‘คมนาคม’ ดันแผนลงทุน ‘ระบบราง’ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 128 โครงการ
‘คมนาคม’ เวิร์คช้อปกลั่นกรองแผนลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชง ‘ศักดิ์สยาม’ ดันแผนลงทุนระบบราง 128 โครงการ พร้อมตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เหลือน้อยกว่า 12% ภายในปี 2565
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. กระทรวงคมนาคมจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงคมนาคม โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนา ว่า เป้าหมายระยะ 5 ปีแรก (2561-65) ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-80) ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2565 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศไทยจะต้องน้อยกว่า 12% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 13.4% และเมื่อถึงปี 2580 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีจะต้องน้อยกว่า 9%
ทั้งนี้ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั่วประเทศ ซึ่งจะเน้นไปที่การลงทุนระบบราง เช่น รถไฟทางคู่ รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 4% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 1.4%
และ2.การลงทุนระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองหลัก 6 แห่งในภูมิภาค ได้แก่ อุดรธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก ภูเก็ต นครราชสีมา และ ขอนแก่น โดยตั้งเป้าให้ประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑลใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มเป็น 30% ในปี 2565 จากปัจจุบัน 17.9% ส่วนในหัวเมืองหลักตั้งเป้าเพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็น 5% เป็นต้น
นายชัยวัฒน์ ยังระบุว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆแต่ละโครงการจะต้องใช้หลายหมื่นหลายแสนล้านบาท ทำให้กระทรวงคมนาคมจะต้องจัดลำดับความสำคัญโครงการ และเน้นลงทุนโครงการที่คุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกัน เพื่อลดภาระการลงทุนของรัฐบาล กระทรวงฯมีแนวทางหาแหล่งเงินลงทุนมาจาก 2 แหล่ง คือ การเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF)
ด้าน ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง โดยเฉพาะการลงทุนระบบราง และลงทุนทางน้ำ จะไม่ทำให้เกิดการลดต้นทุนเลย หากภาครัฐไม่มีมาตรการเชิงบังคับหรือมีมาตรการจูงใจ ให้เอกชนปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากปัจจุบันที่เน้นการขนส่งทางถนน มาเป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ
“ในยุโรปเขามีมาตรการจูงใจให้เอกชนเปลี่ยนรูปแบบมาขนส่งสินค้าทางราง และทางน้ำ เช่น การใช้มาตรการเชิงบังคับ คือ การให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรมาบอกว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าทางรางบ้าง จากนั้นก็กระตุ้นให้เอกชนขนส่งสินค้านั้นๆทางราง แต่ถ้าไม่ทำก็ใช้มาตรการทางภาษี อีกทางหนึ่งก็มีการใช้มาตรการจูงใจ เช่น การให้นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษี หรือการให้คาร์บอนเครดิต เป็นต้น” ผศ.ดร.พงษ์ชัยกล่าว
ผศ.ดร.พงษ์ชัย ยังเสนอว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางในประเทศไทย ภาครัฐจำเป็นต้องเปิดให้มีเอกชนเข้าแข่งขันในการให้บริการ เช่น บางเส้นทางอาจจะต้องให้เข้ามาแข่งขันกัน 2-3 ราย เป็นต้น
ขณะที่ ดร.สุเมธ องคกิตติกุล ผู้อำนายการ ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การสนับสนุนให้ประชาชนในเมืองหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นนั้น ตนเห็นว่าการเพิ่มปริมาณรถโดยสารสาธารณะจะเป็นทางออกหนึ่ง เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเดินออกไปข้างนอก 500-600 เมตร จะถึงสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งรถเมล์จะเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้การขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.สุเมธ เสนอว่า เพื่อกระตุ้นให้คนลดใช้รถยนต์ส่วนตัว และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นนั้น นอกจากจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพและตรงเวลาแล้ว ภาครัฐอาจจำเป็นต้องใช้บางมาตรการ เช่น การเก็บภาษีที่จอดรถที่อยู่ในเขตเมืองชั้นใน หรือแม้กระทั่งการห้ามนำรถยนต์เข้าไปในบางพื้นที่ เป็นต้น รวมทั้งต้องบริการสาธารณะที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชนด้วย เช่น ทางจักรยานสาธารณะ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอโครงการลงทุนเป้าหมาย หรือ Key Success Factors (KSFs) ซึ่งมีทั้งโคงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ โครงการที่เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณา และโครงการที่จะผลักดันภายในปี 2565 ซึ่งหากนับเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคต่างๆ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 128 โครงการ
เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่ 14 เส้นทาง เช่น สายเด่นชัย-เชียงใหม่ , สายขอนแก่น-เชียงราย และสายชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น การศึกษาความเหมาะสมรถไฟทางสายใหม่และรถไฟทางคู่มากกว่า 10 เส้นทาง เช่น สายกาญจบุรี-สุพรรณบุรี-บ้านภาชี ,สายกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ,สายชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด ,สายมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ และสายทับปุด-กระบี่ เป็นต้น ซึ่งรวมถึงการจัดหาหัวรถจักรดีเซล และดีเซลไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพและหัวเมืองหลัก เช่น รถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง รถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และจ.พิษณุโลก เป็นต้น โครงการจัดหารถโดยสารสารใหม่ 3,000 คัน
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สนข. ระบุว่า หลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ สนข.จะเสนอรายชื่อโครงการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณา ก่อนจะเสนอโครงการทั้งหมดไปให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ความเห็นชอบต่อไป โดยโครงการทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2565
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/