรู้บ้างว่า ผ่านไปหลายปีกฎหมาย “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ไปหลงทางอยู่ที่ไหน
ปัจจุบันมี “ร่าง” กฎหมายเรื่องนี้อยู่ 3 ฉบับ ที่ต่างฝ่ายต่างเชียร์ว่าของตนเหมาะสมที่สุด ประกอบด้วย
ก. ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะฯ จัดทำโดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 (http://bit.ly/2PRrg4A)
ข. ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ ฉบับแก้ไข จัดทำโดย นักวิชาการและ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สำนักนายกฯ (http://bit.ly/39vuBxQ)
ค. ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ ฉบับแก้ไข จัดทำโดยบุคคลหลายคณะของรัฐบาลและกฤษฎีกา (http://bit.ly/38rFJL8)
เท่าที่ทราบ คนของรัฐบาลให้ความสนใจฉบับหลังมากที่สุด แม้จะถูกวิจารณ์ว่า “บ้าหอบฟาง” เพราะเอาหลายเรื่องมาใส่ไว้จนเสียหลักการเดิม
เรามักได้ยินเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนพูดอย่างมั่นใจว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว เพราะแทบทุกอย่างถูกกำหนดให้ต้องเปิดเผย เพียงแต่ต้องแก้ไขให้ทันยุคสมัยและโลกเทคโนโลยีเท่านั้น
แต่เมื่อถามว่า ถ้าดีจริงแล้วทำไมจึงมีเรื่องร้องเรียนทั้งจากสื่อมวลชน ประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบ จำนวนมากในแต่ละวัน คำตอบคือ ถึงแม้ไม่โกง แต่เจ้าหน้าที่ทุกระดับต่างเคยชินที่จะปกปิดเอกสารและข้อมูลการทำงานของตน อย่างน้อยก็ปลอดภัยไม่โดนเจ้านายเล่นงาน ไม่โดนชาวบ้านซักไซ้ให้มากเรื่องหรือขุดคุ้ยฟ้องร้องในภายหลัง
หากนักข่าวหรือชาวบ้านที่เห็นสิ่งไม่ชอบมาพากลก็ต้องไปร้องเรียนคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ให้มีคำวินิจฉัยออกมา เขาถึงจะยอมเปิดเผย แต่บางเรื่องแม้มีคำวินิจฉัยแล้วก็ยังต้องไปฟ้องศาลบังคับเอาอีกที แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ขั้นตอนการต่อสู้ก็ยาวนานเป็นเดือนเป็นปี คนขอข้อมูลต้องอดทน เสียเงิน เสียเวลา เสียมันสมองไปมาก ใครท้อก็เลิกราไป บ่อยครั้งกว่าจะได้ข้อมูลมาก็สายเกินไปหรือได้แค่เพียงบางส่วน
เหตุนี้กฎหมายเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 จึงกลายเป็นเกราะกำบังของคนโกงและคนมักง่ายไปโดยปริยาย เรื่องนี้ต้องทำให้สำเร็จตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยมีทางออกที่เป็นไปได้ดังนี้
ก. ขอให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนว่า มีจุดยืนในการแก้ปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไร แล้วตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำร่างกฎหมายที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน
ข. หากรัฐบาลไม่มีเวลา ก็ขอให้สภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ
ค. พึงเข้าใจว่า กฎหมายและมาตรการใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับการ “วัฒนธรรมการทำงานอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา” ซึ่งหากทำให้เป็นปรกติวิสัยแล้ว จะช่วยให้คนทำงานอย่างมีวินัย จากนั้นความรับผิดชอบและความภาคภูมิใจในหน้าที่ก็จะตามมา
ถึงเวลาที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องผลักดันกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะฉบับปฏิรูปออกมาบังคับใช้ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 เพื่อความชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง โปร่งใส เป็นที่สบายใจของทุกฝ่าย ตามหลัก “เปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองและช่วยลดคอร์รัปชันลงได้เป็นอย่างดี