‘บิ๊กตู่’ ไฟเขียวให้เงินคนละ 2,000 บาท สู้ ‘โควิด-19’ ยันไม่แจกเรื่อยเปื่อย
ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการผลกระทบ ‘โควิด-19’ ลุยแจกเงิน ‘ผู้มีรายได้น้อย-เกษตรกร-ผู้ประกอบอาชีพอิสระ’ หัวละ 2,000 บาทในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ พร้อมไฟเขียวมาตรการ ‘การเงิน-การคลัง’ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการแจกเงินให้คนละ 1,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน หรือคนละ 2,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย.-พ.ค.2562 ซึ่งจะมีการเปิดลงทะเบียนใหม่ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือมากกว่า 10 ล้านคน
“อย่าเอาเรื่องเงินให้ความช่วยเหลือชั่วคราวมาโจมตีกันทุกวันไม่ได้ รัฐบาลไม่ได้แจกเงินเรื่อยเปื่อย และไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ดีแต่แจกเงิน แต่ตรงนี้ต้องเห็นใจผู้มีรายได้น้อยด้วย ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือในต่างประเทศเขาก็ทำกัน และมีหลายประเด็นที่รัฐบาลจะทำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี ทั้งมาตรการภาษี มาตรการการเงินและการคลัง วันนี้ต้องแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร โดยมาตรการที่ออกมานี้จะทำแค่ 2 เดือน ถ้ามีปัญหาอีกค่อยว่ากันใหม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี โดยจะเสนอครม.เห็นชอบวันที่ 10 ก.พ.นี้ ส่วนการแจกเงิน 2,000 บาท ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระนั้น จะทยอยจ่ายผ่านระบบอีเพย์เมนต์ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนแน่ชัดว่ามีเท่าใด เพราะอยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์ว่าใครบ้างที่จะได้สิทธิ์
สำหรับมาตรการด้านการเงิน ได้แก่ 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%
2.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ 3.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) และเป็นเอ็นพีแอล โดยการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10%
4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน
ส่วนมาตรการด้านภาษี ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟท์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้
3.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ้างงานลูกจ้างต่อโดยไม่ให้ตกงาน ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย. - 31 ก.ค. 2563 และ4.ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ
ขณะที่มาตรการอื่นๆ ได้แก่ 1.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้กับภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2.บรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด 3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4.เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น
และ5.มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื อหน่วยลงทุนกองทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ จากเดิมอยู่ที่ 2 แสนบาท โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายใน มิ.ย. 2563 และต้องซื้อกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายสูงสุด แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผลกระทบกระจายออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจทุกด้าน อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมึความจำเป็นรัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
นายสมคิด ยืนยันว่า รัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง และมาตรการที่ออกมานั้นก็ดำเนินการเพียง 2 เดือนเท่านั้น
อ่านประกอบ :
อัดฉีดเงินสู้ 'โควิด' 7 เดือน ‘รบ.บิ๊กตู่’ แจก 1.24 แสนล้าน ยอด 6 ปี หว่าน 3.51 แสนล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/