สตง.สอบโครงการประชารัฐสวัสดิการ ยุค คสช.พบจุดอ่อนระบบคัดกรอง คนมีฐานะได้รับสิทธิด้วย
สตง.แพร่ผลสอบโครงการประชารัฐสวัสดิการ รบ.บิ๊กตู่ ยุค คสช. ชี้แก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ผล พบจุดอ่อนระบบคัดกรองผู้ผ่านคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เร่งรีบดำเนินการ ทำให้เกิดช่องว่าง คนมีฐานะได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการด้วย ส่วนผู้มีรายได้น้อยชื่อตกหล่น กรณีร้านธงฟ้าเจอตั้งราคาของเท่าท้องตลาด ไม่นำสินค้าตามรายการที่กำหนดมาขาย จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพรรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยการขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบปัญหาการดำเนินงานเรื่องการตรวจสอบหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังมีจุดอ่อนหรือ ช่องว่างที่ทำให้ข้อมูลของผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดช่องว่างที่คนมีฐานะพอจะช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ได้เป็นผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงสามารถเข้ารับสิทธิตามโครงการได้ และยังมีกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงบางส่วนยังตกหล่นไม่ได้รับสิทธิการลงทะเบียนหรือไม่ได้เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามโครงการ ขณะที่การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เช่นกัน
สตง. ระบุว่า ในฐานข้อมูลในระบบการจัดสวัสดิการสังคมของรัฐ (ระบบ E-Social Welfare) มีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มี คุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือการบันทึกข้อมูลอาจผิดพลาด ส่งผลต่อฐานข้อมูลที่ขาดความ น่าเชื่อถือ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารนโยบายได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับ ทรัพย์สินทางการเงินหรือการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ข้อมูล เกี่ยวกับสถานะส่วนบุคคลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน ข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่จัดเก็บตามโครงการโดยไม่มี การเชื่อมโยงเพื่อสอบทานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือคนยากจนหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และข้อมูลที่จัดเก็บตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นปัจจุบันเนื่องจากเป็นข้อมูลที่ จัดเก็บของปี พ.ศ. 2559
สตง. ยังตรวจสอบพบว่า ข้อมูลการรับลงทะเบียนที่บันทึกเข้าสู่ระบบ ไม่มีการสอบทาน ตรวจสอบ รับรอง ความถูกต้อง เนื่องจากหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่มีการสอบทานข้อมูลผู้ลงทะเบียนก่อนการส่งข้อมูล เข้าสู่ระบบเพื่อการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิตามโครงการ โดยตามโครงการไม่ได้กำหนดให้มีขั้นตอน การตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลในแบบฟอร์มการลงทะเบียน และไม่มีข้อกำหนดให้ต้องแสดง หลักฐานยืนยันข้อมูลที่แจ้งตามแบบฟอร์มและไม่มีการตรวจสอบรับรองความถูกต้องของผู้นeชุมชน นอกจากนี้ กรณีประชาชนกรอกข้อมูลการลงทะเบียนด้วยตนเองอาจให้ข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้
นอกจากนี้ การปฏิบัติงานตามโครงการเป็นไปอย่างเร่งรีบในแต่ละขั้นตอน โดยหน่วยรับ ลงทะเบียนมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเพียง 31 วัน ซึ่งระยะเวลาการดำเนินงานตามโครงการ ที่กระชั้นชิด ทำให้การประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกรอกข้อมูล การเตรียมข้อมูล หลักฐาน ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ อาจเกิดความไม่ทั่วถึงและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประชาชน กลุ่มเป้าหมายซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นผู้ยากจน ประกอบกับการสื่อสารกับผู้นำชุมชนอาจไม่ทั่วถึง ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา
สตง. ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผลการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่ ปี 2560 -2562 (ณ เดือนมิถุนายน 2562) สตง. พบว่า มีการเบิกจ่ายเงินผ่านบัตรทั้งสิ้นประมาณ 90,087.57 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.54 ของวงเงินที่รัฐจัดสรรเพื่อช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หากพิจารณาค่าใช้จ่าย ตามรายการที่ให้ความช่วยเหลือ พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีการเบิกจ่ายสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 79.65 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่โอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รองลงมาเป็นรายการ ตามมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็นร้อยละ 7.98 รายการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 4.46และมาตรการช่วยเหลือ ค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 3.61 ตามลำดับ
หากวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในรายการที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ ความช่วยเหลือ แยกตามประเภทสวัสดิการกับยอดวงเงินงบประมาณที่กำหนดแต่ละรายการ พบว่า รายการที่มีการเบิกจ่ายจริงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวงเงินที่กำหนด คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา คิดเป็นร้อยละ 1.73 ของวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับผลการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 441คน ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า รายการสวัสดิการที่มีการใช้ประโยชน์น้อยที่สุด คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา คิดเป็นร้อยละ 2.49 ลำดับถัดไปเป็นค่าใช้จ่ายวงเงินค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุ้งต้ม วงเงินค่าโดยสาร รถไฟ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า คิดเป็น ร้อยละ 3.17 4.08 4.31 และ 7.48 ของจำนวนผู้มีบัตร เหตุผลสำคัญมาจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และบริบทของคนในพื้นที่ที่ห่างไกล ตามลำดับ
สตง. ยังระบุด้วยว่าจากการตรวจสอบพบว่า การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการด้วยราคาที่ไม่แตกต่างจากราคาท้องตลาด อาจไม่สามารถควบคุมรายการที่จำเป็นต่อการครองชีพได้อย่างแท้จริง
โดยจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและสังเกตการณ์สินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐที่จำหน่าย ตามโครงการ จำนวน 121 ร้านค้า ใน 8 จังหวัด พบว่าราคาสินค้าและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จัดไว้เพื่อ จำหน่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่มีความแตกต่างจากสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปแต่อย่างใด และพบว่าร้านธงฟ้าฯ ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ไม่ได้นำสินค้าตามรายการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด มาจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 83.47 และมีเพียงร้อยละ 16.53 ที่นำสินค้าตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด มาจำหน่าย
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงการคลัง มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาการดำเนินงานำสำคัญที่ตรวจสอบพบ อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังขอให้มีการติดตามประเมินผล ทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามมาตรการพัฒนาฯ เพื่อ นำมากำหนดแผน แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage