มนุษย์ กับ ไวรัส
"...การระบาดของไวรัส โควิด-19 คือบทเรียนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกและเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าระบอบและความเชื่อที่มนุษย์พึ่งพามาอย่างยาวนานนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเก่าและยับยั้งปัญหาใหม่ให้กับมนุษย์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา สงครามกลางเมือง ความอดอยากหิวโหย ผู้ลี้ภัย โลกร้อน และโรคระบาด แม้ว่ามนุษย์จะบอกตัวเองเสมอว่ามนุษย์คือสัตว์โลกซึ่ง มีอารยะธรรม มีความเจริญรุ่งเรือง มีภูมิปัญญา และมีเทคโนโลยีที่ดีเลิศล้ำเพียงใดก็ตาม..."
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้ง่ายๆและได้แพร่กระจายไปทุกทวีปทั่วโลกแล้ว ภายใต้สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันหากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จในเร็ววัน อาจทำให้มนุษย์ในโลกนี้ติดเชื้อไวรัสต่อเนื่องไปอีกยาวนาน
ศาสตราจารย์ มาร์ก ลิพซิทซ์ (Marc Lipsitch) นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประมาณการว่า ในปีหน้าอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ราว 40 - 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกซึ่งจะเป็นจำนวนมากมายมหาศาลมากกว่าการติดเชื้อครั้งใดๆและมีความเป็นไปได้ที่ผู้รับเชื้ออาจมีการแสดงอาการอ่อนๆหรืออาจไม่มีอาการเลยก็ได้ เท่ากับว่าคนกว่าครึ่งโลกมีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อไวรัสนี้และอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อเมื่อใดก็ได้หากไม่มีการตรวจพบก่อนและมีการป้องกันอย่างรัดกุม (ข้อมูล 20 ก.พ. 2563)
หายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับมนุษย์ทั้งโลกได้พิสูจน์ให้เห็นว่าในโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นที่มีความซับซ้อนและน่ากลัวกว่าที่เราคิดมากนัก แม้ว่าไวรัสหลายต่อหลายชนิดจะมีการค้นพบยาต้านได้แล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีไวรัสชนิดอื่นที่อาจเป็นภัยต่อมนุษย์ก่อตัวขึ้นอีกหากมนุษย์ไม่หยุดทำลายระบบนิเวศน์ซึ่งเป็นที่อยู่ของไวรัสเหล่านั้น จนส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างใหญ่หลวงดังที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
มนุษย์มักหยิ่งทะนงในความมีปัญญาของตัวเองเพราะธรรมชาติได้มอบคุณสมบัติที่เป็นสัตว์สังคมมาให้ เช่น มีความรัก มีความเป็นเพื่อน มีความร่วมมือ และมีความสามารถในการเรียนรู้ ทำให้มนุษย์รู้จักการสร้างสิ่งดีงามให้กับโลกและสร้างความผาสุกให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีด้านมืดที่สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคม เช่น ความก้าวร้าว ความเกลียด ความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมัวเมาในอำนาจ ฯลฯ อยู่ในตัวมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ความฉลาด คือหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ ที่ใช้เอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์มาได้และมนุษย์ยังได้ใช้ความฉลาดในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ด้วยการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดของโลกอย่างไม่มีสัตว์สายพันธุ์ใดเทียบเท่าได้ มนุษย์จึงถือว่าเป็นนักทำลายโลกมากที่สุดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใด
จากรายงานของโกลบอล ฟุตพรินต์ เน็ตเวิร์ค (GFN) หรือ ‘เครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก’ กลุ่มวิจัยนานาชาติด้านความยั่งยืนระบุว่า ‘วันหนี้นิเวศ’ (Earth Overshoot Day) มาถึงเร็วขึ้นเมื่อปี 2019 โดยตรงกับวันที่ 29 ก.ค. 2562 ซึ่งหมายความว่ามนุษย์เราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ระบบนิเวศของโลกจะสามารถผลิตขึ้นมาใหม่ได้ในปี 2019 หมดแล้วภายในเวลาเพียงครึ่งปีและ ด้วยอัตราการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่รวดเร็วเช่นนี้ มนุษย์ จำเป็นต้องมีโลก 1.75 ใบจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์
ในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ซึ่งเริ่มออกฉายเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้วได้สะท้อนมุมมองของสายลับสมิทซึ่งเป็นมนุษย์ปัญญาประดิษฐ์จากโลกจำลองที่กล่าวถึงมนุษย์บนโลกเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาได้เปิดเผยถึงความลับของมนุษย์อีกด้านหนึ่งว่า “ มนุษย์นั้นไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวจริง เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์อื่นจะมีสัญชาตญาณในการสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติด้วยสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเอง แต่มนุษย์นั้นต่างออกไป เพราะมนุษย์จะคืบคลานไปสู่พื้นที่อื่นๆด้วยจำนวนที่ทวีคูณยิ่งขึ้น จนกว่าทรัพยากรในที่แห่งนั้นจะถูกสูบไปจนหมดสิ้นและวิธีเดียวที่จะทำให้พวกมนุษย์ดำรงอยู่ได้คือคืบคลานเข้าไปพื้นที่อื่น”
ประโยคที่สายลับสมิทได้กล่าวถึงต่อมาคือ ยังมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นบนโลกที่มีพฤติกรรมเหมือนกับมนุษย์ สิ่งมีชีวิตนั้น คือ ไวรัส และเขาเห็นว่ามนุษย์คือเชื้อโรคของโลกใบนี้และพวกเขาคือผู้ที่จะมาทำการรักษา
แม้ว่าคำพูดดังกล่าวจะเป็นคำพูดในบทภาพยนตร์ที่มนุษย์ปัญญาประดิษฐ์ ในโลกจำลองซึ่งถือว่าเป็นศัตรูได้กล่าวหามนุษย์บนโลกอย่างพวกเราตามบทที่ผู้สร้างภาพยนตร์เขียนขึ้นและเป็นคำพูดในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อเชิงคุกคามความคงอยู่ของมนุษย์ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังทำให้มนุษย์ต้องกลับมาทบทวนถึงการกระทำของตัวเองที่ผ่านมาต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ถูกมนุษย์กระทำแต่ฝ่ายเดียวเพื่อผลประโยชน์และความสะดวกสบายของมนุษย์เอง
พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่รู้จักคำว่าพอของมนุษย์และขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่รอดหรือตอบสนองต่อความอยากของมนุษย์นั้นจึงมีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของ ไวรัส ที่อยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ไม่มีผิด เพราะไวรัสจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ หรือพืช เพื่อเพิ่มจำนวนขึ้นและจะรุกรานเข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตเพื่อขยายจำนวน ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส สร้างความเสียหายและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆหากไม่มีสิ่งใดมายับยั้งซึ่งไม่ต่างจากพฤติกรรมการผลาญทรัพยากรของโลกด้วยน้ำมือมนุษย์แม้แต่น้อย
ภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ให้แง่คิดแก่มนุษย์ในหลายเรื่อง นอกจากจะมีการกล่าวหาว่ามนุษย์คือเชื้อโรคของโลกใบนี้แล้ว ในบทภาพยนตร์ยังกล่าวถึงการหยิบยื่นทางเลือกให้มนุษย์เพื่อให้พบกับความจริงอีกด้านของโลกที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักซึ่งเรียกกันว่า สังคมแห่งยาเม็ดสีแดงหรือทางเลือกที่จะกินยาเม็ดสีน้ำเงินซึ่งเป็นการใช้ชีวิตในแบบเดิมที่คุ้นเคย
การรุกรานของไวรัสสู่มนุษย์จนนำไปสู่การแพร่เชื้อต่อมนุษย์ด้วยกันจะไม่เกิดขึ้นเลยตราบใดที่มนุษย์ไม่ไปรุกรานและทำลายระบบนิเวศของสัตว์บางประเภทที่เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคต่างๆ โดยไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือบริโภคสัตว์ป่า เชื้อโรคทั้งหลายก็ไม่สามารถแพร่มาถึงคนได้โดยง่าย ดังนั้นสัตว์จึงไม่ควรถูกโยนบาปว่าเป็นผู้ร้าย แต่ผู้ร้ายตัวจริงควรเป็นมนุษย์เดินดินที่ชอบเรียกตัวเองว่าสัตว์ประเสริฐนั่นเอง
มนุษย์เคยบรรเทาความหิวด้วยการกินเพื่อยังชีพ แต่มนุษย์จำนวนไม่น้อยมักสรรหาการกินที่เกินกว่าความอิ่ม ซึ่งเป็นการกินเพื่อการรับรู้รส เพื่อความบันเทิงหรือสนองความอยาก ความแปลกและความเชื่อ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดมหาเศรษฐีบางคนจึงลากสังขารไปนั่งเปิบพิสดารเมนูเสือดำอยู่กลางป่าหรือเจ้าสัวบางคนต้องสั่งอาหารแปลกและหายากจากภัตตาคารในฮ่องกงมาเสิร์ฟเป็นอาหารมื้อเย็นอวดเพื่อนฝูงอย่างภาคภูมิใจแลกกับค่าเครื่องบินนับหมื่นบาทและชีวิตสัตว์อีกจำนวนหนึ่งเพื่อสนองความอยากเพียงอาหารแค่มื้อเดียว พฤติกรรมอันละโมบและแปลกพิสดารของมนุษย์จึงนำไปสู่ความวุ่นวายของโลกด้วยน้ำมือของมนุษย์เองแท้ๆ
ความไม่รู้จักพอของมนุษย์เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปและถ้ามนุษย์ไม่สามารถหักห้ามความอยากของตนเองลงได้ มนุษย์จะต้องยืนอยู่บนความเสี่ยงที่จะต้องรับผลจากธรรมชาติที่กำลังเอาคืนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ครั้งหนึ่งมหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ได้เคยกล่าวประโยคที่ทำให้คนทั้งโลกต้องระลึกถึงเสมอเมื่อพูดถึงความโลภของมนุษย์ว่า “โลกนี้ที่มีอยู่มีทรัพยากรเพียงพอต่อความจำเป็นของทุกคน แต่จะไม่เพียงพอสำหรับทุกคนที่มีความโลภ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เป็นความจริงมาจนถึงทุกวันนี้ ความโลภจึงเป็นเหมือนบาปประเภทหนึ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับมนุษย์ และคราบใดที่มนุษย์ไม่สามารถขจัดบาปนี้ออกไปได้ มนุษย์ก็จะตกอยู่ในวังวนของปัญหาซ้ำซากอย่างไม่รู้จบ
ไวรัสโควิด -19 ที่กำลังระบาดไปทุกทวีปกลายเป็นวาระของโลก เพราะเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าโคโรน่าไวรัสที่เกิดขึ้นในอดีตถึงสองเท่าและถ้าการประเมินของ ศาตราจารย์ มาร์ก ลิพซิทซ์ เป็นความจริง โลกนี้จะเกิดความโกลาหลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากการติดเชื้อของคนนับล้านๆคน
การระบาดของไวรัส โควิด-19 คือบทเรียนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกและเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าระบอบและความเชื่อที่มนุษย์พึ่งพามาอย่างยาวนานนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเก่าและยับยั้งปัญหาใหม่ให้กับมนุษย์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา สงครามกลางเมือง ความอดอยากหิวโหย ผู้ลี้ภัย โลกร้อน และโรคระบาด แม้ว่ามนุษย์จะบอกตัวเองเสมอว่ามนุษย์คือสัตว์โลกซึ่ง มีอารยะธรรม มีความเจริญรุ่งเรือง มีภูมิปัญญา และมีเทคโนโลยีที่ดีเลิศล้ำเพียงใดก็ตาม
อ้างอิงจาก :
1. https://www.theatlantic.com
2. The Blueprint โดย Nicholas A. Christakis
3. https://thestandard.co/earth-overshoot-day/
4. https://www.thairath.co.th/scoop/1760271
6. http://quotegeek.com/quotes-from-movies/the-matrix/1269/
7. https://www.goodreads.com/quotes/427443-the-world-has-enough-for-everyone-s-need-but-not-enough
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://imageevent.com