ฐากร : 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สะเทือนโครงสร้างการเมือง
"...แม้แต่ภาคการเมืองยังต้องมีการปรับโครงสร้างหลัง 5G เกิดขึ้น เช่น การหาเสียงในอดีต จากเดิมที่มีสิ่งที่เรียกว่า 'คืนหมาหอน เคาะประตูบ้าน' แต่เมื่อมี 4G 5G แล้ว อย่าหาเสียงเหมือนเดิมเลย แพ้การเลือกตั้งแน่ เพราะระบบโลกยุคใหม่ คนติดต่อกันผ่านไลน์ เฟสบุ๊ค ไม่จำเป็นต้องเคาะประตูแล้ว จะโอนเงินเข้าเบอร์มือถือไหนก็ได้..."
หมายเหตุ : ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปาฐกถาพิเศษ ‘พลัง 5G ในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563
หลายคนอาจมองว่าวันนี้ประเทศไทยสิ้นหวัง หมดหวัง แต่ขอเรียนว่าประเทศไทยยังไม่สิ้นหวัง ยังไม่หมดหวัง และยังมีปลายแสงสว่างที่เรียกว่า ‘แสงสว่างปลายอุโมงค์’ ซึ่งจ้าจรัสอยู่ที่ซอยสายสม เพราะประเทศไทยกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนพลัง 5G ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“ประเทศโน้น ประเทศนี้ บอกว่าจะเดินหน้า 5G ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ซึ่งในปี 2561 เราประกาศว่า ไทยต้องขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นเป็นประเทศแรกในอาเซียนให้ได้ วันนี้เราเป็นประเทศแรกจริงๆ โดย AIS ประกาศให้บริการเชิงธุรกิจแล้ว ส่วนสิงคโปร์เดิมประกาศว่าจะประมูล แต่โชคไม่ดีที่เจอโควิด-19 จึงต้องเลื่อนออกไป เช่นเดียวกันมาเลเซียและเวียดนาม”
ทั้งนี้ มั่นใจว่าในเดือนพ.ค.นี้ ประเทศไทยจะมีการเปิดให้บริการ 5G เต็มรูปแบบ ประชาชนคนไทยจะได้ใช้ 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และขอให้คนไทยมีกำลังใจที่จะต่อสู้ปัญหาอุปสรรค เพราะแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหลายๆประเทศ Down ลง
แต่จะเห็นว่าการใช้งาน OTT (Over-the-top : บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ และยูทูบ ในเดือนก.พ.2563 เทียบกันเดือนม.ค.2563 พบว่าการใช้งานแตกต่างกันเป็น 100% เพราะโควิด-19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้คนมีการใช้งานทางด้านโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น
“มีการช้อปปิ้งบนออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช้อปปี้เพิ่มขึ้น 400% ในท่ามกลางวิกฤติต่างๆ จะเห็นว่ามีการใช้งานทางโทรคมนาคมมากขึ้น ดังนั้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะจมปลักอยู่ในภาวะ ‘เศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อน’ แต่มีภาคส่วนอื่นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งหลายคนอาจมองไม่เห็น”
วันนี้ประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าในสิ่งที่เรียกว่า ‘พลัง 5G จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร’
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น หากดูข้อมูลย้อนหลังในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการประมูล 3G บนคลื่น 2100 MHz ในปี 2555 มีการประมูล 4G ที่เกิดขึ้นในปี 2558-60 ซึ่งขณะนั้นเราเรียกว่าการประมูล ‘ข้ามคืนข้ามวัน’ และมีการประมูลคลื่นอีกในปี 2561-62 จะพบว่า 7 ปีที่ผ่านมา (2555-62) การประมูลคลื่นได้สร้างรายได้เข้ารัฐแล้ว 456,276 ล้านบาท
ขณะที่การประมูลคลื่น 700 MHz 2600 MHz และ 26GHz เพื่อให้บริการ 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2563 ผลการประมูลครั้งนี้ รัฐมีรายได้เกิดขึ้น 107,557 ล้านบาท ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันที่ 16 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา รัฐมีรายได้เกิดขึ้น 563,834 ล้านบาท
นอกจากการประมูลคลื่นจะทำให้รัฐมีรายได้แล้ว ยังส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานข่ายด้านโทรคมนาคม และการซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2555 มูลค่าตลาดโทรคมนาคมอยู่ที่ 425,950 ล้านบาท แต่ปี 2562 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 629,673 ล้านบาท
“ในปี 2565 เราคาดว่ามูลค่าตลาดโทรคมนาคมจะเพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาท ส่วนมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในปี 2563 หลังจากเปิด 5G คาดว่าจะอยู่ที่ 4.36 ล้านล้านบาท จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ปี 2564 อยู่ที่ 4.99 ล้านล้านบาท เพิ่ม 31% และปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51%”
อย่างไรก็ดี ยิ่งมูลค่าการซื้อขายบนตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าการเดินทางไปช้อปปิ้งสินค้าในร้านค้าต่างๆจะต้องลดลง เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ หากใครไม่ปรับปรุงตัวเอง ไม่ปรับปรุงธุรกิจ ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนหรือธุรกิจอาจล้มหายตายจากไปก็ได้
“เราเคยเตือนว่าเมื่อเปิด 3G จะเปลี่ยนประเทศอย่างไร เมื่อเปิด 4G จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่หลายคนเปลี่ยนไม่ทัน ทำให้ธุรกิจล้มหายตายจากไป วันนี้มีธุรกิจที่เปิดบริการขึ้นใหม่หลังมี 4G แต่เรากำลังจะเปิดให้บริการ 5G ซึ่งเร็วกว่า 4G กว่า 20-30 เท่า ถ้าเปิดให้บริการจริงจะเร็วกว่า 100 เท่า ก็ขอให้คิดว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างในโลกนี้”
อีกอย่างอยากฝากเตือนไปยังทีวีดิจิทัลด้วยว่า ต้องปรับตัวให้เร็ว เพราะแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วทีวีดิจิทัลจะเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานของประเทศ ซึ่งประชาชนขาดไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไร ในเมื่อโลกมีการหลอมรวมกันอย่างนี้ โดยต้องมีการสื่อสารในทุกช่องทาง ไม่ใช่แค่ผ่านทีวีดิจิทัลแล้ว
ส่วนที่บอกว่า 5G จะเป็น ‘แสงสว่างปลายอุโมงค์’ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทุกช่องทางดับลงไปแล้ว แต่อยากเรียนว่าในโลกโทรคมนาไม่มีวันดับ และเราจะเดินหน้าปรับเปลี่ยน และเร่งหลายเรื่องให้ทันประเทศอื่น
“วันนี้เราอยู่แนวหน้าของอาเซียนแล้ว เราเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนในการขับเคลื่อนโทรคมนาคม ซึ่งในปี 2563 หลายคนบอกว่าจีดีพีจะต่ำกว่า 2% และตอนนี้บอกว่าต่ำกว่า 1% แล้ว เพราะทุกเครื่องยนต์เริ่มดับแล้ว แต่อยากจะบอกว่าเครื่องยนต์ด้านโทรคมนาคมจะยังเดินหน้าต่อไป”
โดยในปี 2563 จะมีการลงทุนด้านโทรคมนาคม 112,215 ล้านบาท จะมีการจ้างแรงงาน 60,000 ล้านบาท และการต่อยอดการใช้งาน 5G อีก 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมในปี 2563 อยู่ที่ 178,361 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.03% ของจีดีพี ส่วนปี 2564 จะมีการขับเคลื่อนการลงทุน 337,529 ล้านบาท และปี 2565 อีก 490,687 ล้านบาท
“ปีนี้ผมคิดว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะมีการใช้งาน 5G อย่างเต็มรูปแบบผ่านโทรศัพท์มือถือได้เกือบทุกเครื่องแล้ว ซึ่งในปี 2563-64 ราคาโทรศัพท์มือถือ 5G อาจจะแพงอยู่ แต่เมื่อเปิดให้บริการ 5G เต็มรูปแบบแล้ว สมาร์ทโฟนที่ใช้งานกับ 5G จะราคาถูกลง และจะมีการใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้น”
ขณะที่ภาคการผลิตจะได้ประโยชน์จาก 5G เพราะจะมีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนแรงงานคน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและมูลค่าเพิ่มในการการผลิต อีกทั้งโลกในอนาคตเราจะมี AI ที่รู้ว่าคนต้องการสินค้าอะไรบ้าง และทำให้การผลิตสินค้าตรงกับความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนลดลงและขายสินค้าได้ในราคาถูกลง
“การประมูลคลื่นที่ผ่านมา เราบังคับให้ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ EEC ไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 4 ปี เพราะถ้าไม่บังคับ เขาก็จะไปลงทุนในพื้นที่ที่คิดว่าคุ้ม เช่น ย่านราชประสงค์บ้าง พื้นที่เมืองต่างๆ”
ทั้งนี้ ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดการใช้งานระบบ 5G และเมื่อผู้รับใบอนุญาตลงทุน 5G ในพื้นที่ EEC กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องประสานงานกับโรงงานในพื้นที่ EEC เพื่อให้มีการลงทุนระบบโรโบติกส์ต่างๆให้ทันกับการลงทุนของผู้รับใบอนุญาต
“ผมไปประชุมที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เลขาธิการ ITU บอกว่า ขอให้ไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้มากหน่อย เพราะโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น ถ้าถนนหนทางอาจไม่ดี แต่ถ้ามี 5G อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ก็สามารถติดต่อสื่อสาร ทำธุรกิจได้แน่นอน”
ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่านั้น ภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคการค้า ภาคการเงิน ภาคบริการสาธารณะ ภาคการศึกษา และภาคการแพทย์ จะได้ประโยชน์จาก 5G เช่นกัน และหลายภาคธุรกิจต้องปรับตัว เช่น ภาคการเงิน เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ จะอยู่บนโทรศัพท์มือถือเกือบทั้งหมด ซึ่งแบงก์รู้อยู่แล้ว
“ตอนที่เป็น 4G เรายังไม่รู้ว่าอาชีพ LINE MAN คืออะไร อาชีพ แกร็บ คืออะไร ตอนนั้นไม่มีใครรู้ แต่วันนี้บริการเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา บางคนซื้อกาแฟยังสั่งผ่านแกร็บเลย ดังนั้น ต่อไปนี้เราจะเห็นว่ามีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้น หลังจากมีระบบ 5G
แม้แต่ภาคการเมืองยังต้องมีการปรับโครงสร้างหลัง 5G เกิดขึ้น เช่น การหาเสียงในอดีต จากเดิมที่มีสิ่งที่เรียกว่า 'คืนหมาหอน เคาะประตูบ้าน' แต่เมื่อมี 4G 5G แล้ว อย่าหาเสียงเหมือนเดิมเลย แพ้การเลือกตั้งแน่ เพราะระบบโลกยุคใหม่ คนติดต่อกันผ่านไลน์ เฟสบุ๊ค ไม่จำเป็นต้องเคาะประตูแล้ว จะโอนเงินเข้าเบอร์มือถือไหนก็ได้”
ที่สำคัญการลงประชามติ และการลงคะแนนเลือกตั้งในอนาคต เมื่อมี 5G เกิดขึ้นแล้ว เราอาจได้เห็นการลงคะแนนผ่านโทรศัพท์มือถือก็ได้ เช่น เมื่อเข้าคูหาเลือกตั้งแล้วก็ใช้มือถือถ่ายภาพตนเองก่อน เพื่อยืนยันมาผู้ลงคะแนนว่าตรงกับบัตรประชาชนหรือไม่ จากนั้นก็ลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อปิดหีบแล้ว 5-10 นาทีก็รู้ว่าใครชนะเลือกตั้งแล้ว
“บ้านเมืองเราในอนาคตข้างหน้า โครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนแน่นอน เราจะใช้ระบบอนาล็อกแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะ 5G มันขับเคลื่อนไปแล้ว ประเทศไทยต้องเปลี่ยน โดยมีกลไกของเทคโนโลยีเป็นตัวบังคับ และระบบ 5G ยังเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำ และคนไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เพราะอยู่ที่บ้านก็ทำงานได้”
นอกจากนี้ ระบบ 5G จะสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนในสังคมชนบท สร้างสตาร์ทอัพในระดับชุมชน และก่อให้เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/