คำถามใหม่ถึงบิ๊กตู่! 10ปี ยูเครนผลิตรถถัง Oplot แค่คันเดียว เอาของที่ไหนมาขายจีทูจีไทย?
“...ผมตกใจมากกับข้อมูลสถิติที่ปรากฏออกมา ผู้อำนวยการโรงงานบอกว่านับตั้งแต่ปี 2552 เราสามารถผลิตรถถังได้แค่ 1 คัน เท่านั้นสำหรับกองทัพยูเครน แต่เมื่อย้อนกลับไปในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานแห่งนี้กลับผิดรถถังได้ถึงปีละ 900 คัน...”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ระบุไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ประเด็นตรวจสอบ การจัดซื้อรถถัง Oplot-T จากประเทศยูเครน ระหว่างปี 2557-2559 ที่ นายศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย นำมาเปิดเผยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา
มีข้อมูลสำคัญหลายส่วน ที่ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณชน
โดยเฉพาะข้อมูล นายศรัณวุฒิ กล่าวอ้างว่าขั้นตอนการเจรจาซื้อขาย ส่อว่าจะปัญหาความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งรูปแบบขั้นตอนการจัดซื้อ ที่ไม่ใช่วิธีการดำเนินการในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี จริง เพราะมีกลุ่มเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้อง และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนวงเงินนับพันล้านบาท กระจายผ่านบริษัทเอกชนกว่า 134 แห่ง
ส่วนหลักฐานสำคัญที่ นายศรัณวุฒิ นำมาใช้เป็นข้อมูลหลักในการอภิปรายเรื่องนี้ คือ ผลสอบสวนเป็นทางการของยูเครน ซึ่งส่งมาให้ทางการไทยแล้ว แต่เรื่องนี้ ถูกเก็บเงียบไว้จากผู้มีอำนาจ
(อ่านประกอบ:ขมวดปมรถถังยูเครน! ผลสอบจีทูจีเก๊-เส้นทางเงิน134บริษัท-คำตอบ'บิ๊กตู่' ยังไม่เคลียร์?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นพบข้อมูลข่าวจาก เว็บไซต์ https://uawire.org/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข่าวต่างๆในภูมิภาคยูเครน รัสเซีย และประเทศอื่นๆทั่วโลก พบว่ามีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับโรงงานที่มีส่วนในการผลิตรถถัง T84 Oplot ของประเทศยูเครน ในช่วงวันที่ 8 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
ระบุว่า นายโวโลโดเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนต้องตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อรับรู้ว่าในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โรงงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่มีชื่อว่าโรงงานมาลีเชฟ (Malyshev Factory) สามารถผลิตรถถังเพียงแค่ 1 คันเท่านั้น ให้กับกองกำลังป้องกันประเทศยูเครน
โรงงานมาลีเชฟ (Malyshev Factory) (อ้างอิงรูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.iliketowastemytime.com/)
การประกอบรถถัง T84 Oplot ณ โรงงานมาลีเชฟ (อ้างอิงรูปภาพจากเว็บไซต์ http://thaidefense-news.blogspot.com/)
“ผมตกใจมากกับข้อมูลสถิติที่ปรากฏออกมา ผู้อำนวยการโรงงานบอกว่านับตั้งแต่ปี 2552 เราสามารถผลิตรถถังได้แค่ 1 คันเท่านั้นสำหรับกองทัพยูเครน แต่เมื่อย้อนกลับไปในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานแห่งนี้กลับผิดรถถังได้ถึงปีละ 900 คัน”นายโวโลโดเมียร์กล่าว ระหว่างการประชุมกิจการรัฐวิสาหกิจร่วมของยูเครนด้านการป้องกันประเทศ โดยมีรัฐวิสาหกิจร่วมทุน UkrOboronProm เข้าร่วมประชุมด้วย
นายโวโลโดเมียร์ ยังได้ชี้แจงถึงปัญหาของโรงงานดังกล่าวว่าปัญหาของโรงงานการผลิตนั้น คือ เรื่องการจ่ายเงินค่าแรงที่น้อยมาก สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ย่ำแย่ โดยในช่วงฤดูหนาวคนงานยังคงต้องมาทำงานในสภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
“เราเข้าใจว่าใครคือลูกค้าของเรา เข้าใจว่าต้องการอะไร และต้องการที่จะผลิตรถถังได้กี่คัน ทำไมเราถึงสามารถผลิตรถถังให้กับคนอื่นเช่นประเทศไทยได้ แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศยูเครน ทำไมเราถึงมีเครื่องบินที่ยอดเยี่ยม วิศวกรที่มีความสามารถ แต่เรากลับไม่สามารถผลิตอะไรได้เลย และไม่มีอะไรบินขึ้นได้เลย” นายโวโลโดเมียร์ระบุ
ประธานาธิบดีโวโลโดเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน (อ้างอิงรูปภาพจากเว็บไซต์ https://nypost.com/)
ทั้งนี้ โรงงานมาลีเชฟ ถูกระบุว่า เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะโรงงานที่ผลิตยานยนต์หุ้มเกราะในระดับแนวหน้าของประเทศยูเครน โดยปี 2554 เป็นต้นมา กิจการโรงงานแห่งนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ UkrOboroprom และถือเป็นกำลังหลักให้กับสายการผลิตยานยนต์หุ้มของรัฐวิสาหกิจ UkrOboroprom ซึ่งได้รวบรวมเอาบริษัทในสายงานรถหุ้มเกราะเอาไว้ภายใต้กิจการรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
โดยในช่วงปีก่อนหน้านี้ โรงงานนี้ได้เซ็นสัญญามูลค่าสูงในด้านการขนส่งยุทธปัจจัยต่างๆไปให้กับปากีสถาน จีน และไทย (เรียบเรียงจาก: https://uawire.org/ukraine-s-largest-tank-factory-produced-only-one-tank-for-armed-forces-in-ten-years)
อนึ่งก่อนหน้านี้ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ระบุในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า โครงการจัดซื้อ รถถัง Oplot บริษัท UKR SPECEXPORT และตัวแทนของไทย ได้ลงนามสัญญาเลขที่ 9/2011 USE-18.2-356-D/K-11 เมื่อช่วง ก.ย. 2554 รายการจัดซื้อรถถัง จำนวน 49 คัน และรถหุ้มเกาะ จำนวน 2 คัน รวมเป็นเงิน 242.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8 พันล้านบาท ตามสัญญาต้องส่งมอบเสร็จสิ้นภายในปี 2558 แต่พบว่า มีการส่งมอบจริงเมื่อปี 2561 และไม่มีการปรับอย่างใด
ขณะที่ ข้อมูลในข่าวจาก เว็บไซต์ https://uawire.org/ ที่เผยแพร่ในช่วงวันที่ 8 พ.ย. 2562 อ้างคำให้สัมภาษณ์ นายโวโลโดเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่ระบุว่าในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โรงงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่มีชื่อว่าโรงงานมาลีเชฟ (Malyshev Factory) สามารถผลิตรถถังให้กับกองกำลังป้องกันประเทศยูเครนได้ เพียงแค่ 1 คันเท่านั้น
แม้จะมีคำชี้แจงเบื้องต้น จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วว่า ในประเด็นการจัดซื้อรถถัง Oplot จากยูเครน ส่วนมากก็มีการผลิตที่ยูเครน แต่ก็มีเครื่องที่ไปผลิตที่ประเทศรัสเซีย พอมีปัญหาเขาทะเลาะกันภายใน เขาก็ทำเรื่องขอมาว่าจะปรับนิดได้หรือไม่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล แล้วก็เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งแล้ว"
แต่คำชี้แจงดังกล่าว ดูเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ว่า สุดท้ายแล้ว รถถัง Oplot ที่ไทยซื้อมาจากยูเครน ผลิตจากที่ไหน มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่า เป็นของผลิตใหม่ หรือเป็น รถถัง “เซียงกง” ที่มีการนำชิ้นส่วนอะไหล่เก่ามาประกอบขึ้นเป็นของใหม่ ที่เรียกว่าการ “Refurbish” ซึ่งการผลิตดังกล่าวใช้เวลานานมาก เพราะต้องหาชิ้นส่วนจากหลายประเทศ ตามข้อมูลอภิปรายของ นายศรัณย์วุฒิ หรือไม่
จึงนับเป็นเรื่องสำคัญ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะต้องตอบคำถาม แสดงข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เพิ่มเติม เพื่อให้สาธารณชนมีความเชื่อมั่น และเชื่อถือ
มากกว่า สิ่งที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ:
ขมวดปมรถถังยูเครน! ผลสอบจีทูจีเก๊-เส้นทางเงิน134บริษัท-คำตอบ'บิ๊กตู่' ยังไม่เคลียร์?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/