ถอดบทเรียนฟินแลนด์กรณี‘สินบนข้ามชาติ’ โทษต่ำแต่คนทำผิดน้อย-สวนทางไทย?
“...เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในฟินแลนด์กระทำความผิดฐานการให้รับสินบนน้อย แม้อัตราโทษอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับไทย ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย มาตรา 149 ที่เกี่ยวกับการเรียกรับสินบน ต้องระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต แต่มีความผิดเกี่ยวกับบุคคลเรียกรับ หรือให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์สูงถึง 35 คดีในปี พ.ศ. 2560 (ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. 2560) สะท้อนให้เห็นว่า อัตราโทษอาจไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจกระทำความผิดในการให้หรือรับสินบน…”
ประเด็นเรื่องการทุจริตติดสินบนข้ามชาติ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย โดยขณะนี้มีคดีเกี่ยวกับการติดสินบนข้ามชาติในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายสำนวน เช่น คดีบริษัท โรลส์รอยซ์ฯ ติดสินบนเจ้าหน้าที่ทางการไทยให้จัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่โรลส์รอยซ์ใช้ในการบินไทย วงเงินหลายพันล้านบาท คดีโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและผลิตปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย (ปาล์มอินโดฯ) ที่มีการกล่าวหาว่ามีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริง คดีข้าราชการระดับสูงของไทยร่วมกับบริษัทเอกชนเรียกรับเงินสินบน 20 ล้านบาทจากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด (MHPS) โดย ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว เป็นต้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ วารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 เผยแพร่บทความวิชาการเกี่ยวกับกรณีการต่อต้านติดสินบนข้ามชาติ โดยยกตัวอย่างในสาธารณรัฐฟินแลนด์ เขียนโดย น.ส.ฉันท์ชนก เจนณรงค์ นักวิจัยสังคมศาสตร์ ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์ สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เล็งเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ-น่าศึกษา จึงสรุปรายละเอียดสำคัญให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
สำหรับประเทศฟินแลนด์ นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ประเทศฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับอยู่ 1 ใน 3 ประเทศแรกที่มีความโปร่งใสมากที่สุด และได้รับคะแนน CPI เฉลี่ย 93 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) จึงนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาการทุจริตน้อยที่สุดในโลก
แต่ในอดีตประเทศฟินแลนด์เป็นสังคมที่มีการทุจริตเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่ต่อมาเมื่อมีกลุ่มนักคิดและนักวิชาการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปฏิวัติทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีอยู่ทั่วไปในยุโรป มีการวางระบบรัฐสภา และการปกครองที่กระจายอำนาจสู่ประชาชนควบคู่กับการปฏิรูประบบการศึกษาและสวัสดิการสังคม ทำให้ประเทศฟินแลนด์มีวัฒนธรรมและค่านิยมต่อต้านการทุจริตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ค่านิยมของสังคมจึงเน้นการดำรงชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ และรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม
@ยกฟินแลนด์ภาครัฐโปร่งใส แต่ยังมีปัญหาเรื่องสินบนข้ามชาติ
อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เป็นผลมาจากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติคือ การติดสินบนข้ามชาติ (Transnational Bribery) ซึ่งในฟินแลนด์แม้จะเป็ฯประเทศที่มีความโปร่งใสในการดำเนินการของภาครัฐ แต่ยังคงประสบปัญหาการติดสินบนจากการประกอบธุรกิจข้ามชาติเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้รับการทำสัญญากับภาครัฐ โดยเรื่องกล่าวหามาจากช่องทางต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แจ้งเบาะแส เป็นต้น หากแต่การดำเนินคดีการติดสินบนข้ามชาติด้วยภายในประเทศอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ดังนั้นการมีกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการติดสินบนข้ามชาติจึงมีความสำคัญที่จะสามารถทำให้การดำเนินคดีกับผู้ให้และผู้รับสินบนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันฟินแลนด์ได้เป็นรัฐภาคีและปฏิบัติตาบทบัญญัติของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายในการต่อต้านการให้สินบนข้ามชาติ ดังเช่น อนุสัญญาขององค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ. 1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ (OECD) เพื่อให้การดำเนินคดีการติดสินบนข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ทำตามอนุสัญญา OECD แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาครอบคลุมคดีสินบนข้ามชาติ
สำหรับอนุสัญญา OECD เกิดขึ้นจากสภาองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจมีข้อเสนอแนะฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ค.ศ. 1997 เพื่อให้มีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยฟินแลนด์เป็นสมาชิกของ OECD ตั้งแต่ 28 ม.ค. ค.ศ. 1969 อยู่แล้ว จึงต้องมีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ OECD
กรณีของประเทศฟินแลนด์ มีการบัญญัติความผิดในประเด็นการติดสินบนให้เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาของฟินแลนด์ โดยกำหนดให้ความผิดฐานการให้และรับสินบน มีโทษปรับและจำคุกสูงสุด 4 ปี ทั้งในส่วนของผู้ให้และผู้รับ รวมถึงยังได้รับการตรวจสอบตามกระบวนการ ‘Peer Review’ ซึ่งเป็นการดำเนินการในระดับของคณะกรรมการในรูปแบบ Working Group on Bribery
ทั้งนี้ในส่วนเกี่ยวข้องกับบทลงโทษในคดีติดสินบนข้ามชาติ ฟินแลนด์ได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ให้ครอบคลุมการดำเนินคดีการติดสินบนข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดนิยาม ‘เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ’ เพื่อให้การกระทำผิดฐานการติดสินบนที่มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในทุกกรณีได้รับโทษเช่นเดียวกัน และการกำหนดให้มีความแตกต่างระหว่างคดีติดสินบน และการติดสินบนขั้นรุนแรง โดยใช้มูลค่าการจ่ายสินบนเป็นปัจจัยกำหนด เป็นต้น รวมถึงต้องมีการรายงานเกี่ยวกับจำนวนข้อกล่าวหาในกรณีการติดสินบนข้ามชาติและความคืบหน้าในการดำเนินคดี
(ผลคะแนน CPI ปี 2019 จากการจัดอันดับของ TI พบว่าฟินแลนด์ได้ 86 คะแนนอยู่ลำดับ 3 ของโลก)
@กฎหมายความผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย จนท.รัฐรับสินบนคุกสูงสุด 4 ปี-คนให้โดนด้วย
นอกเหนือจากประเด็นการติดสินบนข้ามชาติแล้ว ประเทศฟินแลนด์ยังมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาฟินแลนด์ว่า ผู้ใดที่ให้สัญญา ข้อเสนอ หรือให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป หรือการลงประชามติ หรือผู้ใดที่เรียกร้องผลประโยชน์อื่นใดเพื่อแลกกับการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งหรือการลงประชามติ จะมีความผิดฐานการติดสินบนในการเลือกตั้ง (Electoral Bribery) โดยต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เช่น ผู้ให้สัญญา ข้อเสนอ หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐแลกเปลี่ยนกับการให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเพื่อเข้าไปมีอิทธิพลต่อการให้บริการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ มีความผิดฐานการให้สินบน ต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ส่วนผู้ให้สัญญา ข้อเสนอ หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจมิชอบ อันเป็นผลให้ผู้จ่ายสินบนได้รับประโยชน์จำนวนมาก มีความผิดฐานให้สินบนขั้นรุนแรง ต้องได้รับโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 4 เดือน แต่ไม่เกิน 4 ปี เป็นต้น
@ตั้งแต่ ค.ศ. 1999 มีคดีสินบนข้ามชาติแค่ 11 คดี ลงโทษจำเลยได้ 1 คดี
ตัวอย่างคดีที่น่าสนใจในการดำเนินคดีสินบนข้ามชาติในประเทศฟินแลนด์ โดยนับตั้งแต่มีการบังคับใช้การลงโทษการติดสินบนข้ามชาติ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 มีข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับสินบนข้ามชาติรวม 11 ข้อกล่าวหา โดยมีการสอบสวนที่มีมูลความผิด 8 คดี นำไปไปสู่การฟ้องร้องและลงโทษ 6 คดี แบ่งเป็นคดีเกี่ยวกับสินบนข้ามชาติ 5 คดี คดีเกี่ยวกับภาษี 1 คดี ส่วนที่เหลืออีก 3 คดี ยังมิได้ดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นการรักษาความลับและยังมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับคดีน้อยมาก โดยผลการพิพากษาคดีการติดสินบนข้ามชาติ 5 คดีนั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยพ้นผิด 4 คดี และพิพากษาลงโทษจำเลย 1 คดี
@ตัวอย่างศาลสั่งปรับ-คุกให้สินบน 1.3 ล้านยูโร จนท.รัฐวิสาหกิจซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารอียิปต์
ตัวอย่างคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ได้แก่ รัฐวิสาหกิจของฟินแลนด์ ถูกกล่าวหาว่าจ่ายสินบน 1.3 ล้านยูโรให้แก่เจ้าหน้าที่ในรัฐวิสาหกิจ เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ทางทหารของอียิปต์เพื่อให้ได้รับสัญญาการจำหน่ายปืนใหญ่ ในปี ค.ศ. 1999-2006 โดยได้รับข้อมูลการกระทำความผิดจากผู้แจ้งเบาะแสและตำรวจสากล (Interpol) โดยปี ค.ศ. 2007 ได้เริ่มดำเนินการสอบสวนในการสืบค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน และการสอบพยานผู้เชี่ยวชาญและผู้ต้องสงสัย ต่อมาในปี ค.ศ. 2010 ศาลดำเนินคดีการรับสินบนกับรัฐวิสาหกิจของอียิปต์ และผู้บริหารระดับสูง 5 คน และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจของอียิปต์ 7 คน ในข้อหาปลอมแปลงบัญชี ลงโทษปรับ 100,000 ยูโร และจำคุกโดยไม่มีเงื่อนไข
ต่อมาจำเลย (รัฐวิสาหกิจอียิปต์) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ได้ทบทวนคำพิพากษาประมวลกฎหมายอาญา และอนุสัญญาระหว่างประเทศ ได้ข้อสรุปว่า รัฐวิสาหกิจอียิปต์มีความผิดกรณีการทำบัญชีเท็จและการติดสินบนต่างประเทศ เนื่องจากจำเลยอยู่ในฐานะของผู้มีอำนาจตัดสินใจในการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรของรัฐต่างประเทศ ตรงกับนิยามของ ‘เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ’ ตามประมวลกฎหมายอาญาของฟินแลนด์
อย่างไรก็ดีการตรวจสอบติดตามของคณะกรรมการ Working Group on Bribery ในปี ค.ศ. 2017 ตั้งข้อสังเกตว่า ฟินแลนด์มีอัตราการพิพากษาคดีให้จำเลยพ้นผิดสูง จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการตีความและการประยุกต์ใช้ประมวลกฎหมายอาญาของศาล โดยมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวกับคดีติดสินบนข้ามชาติ และมีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้ และบทลงโทษในคดีการติดสินบนข้ามชาติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีการติดสินบนข้ามชาติเพื่อให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
@บทสรุปไทยมีบทลงโทษแรงกว่าแต่คดีพุ่งสูงกว่า ปัจจัยจากเงินเดือน ขรก.-มาตรการป้องทุจริต
โดยสรุปกรณีการติดสินบนข้ามชาติในฟินแลนด์ ผู้กระทำความผิดฐานติดสินบนทั้งผู้ให้และผู้รับต้องได้รับโทษ กรณีไม่รุนแรงโทษปรับหรือจำคุกไม่กิน 2 ปี ส่วนการติดสินบนขั้นรุนรแงโทษปรับหรือจำคุกไม่น้อยกว่า 4 เดือน แต่ไม่เกิน 4 ปี และในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีพันธะในการปฏิบัติตาม OECD ฟินแลนด์มีคดีการติดสินบนข้ามชาติเพียง 11 คดี
เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในฟินแลนด์กระทำความผิดฐานการให้รับสินบนน้อย แม้อัตราโทษอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับไทย ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย มาตรา 149 ที่เกี่ยวกับการเรียกรับสินบน ต้องระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต แต่มีความผิดเกี่ยวกับบุคคลเรียกรับ หรือให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์สูงถึง 35 คดีในปี พ.ศ. 2560 (ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. 2560)
สะท้อนให้เห็นว่า อัตราโทษอาจไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจกระทำความผิดในการให้หรือรับสินบน
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์มีอัตราความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนน้อย อาจเนื่องมาจากฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการป้องกันการทุจริต ลดแรงจูงใจของข้าราชการในการรับสินบนหรือประพฤติมิชอบ โดยข้าราชการของฟินแลนด์ถือเป็นอาชีพที่ได้รับความนับถืออย่างสูงในสังคม เงินเดือนของข้าราชการถูกตั้งไว้สูงกว่าภาคเอกชนเพียงเล็กน้อย แต่มีความมั่นคงของของอาชีพเป็นข้อได้เปรียบ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐดำรงชีพได้จากเงินเดือน และไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียกรับสินบน รวมถึงฟินแลนด์มีการส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้รับและปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์ผ่านการศึกษา ประชาชนจึงมีค่านิยมความซื่อสัตย์และไม่ให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
อ้างอิงข้อมูลจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/11v2/article_t6.pdf
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/