15 คำถาม-คำตอบจากองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับโควิด-19
"...การรับจดหมายหรือกล่องพัสดุที่ส่งมาจากประเทศจีนปลอดภัยหรือไม่? ปลอดภัย คนที่รับสิ่งของทางไปรษณีย์จากประเทศจีนไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมา เราพบว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าไม่สามารถมีชีวิตได้นานเมื่ออยู่บนสิ่งของเช่น จดหมายหรือกล่องพัสดุ..."
เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิมีประสิทธิภาพอย่างไร ในการระบุตัวผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19?
เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิสามารถระบุตัวผู้ที่เป็นไข้จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ (คือ มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ) อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจวัดนี้ไม่สามารถระบุตัวผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการไข้ได้ ซึ่งเชื้อไวรัสอาจใช้เวลาประมาณ 2 – 10 วัน ในการทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยและมีไข้
หลอดไฟยูวีสำหรับฆ่าเชื้อ สามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่?
ไม่ควรใช้หลอดไฟยูวีในการฆ่าเชื้อโรคที่มือ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะรังสียูวีสามารถทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
การฉีดพ่นแอลกอฮอล์ หรือคลอรีนใส่ตามตัว สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ไหม?
ไม่ได้ การฉีดพ่นแอลกอฮอล์ หรือคลอรีนใส่ตามตัวไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายไปแล้วได้
การฉีดพ่นสารเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายต่อเสื้อผ้า และเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา หรือปากได้ ทั้งแอลกอฮอล์และคลอรีนสามารถใช้ฆ่าเชื้อบนพื้นผิววัสดุต่าง ๆ ได้ แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ
เครื่องเป่ามือสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่?
ไม่ได้ เครื่องเป่ามือไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
เราควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อล้างมือจนสะอาดแล้วจึงควรทำให้แห้งด้วยเครื่องเป่ามือ หรือเช็ดด้วยกระดาษเช็ดมือ
ควันหรือแก๊สจากและประทัด ช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ไหม?
การสูดควันหรือแก๊สจากพลุหรือประทัดเป็นอันตราย และไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
ควันเหล่านี้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นพิษอ่อน ๆ ต่อร่างกาย และบางคนอาจมีอาการแพ้สารนี้
โดยซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก คอ และปอด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดหอบหืด
นอกจากนี้ การพยายามเข้าใกล้พลุเพื่อที่จะสูดควัน พลุและประทัดอาจไหม้ตัวเราได้
การรับจดหมายหรือกล่องพัสดุที่ส่งมาจากประเทศจีนปลอดภัยหรือไม่?
ปลอดภัย คนที่รับสิ่งของทางไปรษณีย์จากประเทศจีนไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมา เราพบว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าไม่สามารถมีชีวิตได้นานเมื่ออยู่บนสิ่งของเช่น จดหมายหรือกล่องพัสดุ
สัตว์เลี้ยงที่บ้านสามารถแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมวสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม เราควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง การล้างมือให้สะอาดจะป้องกันเราจากเชื้อแบคทีเรียเช่น อี โคไล และซัลโมเนลล่าซึ่งคนจะได้รับผ่านสัตว์เลี้ยงได้
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบสามารถป้องกันเราจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
ไม่ได้ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบเช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือฮิป ไม่สามารถป้องกันเราจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ เชื้อไวรัสนี้ยังใหม่และแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมอยู่มาก ซึ่งจะต้องใช้วัคซีนที่พัฒนาสำหรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ปี 2019นี้โดยเฉพาะ ในขณะนี้นักวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก
ถึงแม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ เราควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจเหล่านี้เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
ไม่ได้ ยังไม่มีหลักฐานว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้
มีหลักฐานจำนวนหนึ่งบ่งชี้ว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะทำให้เราหายจากหวัดธรรมดาได้เร็ว อย่างไรก็ตามการล้างจมูกไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ
น้ำยาบ้วนปากป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
ไม่ได้ ยังไม่มีหลักฐานว่าน้ำยาบ้วนปากจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้
น้ำยาบ้วนปากบางยี่ห้อสามารถกำจัดจุลินทรีย์บางชนิดในน้ำลายได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าน้ำยาบ้วนปากจะป้องกันเราจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้
การกินกระเทียมสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
กระเทียมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งมีคุณสมบัติบางอย่างในการต้านเชื้อจุลชีพ อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานจากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันว่าการกินกระเทียมสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้
การทาน้ำมันงาสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่ร่างกายได้หรือไม่?
ไม่ได้ น้ำมันงาไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อบางชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 บนพื้นผิวได้ เช่น น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน สารตัวทำละลาย เอทานอล 75% กรดเปอร์อะซิติก และคลอโรฟอร์ม
อย่างไรก็ตามสารเคมีและน้ำยาฆ่าเชื้อข้างต้นแทบไม่มีผลต่อเชื้อไวรัสเลยหากเราน้ำมาทาที่ผิวหนังหรือแม้แต่นำมาสูดดมใกล้ๆ ในทางตรงกันข้ามการกระทำนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ส่งผลต่อคนสูงอายุเท่านั้น หรือว่าคนในวัยอื่นก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคด้วยเช่นกัน?
ทุกคนไม่ว่าจะอยูในวัยใดก็สามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ทั้งนั้น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นหอบหืด เบาหวาน โรคหัวใจ จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหากได้รับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
องค์การอนามัยโลกแนะนำประชาชนทุกช่วงวัยให้ระวัง ป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส เช่น การทำตามหลักสุขอนามัยที่ดีเช่นการล้างมือบ่อยๆและการปิดปากขณะไอหรือจาม
ยาปฏิชีวนะสามารถป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่และรักษาอาการเจ็บป่วยได้หรือไม่?
ไม่ได้ ยาปฏิชีวนะไม่สามารถใช้ป้องกันรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ ยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงนำยาปฏิชีวนะมาใช้ในการป้องกันหรือรักษาไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากเราเข้ารับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในโรงพยาบาล เราอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม
มียาตัวไหนสามารถป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่?
ในปัจจุบันยังไม่มียาป้องกันและรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสควรจะได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมเพื่อทุเลาและรักษาอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรได้รับการดูแลขั้นสูงสุด กำลังมีการศึกษาวิธีการรักษาโรคนี้อย่างแข็งขัน ซึ่งยังจะต้องผ่านการทดสอบและทดลองทางคลินิกก่อนจะนำมาใช้จริง ทางองค์การอนามัยโลกเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการรักษาร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
ที่มา : https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/myth-busters