สตง.สอบโครงการเลี้ยงโคเนื้อ จว.แพร่ 10 ล. พบเกษตรกรขาดคุณสมบัติโผล่ร่วมเพียบ
สตง. สอบโครงการส่งเสริมเลี้ยงโคเนื้อ จว.แพร่ วงเงิน 10 ล้าน พบปัญหาคัดเลือกเกษตรกรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข คุณสมบัติ เพียบ 'ไม่มีอาชีพ - ขาดแปลงหญ้าโรงเรือน' เสี่ยงเสียโอกาสผสมพันธุ์แม่โค แถมหลายรายเลิกเลี้ยงเอาไปเปลี่ยนมือกันเองไม่ทำตามขั้นตอน จัดซื้อครุภัณฑ์การเกษตรหลักล้านให้ไม่เอาไปใช้ประโยชน์ จี้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบแก้ไขปัญหาด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบโครงการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ของกลุ่มอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ สำนักงานจังหวัดแพร่ กระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 10 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าและปริมาณโคเข้าสู่ระบบการขุนเพื่อให้ได้เนื้อโคคุณภาพจัดซื้อแม่โคพันธ์ดีให้เกษตรกรยืมไปเลี้ยง รวมไปถึงการยกระดับการบริหารจัดการตลาดสินค้าโคเนื้อ และเพิ่มศักยภาพการผลิตเนื้อโคคุณภาพให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบปัญหาการคัดเลือกเกษตรกรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติของเกษตรกรที่กำหนด
โดยจังหวัดแพร่ ได้จัดซื้อโคเพศเมียพันธุ์ผสมอเมริกันบราห์มัน จำนวน 200 ตัว เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรยืมแม่พันธุ์โคเนื้อ โดยส่งมอบและจัดทำเอกสารสัญญายืมแม่พันธุ์โค ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 161 ราย จากการสัมภาษณ์เกษตรกรทุกราย พบว่า เกษตรกรไม่ได้มีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อหรือมีประสบการณ์ในการเลี้ยงโคเนื้อมาก่อน จำนวน 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.88 เกษตรกรไม่มีแปลงหญ้า จำนวน 42 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.09 เกษตรกรไม่มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ จำนวน 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.70 ในจำนวนทั้ง 14 รายนี้ ไม่มีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อหรือไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงโคเนื้อมาก่อน ไม่มีแปลงหญ้า และไม่มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ จำนวน 9 ราย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทำให้เกษตรกรขาดความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงดูและสังเกตพฤติกรรมแม่โคเวลาเป็นสัด อาจทำให้เสียโอกาสในการผสมพันธุ์แม่โคเพื่อให้ได้ลูกตามผลผลิตที่กำหนดไว้ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพหลักได้ สาเหตุเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ตระหนักถึงความสำคัญกับคัดเลือกเกษตรกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และคุณสมบัติของเกษตรกรที่กำหนด
นอกจากนี้ สตง. ยังตรวจสอบพบว่า มีเกษตรกรที่มีรายชื่อตามเอกสารรายชื่อตามสัญญายืมแม่พันธุ์โคเนื้อของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่แต่ไม่ได้เลี้ยงโคอยู่จริง จำนวน 25ราย นอกเหนือจากนี้ยังพบว่า มีเกษตรกรจำนวน 2 ราย ได้เสียชีวิต ซึ่งแม่พันธุ์โคเนื้อที่อยู่ในการดูแลของเกษตรกรรายใหม่ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยกเลิกสัญญากับเกษตรกรรายเดิม ไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกเกษตรรายใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญายืมแม่พันธุ์โคเนื้อให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
สำหรับกิจกรรมการสนับสนุนปัจจัยการผลิตนั้น สตง.ตรวจสอบพบว่า จังหวัดแพร่ ได้จัดซื้อครุภัณฑ์การเกษตร จำนวน 2,280,000.00 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนแก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 กลุ่ม ให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกับการเลี้ยงแม่พันธุ์โคเนื้อที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของกลุ่มต่อไป อย่างไรก็ดี กลุ่มโคขุนแบบปราณีต ที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องอัดฟางพ่วงท้ายแทรกเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง ปัจจุบันได้เลิกดำเนินการแล้ว สมาชิกกลุ่ม จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มใหม่ ชื่อว่ากลุ่มนวัตกรรมโคเนื้อคุณภาพ โดยประธานกลุ่มโคขุนแบบประณีต ได้ส่งมอบเครื่องอัดฟางพ่วงท้ายแทรกเตอร์ให้อยู่ในความดูแลของประธานกลุ่มนวัตกรรมโคเนื้อคุณภาพ โดยมิได้แจ้งให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด สาเหตุเนื่องจากประธานกลุ่มโคขุนแบบปราณีตไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการยืมวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ไม่อนุญาตให้กลุ่มเกษตรกรผู้ยืมนำวัสดุครุภัณฑ์ที่ยืม ออกไปให้บุคคลอื่นใช้สอยโดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่
ขณะที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผู้เลี้ยงโคบ้านทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง ไม่ใช้ประโยชน์จากเครื่องบดอาหารสัตว์แต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีผลผลิตทางการเกษตรเพื่อใช้ในการบดอาหารสัตว์และสถานที่ตั้งของกลุ่มเกษตรกร ยังไม่มีระบบไฟฟ้าซึ่งเครื่องบดอาหารสัตว์ต้องใช้กำลังไฟฟ้าในการหมุนมอเตอร์ซึ่งเป็นกำลังหลักในการบดอาหารสัตว์ สาเหตุเนื่องมากจากการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่ขาดความพร้อมในด้านการบริหารจัดการ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อได้
เบื้องต้น สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เข้าไปตรวจสอบควบคุม หรือกำกับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นอีก ส่วนกรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 25 ราย ไม่ใช่เกษตรกรรายเดียวกับเกษตรกรที่มีรายชื่อตามสัญญายืมแม่พันธุ์โคของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ติดตามตรวจสอบตามระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญายืมแม่พันธุ์โคที่กำหนดไว้หากเกษตรกรไม่สามารถดำเนินการได้ให้เปลี่ยนตัวเกษตรกรรายใหม่ที่มีความพร้อมและมีความต้องการที่จะเลี้ยงแม่พันธุ์โคทดแทน ส่วนกลุ่มเกษตรกรไม่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ เครื่องใช้ ในการสนับสนุนการเลี้ยงโคเนื้อตามโครงการ ให้พิจารณาหากลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความพร้อมและมีความต้องการใช้ประโยชน์เครื่องมือ เครื่องใช้ดังกล่าวทดแทนต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/