- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- ขมวดปมรถถังยูเครน! ผลสอบจีทูจีเก๊-เส้นทางเงิน134บริษัท-คำตอบ'บิ๊กตู่' ยังไม่เคลียร์?
ขมวดปมรถถังยูเครน! ผลสอบจีทูจีเก๊-เส้นทางเงิน134บริษัท-คำตอบ'บิ๊กตู่' ยังไม่เคลียร์?
"...ข้อเท็จจริงการจัดซื้อรถถังดังกล่าวระบุว่าเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) แต่พบวา ไม่ใช่จีทูจีจริง ซึ่งผลการสอบสวนชี้ว่า นาง อ. และ นาง น. เป็นผู้เจรจาก่อนทำสัญญาของฝั่งไทย ผ่าน บริษัท ดาต้าเกท จำกัด โดยมีคนกลางได้รับเงินไปกระจายผ่าน 134 บริษัท มีการจ่ายเงินให้ฝั่งไทย 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 พันล้านบาท และมีการจ่ายให้ฝั่งยูเครน 14.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการบริหารการจ่ายเงินทุกฝ่ายมี นาง อ. เป็นคนจัดการ หลังจากนั้นจึงลาออกจากการปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษฝั่งไทยในสถานทูตยูเครน โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของยูเครนได้ส่งเรื่องมากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทำการสอบสวน แต่ไม่ได้มีการสอบสวนแต่อย่างใด..."
ประเด็นตรวจสอบ การจัดซื้อรถถัง Oplot จากประเทศยูเครน ระหว่างปี 2557-2559 ที่ นายศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย นำมาเปิดเผยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา
มีข้อมูลสำคัญหลายส่วน ที่ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณชน
โดยเฉพาะข้อมูล นายศรัณวุฒิ กล่าวอ้างว่าขั้นตอนการเจรจาซื้อขาย ส่อว่าจะปัญหาความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งรูปแบบขั้นตอนการจัดซื้อ ที่ไม่ใช่วิธีการดำเนินการในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี จริง เพราะมีกลุ่มเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้อง และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนวงเงินนับพันล้านบาท กระจายผ่านบริษัทเอกชนกว่า 134 แห่ง
ส่วนหลักฐานสำคัญที่ นายศรัณวุฒิ นำมาใช้เป็นข้อมูลหลักในการอภิปรายเรื่องนี้ คือ ผลสอบสวนเป็นทางการของยูเครน ซึ่งส่งมาให้ทางการไทยแล้ว แต่เรื่องนี้ ถูกเก็บเงียบไว้จากผู้มีอำนาจ
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นตรวจสอบการจัดซื้อรถถัง Oplot จากประเทศยูเครน มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถอดข้อมูลคำอภิปรายของ นายศรัณวุฒิ มานำเสนอแบบชัดๆ ณ ที่นี้อีกครั้ง
นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ระบุว่า ช่วงปลายปี 2562-2563 ได้มีการสอบสวนกรณีโครงการจัดซื้อดังกล่าว ที่เมืองเคียฟ ประเทศยูเครน บริษัท UKR SPECEXPORT และตัวแทนของไทย ได้ลงนามสัญญาเลขที่ 9/2011 USE-18.2-356-D/K-11 เมื่อช่วง ก.ย. 2554 รายการจัดซื้อรถถัง จำนวน 49 คัน และรถหุ้มเกาะ จำนวน 2 คัน รวมเป็นเงิน 242.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8 พันล้านบาท ตามสัญญาต้องส่งมอบเสร็จสิ้นภายในปี 2558 แต่พบว่า มีการส่งมอบจริงเมื่อปี 2561 และไม่มีการปรับอย่างใด
นายศรัณย์วุฒิ ได้อ้างถึงเอกสารการสอบสวนของทางการยูเครน ระบุว่า ข้อเท็จจริงการจัดซื้อรถถังดังกล่าวระบุว่าเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) แต่พบว่า ไม่ใช่จีทูจีจริง ซึ่งผลการสอบสวนชี้ว่า นาง อ. และ นาง น. เป็นผู้เจรจาก่อนทำสัญญาของฝั่งไทย ผ่าน บริษัท ดาต้าเกท จำกัด โดยมีคนกลางได้รับเงินไปกระจายผ่าน 134 บริษัท มีการจ่ายเงินให้ฝั่งไทย 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 พันล้านบาท และมีการจ่ายให้ฝั่งยูเครน 14.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการบริหารการจ่ายเงินทุกฝ่ายมี นาง อ. เป็นคนจัดการ หลังจากนั้นจึงลาออกจากการปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษฝั่งไทยในสถานทูตยูเครน โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของยูเครนได้ส่งเรื่องมากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทำการสอบสวน แต่ไม่ได้มีการสอบสวนแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ นาง อ. และ นาง น. นั้น นายศรัณย์วุฒิ ได้กล่างอ้างว่า ผู้หญิงทั้ง 2 ราย นี้ อ้างว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ไปแฝงตัวอยู่ในสถานทูตจะด้วยตำแหน่งไม่ทราบ แต่การซื้ออาวุธโครงการนี้ จะต้องเป็นแบบ G TO G คือ รัฐบาลต่อรัฐบาล จะไม่มีลักษณะการแปลงร่างเข้าไปแบบนั้น
นายศรัณย์วุฒิ ยังกล่าวอ้างด้วยว่า นาง อ. เคยเปลี่ยนชื่อมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีวาระสำคัญอยู่เบื้องหลัง และยังขยายข้อมูล ไปถึงโครงการการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ โดยใช้คู่เทียบราคาจากบริษัทเดียวกัน คือ โรโซโบโรน เอ๊กซ์ปอร์ต กับ บริษัท Data Gate จึงได้ราคาแพงกว่าราคากลาง และราคาตลาด ส่วนต่างเยอะ พร้อมระบุข้อมูลว่า เรื่องนี้ ยังมีความเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้อง ในสถานะ แม่ยาย กับลูกเขยด้วย
นายศรัณย์วุฒิ ยังอ้างถึงเอกสารการสอบสวนของทางการยูเครน ที่ระบุว่า รถถังดังกล่าว เป็นรถถัง “เซียงกง” เป็นการนำชิ้นส่วนอะไหล่เก่ามาประกอบขึ้นเป็นของใหม่ เรียกว่าการ “Refurbish” ซึ่งการผลิตดังกล่าวใช้เวลานานมาก เพราะต้องหาชิ้นส่วนจากหลายประเทศ
นายศรัณย์วุฒิ ยังได้อ้างว่า ทางการยูเครนได้ทำการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย ฝั่งไทย คือ นาง อ , นาง น , นายทหารยศ พล.อ. และนายทหารยศ พล.ต. ฝั่งยูเครน คือ Perequdov Dmtro , Kojhevnikov Vadim , Radutsky , UKRPETS EXPORT , KHARXIV JALYSHEV และบริษัทจำนวน 134 แห่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลอภิปรายเรื่องการจัดซื้อรถถัง Oplot จากประเทศยูเครน ของนายศรัณย์วุฒิ สามารถนำมาสรุปเป็นอินโฟประกอบได้ดังนี้
อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาการจัดซื้อรถถัง Oplot จากยูเครนว่า "ที่ผ่านมานั้นเราไม่มีกฎหมายการจัดซื้ออาวุธโดยใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดหรือการเอาสินค้าไปแลกกับอาวุธเลย แต่ส่วนมากเป็นวิธีการว่าด้วยต่างตอบแทน เราไปซื้อสินค้าของเขา และเขาก็มาซื้อของเรา แต่มันก็ไม่ได้เท่าเทียมกันแต่อย่างใดเพราะมันเป็นเรื่องของเอกชนจะดำเนินการ"
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อว่า "เรื่องการเจรจาค้าขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีนั้นมันเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่เขาจะมีกติกากันอย่างไร อย่างการค้าขายกันกับประเทศจีนและรัสเซีย รัฐบาลจะเป็นผู้รับรองบริษัท แต่ของเรารัฐบาลต่อรัฐบาลจะเป็นผู้เซ็นสัญญา ซึ่งพอเราไปติดต่อจะซื้ออาวุธกับประเทศเขา เขาก็โยนให้บริษัทดำเนินการ"
“ช่วงที่ผ่านมา กรณีการส่งช้าหรือไม่ช้า เก่าหรือไม่เก่าก็ดูแล้วกัน ที่ผ่านมานั้นมีกรณีส่งช้านั้นเราต้องเข้าใจว่าเดิมนั้นเขาเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน ส่วนมากก็มีการผลิตที่ยูเครน แต่มันมีเครื่องที่ไปผลิตที่ประเทศรัสเซีย พอมีปัญหาเขาทะเลาะกันภายใน เขาก็ทำเรื่องขอมาว่าจะปรับนิดได้หรือไม่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล แล้วก็เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งแล้ว"
"การผมที่ไปเยือนครั้งที่แล้ว ผมไม่ได้ไปเยือนซื้อรถถัง แต่ไปเยือนยูเครน เพราะเขาเชิญมาเป็นทางการ ผมก็ไปเยี่ยมทหาร แล้วเขาก็พาไปดูรถถัง ก็ดูแล้วพิจารณาเพราะมันมีหลายบริษัทเสนอเข้ามา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมย้ำว่าไม่กลัวการตรวจสอบเรื่องนี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในการชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าว มิได้มีการระบุตอบคำถามในประเด็นเรื่องผลสอบสวนของทางการยูเครน ซึ่งส่งมาให้ไทย รวมไปถึงกรณี นาง อ. และ นาง น. ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ไปแฝงตัวอยู่ในสถานทูต และกรณีมีผู้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนวงเงินนับพันล้านบาท กระจายผ่านบริษัทเอกชนกว่า 134 แห่ง แต่อย่างใด?
นับเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อทำความจริงให้กระจ่างชัดต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/